กรมอนามัย อบรมผู้นำออกกำลังกาย “เก้าอี้..ขยี้พุง” ช่วยสอนประชาชนออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ชี้ เป็นแอโรบิกบนเก้าอี้ เหมาะสมสำหรับผู้มีปัญหาเข่าเสื่อม น้ำหนักตัวมาก ทำได้ในพื้นที่จำกัด
วันนี้ (25 ก.พ.) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้นำออกกำลังกาย เก้าอี้..ขยี้พุง รุ่นที่ 1 ประจำปี 2559 ภายใต้โครงการ “ลดโรค..เพิ่มสุขกับนวัตกรรมออกกำลังกาย เก้าอี้..ขยี้พุง” ว่า เก้าอี้...ขยี้พุง เป็นรูปแบบการออกกำลังกายแบบแอโรบิกบนเก้าอี้ เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาเข่าเสื่อม ผู้สูงอายุผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก และบุคคลทั่วไป สามารถกระทำได้ในพื้นที่จำกัด ทั้งในบริเวณโต๊ะทำงานห้องประชุม หน้าทีวี ห้องนั่งเล่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น หรือที่ใด ๆ ที่มีอากาศบริสุทธิ์ โดยมีอุปกรณ์ คือ เก้าอี้ที่แข็งแรงมั่นคงที่สามารถรองรับน้ำหนักตัว ได้ดีเพียงตัวเดียว ซึ่งการฝึก “เก้าอี้...ขยี้พุง” คล้ายกับการวิ่ง และการเต้นแอโรบิคเริ่มจากกล้ามเนื้อขาและท้องแข็งแรง กระชับสวยงาม ช่วยเผาผลาญไขมัน แก้ปัญหาบุคลิกภาพ รูปร่าง และทรวดทรงช่วยให้การประสานสัมพันธ์ของระบบประสาทและกล้ามเนื้อดีขึ้น การทรงตัวดีขึ้น หัวใจปอดและหลอดเลือดทำงานได้นานและสมบูรณ์ขึ้นลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดลดความดันโลหิตสูง ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดโรคอ้วน ลดความเครียด ลดภาวะซึมเศร้า ชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ ช่วยชะลอความชราและอื่น ๆ อีกมากมาย
นพ.ดนัย กล่าวว่า กรมอนามัย โดยกองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ได้จัดทำโครงการ “ลดโรค...เพิ่มสุข กับนวัตกรรมออกกำลังกาย เก้าอี้...ขยี้พุง” ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยทุกกลุ่มวัยมีทางเลือกในการออกกำลังกายตามวิถีชีวิตแบบประยุกต์ที่ง่าย สะดวก และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข ให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำฝึกทักษะออกกำลังกายเก้าอี้...ขยี้พุง เพื่อให้เกิดจังหวัดต้นแบบลดโรค...เพิ่มสุข ด้วยนวัตกรรมออกกำลังกายเก้าอี้...ขยี้พุง จำนวนอย่างน้อย 1 จังหวัด โรงพยาบาลต้นแบบลดโรค...เพิ่มสุข จำนวนอย่างน้อย 20 โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต้นแบบลดโรค...เพิ่มสุข อย่างน้อย 20 จังหวัด และศูนย์อนามัยต้นแบบลดโรค...เพิ่มสุข จำนวนอย่างน้อย 7 ศูนย์และขยายผลสู่ภาคีเครือข่ายอื่น ๆ
ทั้งนี้ สำหรับในปี 2560 จะขับเคลื่อน “จังหวัดลดโรค...เพิ่มสุขกับนวัตกรรมออกกำลังกาย เก้าอี้...ขยี้พุง” โดย 1. ขับเคลื่อนให้เกิดชมรมเก้าอี้...ขยี้พุง อย่างน้อยโรงพยาบาลละ 1 ชมรม ครอบคลุมทั้งจังหวัดและส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายเก้าอี้...ขยี้พุง แต่ละชมรมอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 30 นาที/วัน อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ ร่วมกับการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ โดยมี อสม. และบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นแกนนำในการรวมพลังและดำเนินงานร่วมกับประชาชน องค์กรท้องถิ่นและโรงเรียน ดูแลพื้นที่ตนเอง เป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งของชุมชนในการส่งเสริมการเกาะติดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
2. ผลักดันให้โครงการลดโรค...เพิ่มสุข กับนวัตกรรมออกกำลังกาย เก้าอี้...ขยี้พุง ได้รับการบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ของจังหวัดและแผนชุมชน รวมทั้งให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง 3. รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ออกกำลังกายเก้าอี้...ขยี้พุง อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทั้งในระดับจังหวัดและพื้นที่ โดยเน้นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ในการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ที่ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงง่าย 4. ควบคุมคุณภาพแกนนำ และผู้นำออกกำลังกาย เก้าอี้...ขยี้พุง ให้ได้คุณภาพตลอดไป โดยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุข และขยายผลไปยัง อสม. อย. น้อย และแกนนำชุมชนให้มีความรู้ และทักษะในการออกกำลังกาย เก้าอี้...ขยี้พุง 5. จัดให้มีการจัดการความรู้และประกวดผลงานจังหวัดที่มีร้อยละของ ชมรม เก้าอี้...ขยี้พุง มากที่สุด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่