xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของ สสส. มีความเป็นกลางและมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย (Business analytics and research)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติอนุมัติให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 7 คน ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเสนอ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2558 เป็นต้นไป ดังนี้

1.รองศาสตราจารย์วราภรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการ
2.รองศาสตราจารย์ปาริชาติ วลัยเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินผล
3.รองศาสตราจารย์นภาภรณ์ หะวานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินผล
4.นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
5.นางเพชรศรี ศิรินิรันดร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
6.ศาสตราจารย์วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน
7.นายมนัส แจ่มเวหา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน

ดูรายละเอียดได้จาก www.isranews.org/isranews-news/item/42212-krmmmd111.html

ผมได้สืบค้นข้อมูลและตั้งข้อสังเกตบางประการดังนี้

รองศาสตราจารย์วราภรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการ ไม่มีความเป็นกลาง เนื่องจากมีธงสนับสนุน สสส. และการใช้ Earmarked tax มาอยู่ก่อนแล้ว ในบทความ อย่ามัดมือตัวเองโดยห้าม Earmarked Tax ดังรายละเอียดใน www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000087602 , www.hfocus.org/content/2015/08/10566

รองศาสตราจารย์ปาริชาติ วลัยเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินผล น่าจะมี potential conflict of interest สูงมาก เนื่องจากได้รับทุนวิจัยจาก สสส ต่อเนื่องมายาวนาน และเป็น กรรมการคณะ1 ปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) (2554-2556)

- ปาริชาติ วลัยเสถียร และคณะ. กระบวนการและเทคนิคการทำงานของนักพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กรุงเทพฯ 2543. แก้ไขปรับปรุง พิมพ์ ครั้งที่ 4-2552.
- พระมหาสุทิตย์ อบอุ่น (เรียบเรียง) ปาริชาติ วลัยเสถียร (บรรณาธิการ). เครือข่าย : ธรรมชาติ ความรู้และการจัดการ. โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) กรุงเทพฯ 2547.
- พระมหาสุทิตย์ อบอุ่น (เรียบเรียง) ปาริชาติ วลัยเสถียร (บรรณาธิการ).นวัตกรรมการเรียนรู้ : คน ชุมชน และการพัฒนา. โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) กรุงเทพฯ 2548.
- สิริลักษณ์ ยิ้มประสาทพร (เรียบเรียง) ปาริชาติ วลัยเสถียร (บรรณาธิการ). กระบวนทัศน์ใหม่กับการเรียนรู้ของชุมชน. โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) กรุงเทพฯ 2548.
- ปาริชาติ วลัยเสถียร. รายงานการวิจัย กระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้ของชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2549.
- ปาริชาติ วลัยเสถียร และคณะ. รายงานการประเมินผล โครงการสร้างเสริมเครือข่ายสุขภาพจังหวัด เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2545, 2456, 2547, 2549.
- ปาริชาติ วลัยเสถียร (นักวิจัยร่วม). การประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2555.
- ปาริชาติ วลัยเสถียร (นักวิจัยร่วม). การประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2555.

รองศาสตราจารย์นภาภรณ์ หะวานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินผล น่าจะมี conflict of interest อยู่บ้าง เนื่องจากเคยได้รับเคยร่วมจัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเรื่อง ข้อเสนอการปฏิรูปเรือนจำผู้ต้องขังหญิง: ความจริงกับจินตนาการ ซึ่งจัดโดยสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ และสนับสนุนโดย สสส รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ยังเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการประเมินผลกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพประจำปี 2557

นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสร้างเสริมสุขภาพ มี Conflict of interest สูงมาก เนื่องจากดำรงตำแหน่ง (1) กรรมการกองทุน สสส. (2) กรรมการ ของ สวรส. (3) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบอร์ด กองทุน สสส. (4) ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช ได้รับเงินทุนวิจัยในโครงการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ปี 2548-2551 (3 ปี) จำนวน 90,000,000 ล้านบาทจาก สสส. ผ่านสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข มีข้อสังเกตว่า นพ.วิจารณ์ พานิช ดำรงตำแหน่งกรรมการกองทุนสสส. และเป็นกรรมการ ของ สวรส. ด้วย เช่นเดียวกับ นพสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ดำรงตำแหน่งกรรมการกองทุนสสส และเป็นกรรมการ ของ สวรส. ส่วน นพ.บัณฑิต ศรไพศาล เป็น ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุราจัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2547 โดยเป็นองค์กรภายใต้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.บัณฑิต ศรไพศาล เป็น ผอ.ศูนย์วิจัยในช่วงแรก

นอกจากนี้นายกิตติศักดิ์ สินธุวณิช ยังได้รับเงินทุนจาก สสส ใน โครงการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ปีที่ 2 ในปี 2549 จำนวน 10,000,000 บาท ในนามมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งมี conflict of interest ชัดเจนกล่าวคือเป็นกรรมการกองทุน สสส แต่อนุมัติเงินทุนให้มูลนิธิที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (ปี 2531 – 2552) โดยนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขานุการมูลนิธิขณะนั้น

ทั้งนี้ หลักแนวปฏิบัติของนักประเมินโดยสมาคมนักประเมินอเมริกัน (American Evaluator Association Guiding Principles for Evaluators) โปรดศึกษาเพิ่มเติมได้จาก www.eval.org/p/cm/ld/fid=51

หมวด C: การยึดถือหลักคุณธรรม/ความซื่อสัตย์ (Integrity/Honesty) ว่า ผู้ประเมินต้องยึดถือหลักคุณธรรมและความซื่อสัตย์ในพฤติกรรมของตนและพยายามทำให้มั่นใจได้ว่ามีการยึดถือหลักคุณธรรม/ความซื่อสัตย์ในกระบวนการประเมินตลอดทุกขั้นตอน และข้อ 2 ในหมวด C ได้ระบุว่า

ก่อนที่จะตอบรับการทำงานประเมินใดๆ ก็ตาม ผู้ประเมินต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทหรือความสัมพันธ์ใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of interest) หรือแม้แต่สิ่งใดก็ตามใกล้เคียงที่ปรากฎว่าน่าจะก่อให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในบทบาทของผู้ประเมินใดๆ ก็ตาม หากว่าผู้ประเมินยังต้องการทำงานประเมินชิ้นนั้นๆ แม้ว่าตนเองยังคงมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์อยู่ ต้องเขียนระบุการขัดกันแห่งผลประโยชน์ทุกประการอย่างชัดเจนในรายงานผลการประเมินชิ้นนั้นๆ


ธนาคารโลก, International Finance Corporation (IFC) และ The Multilateral Investment Guarantee Agency (MIGA) ก็กำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดการการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ประเมินอิสระ (Guidelines to Manage Conflicts of Interest in Independent) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากhttp://ieg.worldbank.org/Data/ieg_coi_8_15_14.pdf ซึ่งได้ระบุไว้ว่า

1. ทุกคนในหน่วยงานถูกคาดหวังว่าจะต้องรับรู้ ระวังและจัดการการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างเหมาะสมและที่ปรึกษาทุกคนที่ได้รับการว่าจ้างก็ต้องมีความเข้าใจคุ้นเคยกับแนวทางปฏิบัติในการจัดการการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ประเมินอิสระนี้ และพนักงานต้องตรวจสอบเสมอว่าที่ปรึกษาได้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าว
2. พนักงานและที่ปรึกษาทุกคนมีภาระหน้าที่ในการเปิดเผยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงและที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดต่อหัวหน้าหน่วยงาน
3. ในการจัดการการขัดกันแห่งผลประโยชน์ใดๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากพนักงาน ที่ปรึกษา หรือผู้มีส่วนได้เสียภายนอกก็ตาม หัวหน้าหน่วยงานมีความรับผิดชอบในการทบทวน ประเมินความสำคัญของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และบรรเทาให้การขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้นลดลงไปหรือหมดไปอย่างเหมาะสม แจ้งให้พนักงานหรือที่ปรึกษาทราบว่าจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะจัดการเช่นไร และบันทึกกรณีการขัดกันแห่งผลประโยชน์และผลของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อข้อมูลและผลการประเมิน
4. หัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้างานต้องเป็นแบบอย่างด้านการยึดถือหลักคุณธรรม ส่งเสริมในเกิดวัฒนธรรมในการทำงานที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่ามีการจัดการการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ส่งเสริมให้มีการสนทนาตามปกติอย่างสม่ำเสมอให้เกิดการตระหนักรู้ว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์มีความสำคัญและรู้วิธีการจัดการ ให้แนวทางที่มีประสิทธิภาพและเท่าทันเวลาในการแก้ไขปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ควบคุมและบังคับใช้แนวทางปฏิบัติในการจัดการการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอและเท่าเทียม ตัดสินในการประเมินผลงานโดยพิจารณาสังเกตตามความเป็นจริงโดยไม่สนใจแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอก
5. สำหรับผู้บริหารระดับสูงต้องหลีกเลี่ยงและระวังการขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง


ธนาคารโลก, International Finance Corporation (IFC) และ The Multilateral Investment Guarantee Agency (MIGA) เสนอมาตรการในการบรรเทาการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดย

1. ระบุการขัดกันแห่งประโยชน์ให้ชัดเจน ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ถอนตัวออกมาจากการใดๆ ก็ตามที่จะเกี่ยวข้องกับการประเมิน หรืออย่างน้อยลดความเกี่ยวข้องให้ชัดเจนในทุกเงื่อนไขให้ชัดเจน
2. ต้องมีการถอนตัวในทันทีในกรณีที่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในกรณีต่อไปนี้
2.1 การประเมินใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม นโยบาย กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่กรรมการหรือผู้ประเมินหรือที่ปรึกษาหรือแม้กระทั่งญาติสนิทมีความเกี่ยวข้องกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างมีสาระสำคัญ
2.3 การประเมินใดๆ ที่กรรมการหรือผู้ประเมินหรือที่ปรึกษาหรือแม้กระทั่งญาติสนิทได้เคยทำงานหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่มีสาระสำคัญ มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเงิน การอนุมัติใดๆ หรือมีอิทธิพลส่วนตัวใดๆ ก็ตาม
2.4 การประเมินใดๆ ที่ผู้ประเมิน มีแนวโน้มจะเกี่ยวข้องกับการทำงานในอนาคตของพนักงานหรือที่ปรึกษาหรือญาติสนิทที่เกี่ยวข้อง
3. ลดความเกี่ยวข้องในการประเมินให้เหมาสม เช่น 3.1 กรณีที่อาจจะก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นปรนัยหรือสาระสำคัญของการประเมิน 3.2 การประเมินหลายโครงการที่ต่างมีความเกี่ยวข้องกันกับโครงการอื่นๆ ที่ต้องประเมิน 3. การประเมินโครงการใดๆ หรือหน่วยงานใดๆ ที่ผู้ประเมินเคยสมัครหรือรับทุน
4. ผู้ที่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์อาจจะเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) แต่การให้ข้อมูลดังกล่าต้องไม่มีผลกระทบต่อการประเมินหรือทีมงานผู้ประเมินโดยเด็ดขาด
5. การขัดกันแห่งผลประโยชน์ใดๆ หากยังคงมีอยู่ต้องได้รับการตรวจสอบ และเปิดเผยการขัดกันแห่งผลประโยชน์เหล่านั้นอย่างเปิดเผยและโปร่งใสในการประเมินนั้น


สำหรับประเทศไทยนั้น สสส. เป็นองค์กรอิสระของรัฐดังนั้นยังอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ 2539

คณะกรรมการประเมินผล สสส ชุดนี้บางคน มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งผิดกฎหมายมาตรา 13 และมาตรา 16 ประกอบกัน โดยประธานกรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ มีเหตุให้ต้องสงสัยว่าจะไม่เป็นผู้ประเมินที่เป็นกลาง ตามมาตรา 16

มาตรา 13 เจ้าหน้าที่ ดังต่อไปนี้จะทําการพิจารณาทางปกครองไม่ได้
(1) เป็นคู่กรณีเอง
(2) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
(3) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียง ภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
(5) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
(6) กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 16 ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอํานาจพิจารณาทางปกครอง ซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทําให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทําการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ดําเนินการดังนี้
(1) ถ้าผู้นั้นเห็นเองว่าตนมีกรณีดังกล่าว ให้ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อนและแจงให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งหรือประธานกรรมการทราบ แล้วแต่กรณี
(2) ถ้ามีคู่กรณีคัดค้านว่าผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว หากผู้นั้นเห็นว่าตนไม่มีเหตุตามที่คัดค้านนั้น ผู้นั้นจะทําการพิจารณาเรื่องต่อไปก็ได้แต่ต้องแจงให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งหรือประธานกรรมการทราบ แล้วแต่กรณี
(3) ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือคณะกรรมการที่มีอํานาจพิจารณาทางปกครอง ซึ่งผู้นั้นเป็นกรรมการอยู่มีคําสั่งหรือมีมติโดยไม่ชักช้า แล้วแต่กรณีว่าผู้นั้นมีอํานาจในการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นหรือไม่
ให้นําบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคสอง และมาตรา 15 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ในกรณีของคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สตง. หรือ คตร. หรือ ศอตช. ซึ่งเป็นคู่กรณี อาจจะอาศัยมาตรา 14 เพื่อให้หยุดการพิจารณาหรือการประเมินไว้ชั่วคราวหรือดำนินการตามมาตรา 15

มาตรา 14 เมื่อมีกรณีตามมาตรา 13 หรือคู่กรณีคัดค้านว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดเป็นบุคคลตามมาตรา 13 ให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อน และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งทราบ เพื่อที่ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวจะได้มีคําสั่งต่อไป
การยื่นคําคัดค้าน การพิจารณาคําคัดค้าน และการสั่งให้เจ้าหน้าที่อื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ที่ถูกคัดค้านให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 15 เมื่อมีกรณีตามมาตรา 13 หรือคู่กรณีคัดค้านว่ากรรมการในคณะกรรมการที่มีอํานาจพิจารณาทางปกครองคณะใดมีลักษณะดังกล่าว ใหประธานกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเหตุคัดค้านนั้น ในการประชุมดังกล่าวกรรมการผู้ถูกคัดค้านเมื่อได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและตอบข้อซักถามแล้วต้องออกจากที่ประชุม
ถ้าคณะกรรมการที่มีอํานาจพิจารณาทางปกครองคณะใดมีผู้ถูกคัดค้านในระหว่างที่กรรมการผู้ถูกคัดค้าน ต้องออกจากที่ประชุม ให้ถือว่าคณะกรรมการคณะนั้นประกอบด้วยกรรมการทุกคนที่ไม่ถูกคัดค้าน
ถ้าที่ประชุมมีมติให้กรรมการผู้ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้าน ก็ให้กรรมการผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ มติดังกล่าวให้กระทําโดยวิธีลงคะแนนลับและให้เป็นที่สุด
การยื่นคําคัดค้านและการพิจารณาคําคัดค้านให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง


ดังนั้นคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพที่ขาดความเป็นกลางและมี conflict of interest ควรลาออกไปเพื่อความสง่างามให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างสะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่ของพวกพ้องของตน
กำลังโหลดความคิดเห็น