xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สสส.” แฮปปี้เอนดิ้ง เหมือนจะแพ้ แต่ไม่แพ้ คสช.เล็งเป้า บินไทย -ปตท. คิวต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากเขย่าขวัญสั่นประสาทกันไปพอหอมปากหอมคอสำหรับการตรวจสอบ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ทั้งประเด็นเรื่องการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ และข้อกล่าวหาว่าทุจริต ไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อน สุดท้ายก็ทำท่าว่าจะจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง เคลียร์ชัด ไม่มีอะไรติดใจ

ในการหารือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) นั่งหัวโต๊ะ มีข้อสรุปหลักๆ คือ

1. ขอให้ไปร่วมกันแก้ไขกฎหมายกำหนดขอบเขตคำว่า “สุขภาพ” ให้พอดี อย่าเวิ่นเว้อกว้างขวางครอบจักรวาล ซึ่งนิยามการสร้างเสริมสุขภาวะ ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ. สสส. พ.ศ. 2544กว้างมากจนทำให้เกิดข้อกังขา

2. เรื่องการใช้งบประมาณ ตามมาตรา 10 ต้องปรับปรุง เพราะเงินของแผ่นดินต้องใช้ให้เกิดประสิทธิผลประสิทธิภาพสูงสุดและตรวจสอบได้ด้วย 3. เรื่องธรรมาภิบาล ประเด็นการตั้งคณะกรรมการ สสส. บางคนเป็นกรรมการและมีมูลนิธิฯแล้วก็ของบจาก สสส. ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จะได้ไม่เกิดปัญหา เกิดข้อครหานินทา ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายจัดให้แต่บรรดาพวกพ้อง

“หน้าที่ของศอตช.ในส่วนนี้ถือว่าได้ข้อยุติแล้ว คือ การให้แก้ไข 3 มาตราข้างต้นที่สังคมมองว่าอาจไม่โปร่งใส ส่วนเรื่องการตรวจสอบงบประมาณของ สสส.ทาง ศอตช. ก็ยังตรวจสอบ เพราะต้องตรวจสอบทุกองค์กร ไม่ใช่แค่ สสส. เท่านั้น ซึ่ง ศอตช.ก็ทำมาโดยตลอด หากพบว่ามีการใช้งบประมาณโดยทุจริตก็ว่ากันตามกฎหมาย” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)ก็ถือว่าเรื่องนี้ถือว่าได้ข้อยุติแล้ว โดยคตร. จะไม่เข้าไปตรวจสอบเรื่องงบประมาณของ สสส. อีก แต่เป็นหน้าที่ของ สตง.ตามปกติที่ต้องเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของทุกหน่วยงาน

เป็นอันว่าจบข่าวการตรวจสอบองค์กรดีของคนดีไปแบบแฮปปี้ ถึงแม้ว่าจะมีรายงานข่าวจาก สตง. ตรวจสอบพบโครงการที่มีกรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส.ที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิหรือองค์กรที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก สสส. ตั้งแต่ช่วงปี2550 - 2557จำนวน 139 โครงการ งบประมาณที่ได้รับการอุดหนุน 3,005 ล้านบาท ก็ตาม

องค์กรหรือมูลนิธิฯ ที่อยู่ในรายงานตรวจสอบของ สตง. เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ รับเงินอุดหนุน 11 โครงการ จำนวน 98,957,950 บาท กรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส.ที่เกี่ยวข้อง นางประภาภัทร นิยม, มูลนิธิองค์การกระจายเสียงและแพร่ภายสาธารณะแห่งประเทศไทย รับเงินอุดหนุน 3 โครงการ จำนวน 10,600,000 บาท นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์, มูลนิธิหัวใจอาสา รับเงินอุดหนุน 4 โครงการ จำนวน 20,355,200 บาท, มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ รับเงินอุดหนุน 5 โครงการ จำนวน 20,159,900 บาท นพ.บัญชา พงษ์พานิช,

มูลนิธิสุขภาพไทย รับเงินอุดหนุน 6โครงการ จำนวน 65,026,400 บาท นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รับเงินอุดหนุน 16 โครงการ จำนวน 312,731,013 บาท นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.มรกต กรเกษม นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, มูลนิธิสร้างสุขไทย รับเงินอุดหนุน 3 โครงการ จำนวน 65,420,736 บาท นางอรจิตต์ บำรุงสกุลสวัสดิ์ ผศ.ลักขณา เติมศิริกุลชัย นพ.วิชัย โชควิวัฒน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล, มูลนิธิสร้างสรรค์สังคมและสุขภาวะ รับเงินอุดหนุน 3 โครงการ จำนวน 23,998,080 บาท นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์,

มูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม รับเงินอุดหนุน 1 โครงการ จำนวน 12,867,923 บาท นายไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ, มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย รับเงินอุดหนุน 4 โครงการ จำนวน 80,320,050 บาท นพ.บรรลุ ศิริพานิช นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, มูลนิธิเด็ก รับเงินอุดหนุน 1 โครงการ จำนวน 950,000 บาท นพ.วิชัย โชควิวัฒน, มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว รับเงินอุดหนุน 10 โครงการ จำนวน 92,505,740 บาท นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายวันชัย บุญประชา,

มูลนิธิโกมลคีมทอง รับเงินอุดหนุน 4โครงการ จำนวน 36,584,550บาท นพ.วิชัย โชควิวัฒน นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ นพ.บัญชา พงษ์พานิช, มูลนิธิ14 ตุลา รับเงินอุดหนุน 2 โครงการ จำนวน 3,505,680 บาท นพ.วิชัย โชควิวัฒน, มูลนิธิชัย บุญประชา รับเงินอุดหนุน 2 โครงการ จำนวน 3,850,000 บาท นายวันชัย บุญประชา

ต้องไม่ลืมว่า การเข้ามาตรวจสอบ สสส.ของพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา “บิ๊กต๊อก” คราวนี้ ใครก็รู้ว่า “บิ๊กต๊อก” เป็นเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) 51 รุ่นเดียวกันกับ “หมอณรงค์” นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับกลุ่มหมอชนบทซึ่งเป็นเครือข่ายเพื่อนพ้องน้องพี่ตระกูล ส.ขณะที่ฟากฝั่งเครือข่าย สสส. ซึ่งมี “หมอประเวศ” นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นหัวเรือใหญ่นั้น ก็มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

นายสมคิด กับเครือข่าย สสส.รู้จักมักคุ้นกันดีเพราะร่วมริเริ่มจัดตั้ง “มูลนิธิสัมมาชีพ” ซึ่งมีหมอประเวศ เป็นประธาน นายสมคิด เป็นรองประธาน และนางวณี ปิ่นประทีป (ศรีภรรยาของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ศิษย์เอกหมอประเวศ) ร่วมเป็นกรรมการ และขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานประสานการสร้างสังคมสุขภาวะ(สปพส.) ในเวลานี้ โดย สปพส. ได้รับงบสนับสนุนจาก สสส.ปีละร่วม 100 ล้าน มีการจัดตั้ง"ศูนย์ประสานงานประชารัฐ" ระดับตำบลมาตั้งแต่ต้นปี

ที่สำคัญการขับเคลื่อนนโยบายที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิกออฟแคมเปญใหญ่โตในชื่อ "สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก"ที่เป็นการผนึกพลังระหว่างรัฐกับประชาชนปลุกปั้นเศรษฐกิจชุมชน ผลงานชิ้นเอกอุของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ ก็ล้วนแต่ต้องอาศัยเครือข่าย สสส. ของหมอประเวศ - หมอพลเดช ร้อยรัดเชื่อมโยง

เมื่อฝั่งหนึ่งมี หมอณรงค์ - บิ๊กต๊อก- ผู้ว่าฯ สตง. ขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง มี สสส. -หมอประเวศ - หมอพลเดช - นายสมคิด ถือหาง เรื่องนี้จึงต้องรีบจบ ก่อนที่จะเกิดรอยร้าวยากประสาน

เมื่อทุกฝ่ายเคลียร์ปัญหา เข้าใจตรงกันนะ ทาง สสส.ก็ถือโอกาสออกมาแถลงต่อสาธารณชนให้ได้รับรู้ทั่วกัน โดย ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รักษาการผู้จัดการกองทุน สสส.พูดถึงการชี้แจงถึงข้อกล่าวหาว่าทุจริตและดำเนินการผิดระเบียบต่างๆ ว่าเมื่อชี้แจงในแง่กฎหมายและข้อมูลต่างๆ ที่ประชุมก็ไม่ได้ติดใจในประเด็นนี้อีก

ส่วนเรื่องประสิทธิภาพในการจัดทำแผน ซึ่งมีข้อสงสัยว่า สสส.ทำแผนสอดคล้องกันหรือไม่ ทั้งแผนระยะ 10 ปี ระยะ 3 ปี และระยะ 1 ปีนั้น สสส.ได้แสดงหลักฐานว่ามีความสอดคล้อง โดยแสดงแผนการดำเนินงานปี2557 ซึ่งเป็นปีที่ถูกตรวจสอบ มีตัวชี้วัดในการดำเนินงานถึง 113 ตัว ก็สอดคล้องกับแผนระยะ 3 ปี โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงหลัก เช่น บุหรี่ เหล้า เกี่ยวข้องถึงร้อยละ 54

ข้อกล่าวหาว่า สสส.ลดอัตราการสูบบุหรี่ดื่มเหล้าลงไม่ได้ จึงทำงานได้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนนั้น สสส.ชี้แจงว่าทิศทางใหญ่นั้นอัตราการสูบบุหรี่ดื่มเหล้าลดลงสสส.เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ยังมีอีก 27 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดอัตราการสูบบุหรี่ และยังมีงานวิจัยชี้ชัดว่าการลดอัตราการสูบบุหรี่ อันดับหนึ่งที่มีผลคือเรื่องของภาษี อันดับ 2 คือการห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง ซึ่ง สสส.ก็ต้องทำงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หันมาทำในเรื่องนี้ สำหรับตัวชี้วัดเรื่องบุหรี่และเหล้าก็อยู่ในตัวชี้วัด113 ตัว ซึ่งได้รับการประเมินแล้วได้คะแนน 4.77 คะแนนจาก 5 คะแนน และได้รายงานไปยัง ก.พ.ร.และ ครม.แล้ว

สำหรับประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน รักษาการผู้จัดการกองทุน สสส.อธิบายว่า คณะกรรมการที่ออกแบบไว้ตั้งใจให้มาจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพื่อให้สามารถทำงานเชื่อมโยงกัน และกำหนดข้อห้ามตามหลักสากลคือ ห้ามมีผลประโยชน์ทางธุรกิจตามมาตรฐานจรรยาบรรณของกรรมการที่มีมาตั้งแต่ปี 2545และในกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามหน่วยงานที่ไม่แสวงผลกำไร เช่น เอ็นจีโอ เข้ามาเป็นกรรมการบอร์ดแต่อย่างใด

“จะเห็นว่า มูลนิธิ กลุ่มองค์กรสาธารณะประโยชน์ ถูกมองในแง่ร้ายเกินจริง ซึ่งตามกฎหมาย บอร์ดออกแบบให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในบอร์ด เข้ามาทำงานร่วมคิดตัดสินใจ ซึ่งกลุ่มองค์กรสาธารณะประโยชน์ ไม่ได้มีหุ้นส่วนเพื่อหากำไรแต่อย่างใด ....องค์กรเหล่านี้ มักเชิญให้คนดี คนเด่น คนดัง ไปเป็นประธาน กรรมการ มูลนิธิต่างๆ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องเห็นใจนักทำงานทางสังคม ผู้ที่จะเลือกด้านสังคม ไม่มั่นคง ไม่ร่ำรวย การปรากฏชื่อในมูลนิธิรับทุน ทำให้สังคมเคลือบแคลง อยากให้สังคมทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวด้วย ....

“ความไม่เข้าใจในประเด็นการทำงานของ สสส.ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ตรวจสอบที่ยังไม่ได้สอบทานกับผู้ถูกตรวจสอบ และมีการออกสื่อไปก่อน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง เจ้าหน้าที่ สสส. และภาคี รู้สึก อกไหม้ ไส้ขม ทำให้เกิดความเสียหาย.... ” ทพ.สุปรีดา กล่าว

หลังประชุมฟังการชี้แจง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข แบ่งรับแบ่งสู้ว่าต้องดูข้อมูลมีผลประโยชน์ทับซ้อนจริงหรือไม่ ตั้งใจจะทำเช่นนั้นหรือไม่ อย่าเพิ่งไปตัดสิน พูดไปอาจกลายเป็นผิด ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนตั้งใจดี มีส่วนน้อยเท่านั้นใน สสส.ที่ต้องปรับปรุง มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องนี้

ปมปัญหาการใช้เงินของ สสส.สร่างซาลงไปแล้ว แต่ว่าการลับดาบคุมการใช้เงินของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ยังเดินหน้าต่อ และส่อเค้านับวันยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่เฉพาะเรื่องการใช้งบประมาณเท่านั้น แม้แต่ประสิทธิภาพการทำงานเมื่อเทียบกับผลงานของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจยังถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็น ดังกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ตั้งคำถามถึงเงินเดือนของระดับผู้บริหารการบินไทย รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่แพงเว่อร์ มากกว่านายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ แต่ผลงานที่ออกมากลับขาดทุนยับเยิน เช่นนี้แล้วอีกไม่นานคงมีรายการจับบินไทยขึ้นเขียงอีกเป็นแน่ และคงมีรายต่อไปจ่อคิวรอเชือดอีกหลายแห่ง

ในวาระโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังอนุมัติหลักการตามที่ คตร. เสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คตร.ทำหน้าที่เข้าไปติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบกระทรวง-รัฐวิสาหกิจ โดยสอบควบคู่ไปกับ สตง.อีกด้วย

อนุกรรมการ คตร. 6 ชุด ที่หัวหน้า คสช.ตั้งขึ้นมา โดยมีระดับนายพลนั่งเป็นประธาน ประกอบด้วย กลุ่มกระทรวงด้านความมั่นคง พล.ท.ธนกร จงอุตส่าห์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ กลุ่มกระทรวงเศรษฐกิจที่ 1 พล.ท.เดชา เดชะชาติ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ขณะที่กลุ่มกระทรวงเศรษฐกิจที่ 2 พล.ท.วิบูล ขยันกิจ เป็นประธานอนุกรรมการฯ กลุ่มกระทรวงด้านสังคมจิตวิทยา พล.ท.ไชยพร รัตแพทย์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ กลุ่มกระทรวงด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและอื่นๆ พล.ท.สรชัช วรปัญญา เป็นประธานอนุกรรมการฯ ขณะที่กลุ่มกระทรวงด้านต่างประเทศ พล.ต.อาทิตย์ วัฒนะบุตร เป็นประธานอนุกรรมการฯ ถือเป็นการติดดาบให้ คตร.ที่มีการตั้งบิ๊กทหารระดับนายพลเข้ามาตรวจสอบการใช้งบและคุมการทุจริตคอร์รัปชั่น

การตรวจสอบของ คตร. รายการถัดจาก สสส.ที่มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคตร. รายงานต่อประชุมครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือ การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าจ้างเอกชนหรือออร์แกไนซ์เซอร์เป็นผู้รับงาน โดยโครงการของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ที่จัดจ้างออร์แกไนซ์เซอร์ ที่มีวงเงินการจัดจ้างตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 จนถึงปัจจุบัน หรือประมาณ 6 เดือน จาก 16 หน่วยงาน จำนวน141รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,999,787,321.16 บาท พบว่ามี 7หน่วยงานที่ใช้งบประมาณในส่วนนี้เกิน 100 ล้านบาท เรียงตามลำดับมากน้อย ดังนี้

1.กระทรวงพลังงาน มีจำนวน 30 รายการ วงเงิน 455,050,000 บาท โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ใช้งบประมาณมากที่สุด คือ241,840,000 บาท รองลงมาคือ สำนักงานปลัดกระทรวงจำนวน 93.4 ล้านบาท และสำนักนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนจำนวน 71 ล้านบาท2.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 24 รายการ วงเงิน 387,536,444 บาท โดยมีบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ใช้งบประมาณมากที่สุดคือ 142,394,120 บาท รองลงมาคือสำนักงานกสทช.จำนวน 135,280,000 บาท และบริษัทกสท. โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) จำนวน 109,862,324 บาท 3.กระทรวงการคลัง จำนวน 10 รายการ วงเงิน215,144,314.40บาท โดยธนาคารออมสิน ใช้งบประมาณมากที่สุด จำนวน 5 รายการ วงเงิน 109,246,718 บาท

4.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน17 รายการ วงเงิน 194,285,000 บาท โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ใช้งบประมาณมากที่สุด คือ 104,700,000บาท5.กระทรวงพาณิชย์ 17 รายการ วงเงิน 173,965,400 บาท โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศใช้งบประมาณสูงที่สุดคือ 96,465,400 บาท6.กระทรวงมหาดไทย8รายการ วงเงิน137,020,000บาท โดยกรุงเทพมหานครใช้งบประมาณมากที่สุด คือ 66,520,000 บาท และ7.กลุ่มจังหวัดและจังหวัด 10 รายการ วงเงิน 105,033,300 บาท

นี่แค่น้ำจิ้มเท่านั้น ฟังว่างานช้างคือการเข้าตรวจสอบเมกะโปรเจ็กต์ที่กำลังเร่งรัดลงทุนตามนโยบายของรัฐบาล วัดฝีมือหน่วยตรวจสอบพิเศษ คตร.ที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีว่า “ทีมงานระดับนายพล” จะปราบโกงได้สักกี่มากน้อย



กำลังโหลดความคิดเห็น