หลังเดือน มี.ค.เป็นต้นไป ชาวอีสานจะมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สำหรับเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติที่พบได้ในท้องถิ่น ซึ่งบูรณาการองคืความรู้และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นสถาบันการศึกษาอันเก่าแก่ของอีสาน ร่วมกับประสบการณ์การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ไปเยือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ “บึงศรีฐาน” ภายในพื้นที่ของ มข. และอยู่ระหว่างตกแต่งพร้อมจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ โดยพร้อมให้ประชาชนเข้าชมได้ในช่วงปลยเดือน มี.ค.59 นี้
นายสาคร ชนะไพทูรย์ รักษาการผู้อำนวยการ อพวช.กล่าวว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวถือเป็นพิพิะภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งที่ 2 ของประเทศ ซึ่งเน้นการจัดแสดงสิ่งที่พบในภาคอีสาน ส่วนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งแรกตั้งอยู่ภายในองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ.ปทุมธานี
ทั้งนี้ อพวช. และ มข.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในความร่วมมือทางวิชาการเพื่อนำความรู้และประสบการณ์ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของ อพวช.มาร่วมพัฒนาพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งใหม่ของ มข. โดยนายสาครกล่าวว่า เป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้เป็นเครือข่ายในการกระจายความรู้และนิทรรศการขององค์การพิพิธภัณฑ์
ด้าน ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ผู้จัดการสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มข.กล่าวถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาว่า สืบเนื่องมาจากการดำเนินงานสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ตั้งแต่ปี 2540 และ มข.ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับชาติ โครงการ อพ.สธ.ครั้งที่ 8
การประชุมวิชาการดังกล่าวจะจัดขึ้นภายใต้ชื่องาน “ทรัพยากรไทย: หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน” ระหว่างวันที่ 23-29 มี.ค.59 ซึ่ง ผศ.ดร.เพ็ญประภา ระบุว่าการจัดประชุมนั้นต้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ โดยมีเนื้อหาเน้นข้อมูลทรัพยากรสำคัญๆ ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงนำมาสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์
ในส่วนการจัดแสดงนิทรรศการนั้น นายสาครระบุว่า พิพิธภัณฑ์มีพื้นที่เหลือให้ อพวช.ร่วมจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน 3 ห้อง โดยจะประเดิมนิทรรศการด้านอนุกรมวิธานสัตว์ การจัดแสงสัตว์สตาฟฟ์ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในรูปแบบขบวนพาเหรด รวมถึงช้างสตาฟฟ์ และนิทรรศการการถ่ายภาพทางธรรมชาติ โดย ดร.เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
“ส่วนนิทรรศการถาวรนั้นจะเน้นสิ่งมีชีวิตในภาคอีสาน และมีประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง คือ สิ่งมีชีวิตใน “รู รัง โพรง” นอกจากนี้ยังจัดแสดงเกี่ยวกับกำเนิดโลก กำเนิดสิ่งมีชีวิต พร้อมทั้งไดโนเสาร์ทั้ง 3 พันธุ์ที่ค้นพบในภาคอีสาน ได้แก่ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส และสยามโมซอรัส สุธีรธร” นายสาครระบุ
ด้าน ผศ.ดร.เพ็ญประภากล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ มข.คือ ไดโนเสาร์ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ซึ่งค้นพบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิจัย มข.ที่จะร่วมจัดแสดงองค์ความรู้ให้แก่พิพิธภัณฑ์ คือกลุ่มวิจัยไรน้ำนางฟ้า ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่พบได้ตามแหล่งน้ำชั่วคราวของภาคอีสาน กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ และกลุ่มวิจัยด้านลายพิมพ์ดีเอ็นเอทางพฤกษศาสตร์
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งใหม่จะเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมระหว่าง 23-29 มี.ค.59 หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนและเยาวชนได้เข้าชมเพื่อทดสอบระบบก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทาง โดย ผศ.ดร.เพ็ญประภาระบุว่า มีช่วงเวลาเปิดให้บริการฟรี 6 เดือน ก่อนพิจารณาค่าเข้าชมที่เหมาะสมต่อไป