xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวอินโฟกราฟฟิก 8 วิธีออกแบบอาคารสู้ธรณีพิบัติภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สกว.จับมือสภาวิศวกรนำงานวิจัยแผ่นดินไหวลงหิ้ง จัดอบรมออกแบบ ก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวแก่วิศวกรภาครัฐและเอกชน พร้อมเปิดตัวอินโฟกราฟฟิก 8 วิธีออกแบบอาคารสู้ธรณีพิบัติภัยแบบง่ายๆ จากองค์ความรู้วิจัยสะสมนับ 10 ปี

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสภาวิศวกร จัดการสัมมนา “การออกแบบ ก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว” เพื่อเผยแพร่ความรู้งานวิจัยสู่วิศวกรทั้งภาครัฐและเอกชน ณ ห้องเทวกรรมรังรักษ์ หอประชุมกองทัพบก ถ.วิภาวดี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวถึงสถานการณ์ความเสี่ยงแผ่นดินไหวในประเทศไทย ว่าการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยแผ่นดินไหว สิ่งสำคัญที่สุดและสามารถดำเนินการได้จริงคือ การควบคุมให้อาคารและโครงสร้างต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงภัยมีการออกแบบก่อสร้างให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการออกกฎหมายที่มีมาตรฐาน ควบคู่กับการวิจัย เพื่อให้มีข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจที่ดีปัจจุบันเพราะปัจจุบันการพยากรณ์แผ่นดินไหวทำได้ล่วงหน้าเพียงแค่ 2 วินาที ทางที่ดีที่สุดจึงอยู่ที่การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนแบบต้านแผ่นดินไหว

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.อมร พิมาณมาศ เลขาธิการสภาวิศวกรและหัวหน้าโครงการฯ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยแผ่นดินไหวในประเทศไทยมีการดำเนินงานติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่ในอดีตไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย, ประเทศเนปาลและไต้หวันที่เกิดติดๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้คนมีความสนใจและหาความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวมากขึ้น ในฐานะที่เขาเป็นนักวิจัยแผ่นดินไหวและได้รับทุนจาก สกว.มานานนับสิบปี จึงมีแนวคิดที่จะนำองค์ความรู้งานวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนจากเหตุแผ่นดินไหว มาสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง อันได้แก่ กลุ่มวิศวกรที่มีหน้าที่ออกแบบคำนวณสร้างอาคาร, กลุ่มช่างท้องถิ่น ที่เป็นคนทำงานในพื้นที่จริง และภาคส่วนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ตรวจสอบให้มีความรู้เกี่ยวกับหลักดังกล่าว

"งานวิจัยมีเยอะมาก แต่ปกติอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่มีคนนำไปใช้ เพราะคนที่ใช้จริงๆ คือวิศวกรและช่างชุมชนทั่วไปเขาเข้าไม่ถึง การสนับสนุนให้เกิดการนำมาใช้จริงจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ขะต้องเอาองค์ความรู้เหล่านี้มาสู่ผู้ใช้โดยตรงมาสอนเขา ด้วยหลักง่ายๆ แต่ทำได้ถูกต้องและแข็งแรง เราจึงนำเอาองค์ความรู้ทั้งหมดมากลั่นเป็นแผนภาพอินโฟกราฟฟิกแบบง่ายๆ ให้รู้จักวิธีเสริมความแข็งแรงบ้าน 8 วิธี, การจัดทำคู่มือ, การจัดทำโซเชียลเน็ตเวิร์คและเว็บไซต์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งการจัดสัมมนาที่ กทม.โดยเน้นวิศวกรจากภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ และการจัดสัมมนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดทำเวิร์คช็อปกับช่างท้องถิ่น ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 28-29 เม.ย. ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ" ดร.อมร กล่าว

​ด้าน ผศ. ดร.ปรีดา ไชยมหาวัน นักวิจัยร่วมโครงการฯ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า การออกแบบอาคารใหม่เพื่อต้านทานแผ่นดินไหวต้องเริ่มจากการสำรวจกฎหมายบังคับ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าตั้งแต่ ปี 2550 ไทยมีกฎกระทรวงที่กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยบังคับใช้กับอาคารสาธารณะและอาคารที่มีความสำคัญ หรืออาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร ขึ้นไปในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อน ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปางและลำพูน

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการออกแบบรูปทรงอาคาร ว่าอาคารลักษณะใดเหมาะหรือไม่เหมาะกับการรับแรงแผ่นดินไหว ซึ่งสำหรับอาคารเกิดใหม่เราจะกำหนดให้วิศวกรเลือกลักษณะรูปร่างอาคารที่เหมาะสทคือ ส่วนมากต้องมีรูปทรงสมมมาตร ไม่บิดเบี้ยว หรือมีดีไซน์ที่ล้ำเกินไปเพื่อรักษาความเหมาะสมของโครงสร้างที่จะใช้ต้านทานแรงด้านข้างซึ่งเป็นแรงแผ่นดินไหว รวมไปถึงการคำนวณแรงแผ่นดินไหวจากน้ำหนักของตัวอาคาร, การวิเคราะห์โครงสร้างเพื่อหาแรงภายในโครงสร้างอาคาร จากนั้นจึงออกแบบองค์อาคาร ได้แก่ คาน เสา และจุดต่อ ซึ่งจะต้องทำรายละเอียดเหล็กเสริมที่เหมาะสม เพื่อให้โครงสร้างมีความเหนียว สามารถทนต่อแรงแผ่นดินไหวได้ซึ่งตรงกับอินโฟกราฟฟิกที่เราทำขึ้น

ในส่วนของ ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด นักวิจัยโครงการฯ และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึง แนวทางการประเมินความเสี่ยงอาคารเก่า และการเสริมกำลังอาคารเก่าเพื่อต้านแผ่นดินไหวว่า สำหรับอาคารที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ต้องมีการตรวจประเมินความแข็งแรง ซึ่งวิธีการตรวจมีหลายลำดับขั้นตั้งแต่ระดับง่ายจนถึงยาก ขั้นง่ายสุดคือการตรวจสอบด้วยสายตาดูลักษณะการแตกร้าว เหมาะกับที่อยู่อาศัยทั่วไป หากพบการแตกร้าวให้แก้ไขด้วยการเสริมกำลังเข้าไป วิธีถัดมาคือการนำแบบของอาคารมาตรวจประเมินทางวิศวกรรมอย่างละเอียด วิธีการนี้ให้ผลไม่ 100% แต่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าโครงสร้างมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติถึงชีวิตหรือไม่

การวิเคราะห์ขั้นสูงต่อมาคือการนำโครงสร้างบ้านทั้งหลังมาเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อจำลองพฤติกรรมในโปรแกรม วิธีนี้จะละเอียดมาก บอกได้ว่าโครงสร้างจุดใดของโครงสร้างอาคารอ่อนแอ ซึ่งจะช่วยให้การการเสริมกำลังทำได้อย่างตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ สุดท้ายคือการวิเคราะห์ขั้นสูงเหมาะกับสิ่งก่อสร้างมูลค่าสูงมากๆ เช่น เขื่อน จะต้องนำโครงสร้างมาเข้าโปรแกรมวิเคราะห์ทางคอมพิวเตอร์เช่นกัน รวมถึงการทดสอบกับคลื่นแผ่นดินไหวของจริงด้วยซึ่งจะให้ค่าวิเคราะห์ประเมินที่ความละเอียดสูงสุด

ส่วนวิธีการซ่อมแซมจะสอดคล้องกับ 8 วิธีในอินโฟกราฟฟิกเลยว่าถ้าเป็นโครงสร้างอาคารขนาดเล็กก็ให้เสริมกำลังด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ถ้าเป็นอาคารใหญ่ขึ้นมาหน่อยให้เสริมกำลังด้วยแผ่นเหล็ก ส่วนอาคารขนาดใหญ่จะนิยมให้เสริมด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ แต่วิธีที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่การเสริมความแข็งแรงเฉพาะส่วน หากจะเสริมความแข็งแรงโดยรวมจะต้องใช้วิธีเสริมโครงแกนแนง ที่เป็นการคาดเหล็กแนวทะแยงคาดทั้งตึกซึ่งแข็งแรงแน่นอนแต่มูลค่าสูง




















เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น