xs
xsm
sm
md
lg

ดนตรีบำบัดลดความเจ็บปวด-ความวิตกกังวลผู้ป่วยโรคไตขณะฟอกเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จุฬาฯ เผย ผลวิจัยการใช้ดนตรีบำบัดลดความเจ็บปวด และความกังวลของผู้ป่วยโรคไตขณะฟอกไตได้ หลังศึกษาบูรณาการผู้ที่มีความรู้ด้านดนตรีนักดนตรีบําบัด นักระบาดวิทยา แพทย์ และพยาบาลวิชาชีพ ศึกษากลุ่มตัวอย่างใน 3 โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ

โรงพยาบาลในสังกัด กรุงเทพมหานคร สํานักวัฒนธรรมกีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเมืองและหน่วยวัฒนธรรมดนตรีไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินงาน และ การประสานงานของ Chula Unisearch นำร่อง วิจัยในหัวข้อ “ใช้ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยโรคไต ขณะฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม” ลดความเจ็บปวด และ ความกังวลของผู้ป่วยโรคไต ขณะฟอกไต ที่โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

รศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ และคณะคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ “ใช้ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยโรคไต ขณะฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม” ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ มีกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ป่วยโรคไตระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไต มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบุกเบิกในการวิจัยแบบสหสาขาวิชา

“กล่าวคือผู้ที่ร่วมทําวิจัยประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ด้านดนตรีนักดนตรีบําบัด นักระบาดวิทยา แพทย์ และพยาบาลวิชาชีพทําให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นการสร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานครซึ่งสามารถเป็นงานต้นแบบที่สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ เช่นเดียวกับการใช้งานด้านดนตรีบําบัดในต่างประเทศได้

การดำเนินการวิจัยได้ออกแบบการวิจัยโดยใช้กระบวนการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายที่ถูกใช้ในการรักษาในขั้นต้น (ดนตรีสดและการฟังดนตรี) โดยผู้ป่วยโรคไตจะได้รับดนตรีบำบัดก่อนและหลังการฟอกเลือด ใช้ระยะเวลาในการวิจัย 1 สัปดาห์ ซึ่งผลการศึกษาจะสามารถนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลการบำบัดก่อนและหลังด้วยดนตรีสดหรือการฟังดนตรีที่มีต่อความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ อาการเจ็บปวดและความวิตกกังวลในระหว่างที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น

คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาถึงรูปแบบการใช้ดนตรีบำบัดตามความต้องการและความจำเป็นของผู้ป่วย โดยปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงของโรงพยาบาลที่ใช้ดนตรีบำบัดในการรักษาผู้ป่วย อาทิ บุคลากร สถานที่และการอำนวยความสะดวกในการใช้ดนตรีบำบัด ด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการบำบัด Suzuki Q-chord และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กถูกนำมาใช้ในการบำบัด นักดนตรีบำบัดจะวางเครื่องดนตรีไว้ข้างเตียง ให้ผู้ป่วยได้สัมผัสและร้องตามเครื่องเล่น Mp3 สำหรับการเล่นดนตรีสด และหูฟังใช้ในการบำบัดด้วยการฟังดนตรี ผู้ป่วยสามารถเลือกดนตรีตามความชอบในการบำบัดทั้งสองวิธี หลังจากการบำบัดจะมีการประเมินระดับความเจ็บปวด ความวิตกกังวล ความดันเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ จากเครื่องตรวจวัดอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยแต่ละสังคมจะมีวัฒนธรรมดนตรีที่แตกต่างกันอันเป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตมนุษย์ของสังคมนั้นๆ มนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์สร้างงานดนตรีขึ้นตามจินตนาการที่มีเอกลักษณ์ของตนเพื่อบรรยายอารมณ์ความรู้สึก และสะท้อนภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ออกมาเป็นเสียงดนตรี โดยใช้ความสั้นยาวของจังหวะ และการร้อยเรียงเสียงสูงต่ำ เพื่อแสดงให้เห็นภาพพจน์ตามจินตนาการของผู้ประพันธ์ แล้วจึงถ่ายทอดบทเพลงต่อๆ กันไป

วัตถุประสงค์ในการใช้ดนตรีของมนุษย์มีหลากหลาย เช่น นำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม ใช้เป็นเครื่องผ่อนคลายให้ผู้คนในสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ ดนตรียังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน อาทิ ต่อร่างกาย สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันโลหิตการตอบสนองของม่านตาความตึงตัวของกล้ามเนื้อและการไหลเวียนเลือด ต่อจิตใจและสมอง สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์สติสัมปชัญญะ จินตนาการ การรับรู้สภาพความเป็นจริง และการสื่อสารทางอวัจนะภาษา

ดนตรีบำบัด (Music Therapy) จึงกลายเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยบำบัดรักษาความผิดปกติทางร่างกายทางอารมณ์ และทางสังคม ซึ่งมีการศึกษาและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศในแถบยุโรป รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นสำหรับประเทศไทย งานด้านดนตรีบำบัดนับว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้น เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากผู้กำหนดนโยบายคือ รัฐบาล โดยในสังคมเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร มีมลภาวะที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาระทางด้านการงานที่รัดตัว ทำให้เกิดภาวะความเครียดแก่ผู้คนในชุมชนเมือง

จากข้อมูลพบว่าในสถานพยาบาลของรัฐมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมลภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและความตึงเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ด้วยเหตุนี้งานวิจัยด้านดนตรีบำบัดจึงมีความจำเป็นที่สมควรได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นโครงการนำร่องในประเทศไทยในการที่จะนำกิจกรรมดนตรีไปใช้เพื่อการบำบัด และเป็นทางเลือกในการบำบัดจิตใจผู้ป่วยขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

“กล่าวได้ว่าดนตรีบำบัด คือ การใช้ดนตรีและวิธีการทางดนตรีในการช่วยฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้มีสภาพที่ดีขึ้น โดยดนตรีที่นำมาใช้ในการบำบัดนั้นต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญในการรักษา ซึ่งประกอบด้วย นักดนตรีบำบัดแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้รับผิดชอบกรณีศึกษาและญาติของผู้เข้ารับการบำบัด ในงานวิจัยนี้ ดนตรีจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บำบัดกับผู้เข้ารับการบำบัด โดยใช้กิจกรรมที่ได้รับการออกแบบอย่างดี ให้เหมาะกับสภาพผู้เข้ารับการบำบัด เช่น การร้องเพลง การบรรเลง หรือการฟังดนตรี”

เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบำบัดนักดนตรีบัดต้องนำความรู้และประสบการณ์ของตนไปประยุกต์ใช้กับผู้เข้ารับการบำบัดที่มีอาการของโรคและพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปตามพื้นฐานหรือปูมหลังของผู้เข้ารับการบำบัดแต่ละคน ทั้งนี้ การใช้ดนตรีบำบัดมี 2 รูปแบบประกอบด้วย รูปแบบแรกดนตรีบำบัดแบบเดี่ยว (Individual Music Therapy) เป็นการทำกิจกรรมบำบัดแบบคนเดียว ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอยผู้ป่วยหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้พร้อมเพรียงกัน

กล่าวคือเมื่อผู้ป่วยหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความพร้อมเมื่อใดก็สามารถปฏิบัติได้ ซึ่งเหมาะแก่การปฏิบัติสำหรับผู้ที่ไม่ชอบการเข้าสังคมหรือมีความผิดปกติมากและต้องอยู่ในการควบคุมของคณะทำงานด้านดนตรีบำบัด แต่สำหรับผู้ที่ปกติ ก็สามารถใช้ดนตรีในการบำบัดเป็นการส่วนตัวได้ตามความพึงพอใจในโอกาสที่เหมาะสม และรูปแบบที่ สอง ดนตรีบำบัดแบบกลุ่ม (Community Music Therapy) เป็นการทำกิจกรรมบำบัดแบบหลายคน เหมาะแก่ผู้ที่ไม่สามารถใช้ดนตรีในการบำบัดตนเองได้

กิจกรรมดนตรีบำบัดแบบกลุ่ม โดยข้อดี คือ ทำให้ต้องปฏิบัติตามหลักการของกลุ่ม เพื่อความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ทำให้เกิดการรู้จักกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันช่วยทำให้ความเหงา ความคิดที่เป็นแง่ลบได้ถูกปลดปล่อย เพราะมีผู้ที่รับฟังและเข้าใจมากขึ้น แนวความคิดดนตรีบำบัดแบบกลุ่มนี้ได้รับความนิยมมากในประเทศแถบยุโรปและเอเชีย เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้มีโอกาสมาทำกิจกรรมดนตรีบำบัดร่วมกัน ทำให้เกิดความผ่อนคลาย และเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดแก่หมู่คณะอีกด้วย

การเลือกชนิดของดนตรีเพื่อนำมาใช้ในการบำบัดมีวิธีอย่างไรนั้น มักจะเป็นคำถามในใจของหลายๆ คน ซึ่งการเลือกใช้ดนตรีประเภทใดต้องพิจารณาความพึงพอใจของผู้เข้ารับการบำบัดเป็นสำคัญ เพราะหากถูกใจแล้วย่อมส่งผลดี และตอบสนองความต้องการในการใช้กิจกรรมดนตรีบำบัดได้ รวมถึงทำให้เกิดความสุขซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นในวัตถุประสงค์ของการใช้ดนตรีบำบัด

การที่ผู้เข้ารับการรักษาไม่มีพื้นฐานด้านดนตรีมาก่อนมิใช่ประเด็นปัญหาของการใช้ดนตรีบำบัด เพราะกิจกรรมดนตรีบำบัดสามารถจัดสรรได้หลากหลายรูปแบบ และสิ่งที่สำคัญกว่าคือ การคำนึงถึงสถานการณ์และความจำเป็นในการบำบัดเฉพาะโรค ดังนั้นผู้ที่เข้ารับการบำบัดจะมีส่วนช่วยได้มากในการตัดสินใจเลือกประเภทของดนตรีให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง และสอดคล้องกับกิจกรรมที่ใช้ในการบำบัดในแต่ละกรณีไป

ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมพร้อมทั้งการใช้ดนตรีสดบำบัดให้ผลต่อค่า SBP DBP และอัตราชีพจรไม่แตกต่างกัน ทั้งก่อนและหลังการบำบัด (P>0.05) แต่อย่างไรก็ตาม คะแนนความเจ็บปวดและความวิตกกังวลมีค่าแตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) โดยคะแนนความเจ็บปวดและวิตกกังวลก่อนและหลังการบำบัดผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมพร้อมทั้งการฟังดนตรีก่อนและหลังลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับการบำบัดผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ใช้ดนตรีสดบำบัด

“สรุปได้ว่า การใช้ดนตรีบำบัดช่วยลดความเจ็บปวดและความวิตกกังวลของกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยโรคไตที่ทำการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลได้ โดยการบำบัดด้วยดนตรีสดและการฟังดนตรีในผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้ผลไม่ต่างกันในด้านของการเปลี่ยนแปลงของความดันเลือดความเจ็บปวด และความวิตกกังวล ดังนั้น การเลือกใช้ดนตรีบำบัดในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของผู้ป่วยซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านงบประมาณ บุคลากร สถานที่ และความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกของโรงพยาบาล” รศ.ดร.บุษกรกล่าวสรุป
 รศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น