ส่งตรงจากเวียงจันทน์ ประมวลภาพบรรยากาศครู-นักเรียนลาวกว่า 200 ชีวิตร่วม "ดูดาว" สุดคึกคักแน่นสนาม ร.ร.พอนสะหวัน หลัง สดร.ตั้งกล้องโทรทรรศน์จัดกิจกรรมเบิ่งดาว หนึ่งในไฮไลท์โครงการอบรมดาราศาสตร์อาเซียน ส่วนใหญ่เผย "นี่คือครั้งแรกในชีวิตที่ได้ดูดาวผ่านกล้อง"
ในโอกาสที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมติดตามคณะนักวิจัยและเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) มายังเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อจัดกิจกรรมในโครงการอบรมดาราศาสตร์ระดับนานาชาติในภูมิภาคอาเซียน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 เม.ย. 2559
ในช่วงค่ำที่ผ่านมา สดร.ได้จัดกิจกรรมดูดาว ณ สนามกีฬากลางแจ้ง โรงเรียนพอนสะหวัน เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีครูและนักเรียนชาวลาวจากโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมอบรมฯ มาร่วมกิจกรรมอย่างคึกคักนับ 200 ชีวิต ทำให้ลานสนามหญ้าที่มีขนาดใหญ่ดูแคบไปถนัดตา
แม้กิจกรรมดูดาวจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 19.30 น. แต่นักเรียนและครูบางส่วนก็มาจับจองพื้นที่ตั้งแต่เวลา 18.00 น. บ้างก็นำเสื่อมาปูนั่งพร้อมนั่งรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย บ้างก็จับกลุ่มทบทวนวิธีการใช้แผนที่ดาวตามที่นักวิชาการจาก สดร. ได้ถ่ายทอดความรู้ขั้นต้นให้แล้วตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
กล้องที่นำมาจัดสำหรับชมดาวในครั้งนี้เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้วจำนวน 3 ตัว ที่ทาง สดร.ได้มอบให้กับโรงเรียนพอนสะหวันเมื่อเดือน ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา พร้อมกับกล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ที่ทาง สดร.นำมาจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาฯ จ.ฉะเชิงเทรา
บรรยากาศตลอด 2 ชั่วโมงกว่าของการดูดาว เป็นไปด้วยความคึกคักด้วยเสียงของวิทยากรชาวไทยสลับกับเสียงถามตอบสำเนียงลาวที่ดังขึ้นไม่ขาดสายประจำ โดยวิทยากรจะคอยบรรยายว่าดาวที่กำลังส่องอยู่คือดาวอะไร มีประวัติหรือคุณสมบัติอย่างไร การใช้กล้องที่ถูกวิธีต้องทำอย่างไร โดยวันนี้จะหันหน้ากล้องไปที่ดาวพฤหัสบดีคล้ายๆ กันเพราะในช่วงค่ำทัศนวิสัยไม่ดีนัก ทำให้การสังเกตดาวพฤหัสบดีง่ายกว่าดาวดวงอื่น อย่างไรก็ดีก็เปิดโอกาสให้นักเรียนได้โยกกล้องไปยังทิศที่ต้องการได้ด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมความมั่นใจและความสนุกในการเรียนรู้ดาราศาสตร์จากสนามจริง ซึ่งข้างๆ กันก็มีโต๊ะยาวที่วางอาหารลาวท้องถิ่นไว้เรียงรายให้คนมาดูดาวได้อิ่มท้องไปในคราวเดียวกัน
นักเรียนที่มาร่วมงานอย่าง ท้าววิทยาศาสตร์ ยาทอตู้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นมาก แม้จะเป็นการดูดาวผ่านกล้องเป็นครั้งที่ 2 เพราะครั้งแรกเคยได้ดูที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งซึ่งมีแต่กล้องตั้งแต่ไม่มีคนบรรยาย ในขณะที่การดูดาวในครั้งนี้เป็นแบบจัดเต็ม เพราะมีทั้งวิทยากรและอุปกรณ์เสริมมากมาย ทำให้สังเกตดาวได้ดียิ่งขึ้น แม้ครั้งนี้เขาจะได้เห็นแค่ดาวพฤหัสบดีดวงเดียวก็ตาม
ด้านนางหมีน้อย อินทะไช และ ท้าวคณิตศาสตร์ ราชวงศ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียน มส.นาทรายทอง เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า รู้สึกสนุกมาก เป็นประสบการณ์ดูดาวที่แปลกใหม่ เพราะเคยดูดาวด้วยตาเปล่า ไม่เคยดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ อีกทั้งช่วงกลางวันยังได้เรียนรู้การใช้แผนที่ดาว ทำให้ค่ำคืนนี้กลุ่มของพวกเธอได้เห็นทั้งดาวนายพราน ดาวซิริอุส และดาวเจมีไน ส่วนดาวเวอร์โกที่อยากเห็นยังไม่ขึ้นจึงตั้งมั่นที่จะรอดูต่อไป
ส่วนนางแอนนา ทองวัน นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนพอนสะหวัน กล่าวว่า ค่อนข้างตื่นเต้นเพราะเคยได้ดูดาวด้วยกล้องเป็นครั้งแรก แม้โรงเรียนจะได้รับครั้งแรกกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. มาแล้วกว่า 5 เดือน เพราะเธอไม่ใช่เด็กที่ประจำอยู่กับหอโรงเรียนจึงพลาดการดูดาวด้วยกล้องที่อาจารย์มักจะเปิดให้เด็กที่อยู่หอได้ดูในช่วงหัวค่ำ โดยในวันนี้ดาวที่เธอเห็นและประทับใจที่สุดคือ ดาวพฤหัสบดีเพราะมีขนาดใหญ่ สว่าง เห็นได้ชัดเจน
ท้ายสุด ดร.อุเทน แสวงวิทย์ นักวิจัย สดร. กล่าวสรุปแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การจัดกิจกรรมดูดาวที่สนามโรงเรียนพอนสะหวันในครั้งนี้ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ แม้ว่าในช่วงแรกจะมีเมฆหมอกมาก และมีแสงไฟจากอาคารบ้านเรือนรบกวน แต่พอตกช่วงค่ำทัศนวิสัยดีขึ้นทำให้สังเกตดาวได้หลากหลาย อาทิ ดาวพฤหัสบดี ดาวเต่า ดาวหมีน้อย ดาวหมีใหญ่ และดาวค้างคาว
"ส่วนตัวรู้สึกประทับใจมาก เพราะสัมผัสได้ถึงความสนใจของเด็กๆ เพราะทันทีที่นำกล้องมาติดตั้ง จะมีการเดินมาสอบถาม และเมื่อเปิดโอกาสให้ลองปรับกล้อง หรือหมุนกล้อง ก็ทำทันทีไม่มีเขินอาย เมื่อวิทยากรบรรยายก็ให้ความสนใจ ทำให้บรรยากาศการดูดาวเหมือนการทดลอง ต่างจากเด็กไทยบางกลุ่มที่มีโอกาสแต่ไม่ค่อยเห็นคุณค่า การจัดดูดาวที่ สปป.ลาวในครั้งนี้สำหรับผมจึงถือว่าประสบความสำเร็จ" ดร.อุเทน กล่าวทิ้งท้าย