ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อนระอุ แต่ในค่ายดูดาวบนดอยอินทนนท์ที่มีเยาวชนจากทั่วประเทศกว่าร้อยชีวิตมารวมตัวกันต่างเผชิญความหนาวเย็น แต่มากกว่าความเย็นคือประกายในการเรียนรู้ดาราศาสตร์
"บอกให้น้องเตรียมชุดกันหนาวมาเยอะๆ ไม่มีใครเชื่อเลย" พี่เลี้ยงอาสาประจำค่ายสองของกิจกรรมค่ายเยาวชนคนดูดาวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ปีที่ 9 เผยท่ามกลางอากาศหนาวเย็นของค่ำคืนบนยอดดอยอินทนนท์ระหว่างนำเยาวชนขึ้นไปดูดาวและสำรวจผ่านกล้องโทรทรรศน์
ค่ายเยาวชนคนดูดาวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ปีที่ 9 เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) โดยแบ่งเป็น 2 ค่าย คือค่ายหนึ่งซึ่งจัดในช่วงเดือน ธ.ค. พร้อมๆ กับปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ และค่ายสองซึ่งขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. โดยค่ายสองของปีที่ 9 นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 เม.ย.59 ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ มีเยาวชนจากทั่วประเทศประมาณ 120 คนผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม โดยกิจกรรมแรกสุดนอกเหนือจากกิจกรรมสันทนาการที่มีคั่นเป็นระยะๆ คือการฟังบรรยายเรื่องการดูดาวเบื้องต้น ตามมาด้วยการประดิษฐ์เครื่องวัดมุมอย่างง่ายเพื่อใช้ในกิจกรรมดูดาว
หลังจากฟังทฤษฎีและเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว ในคืนแรกเยาวชนในค่ายซึ่งแบ่งกลุ่มคละโรงเรียนและคละภูมิภาคเป็น 10 กลุ่ม ทั้งหมดต้องเตรียมความพร้อมและอุปกรณ์กันหนาวเพื่อขึ้นไปสังเกตวัตถุท้องฟ้าเบื้องต้น ณ ลานกิจกรรมบนยอดดอยอินทนนท์ ที่อุณหภูมิตอนกลางคืนประมาณ 10 องศาเซลเซียส
การสังเกตวัตถุท้องฟ้าในคืนแรกนั้นเยาวชนได้เรียนรู้การหาตำแหน่ง "ดาวเหนือ" ซึ่งเป็นจุดอ้างอิงบนท้องฟ้าได้ รวมถึงรู้จักกลุ่มดาวที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวสิงโต กลุ่มดาวแมงป่อง และส่องกล้องโทรทรรศน์ดูกระจุกดาวเปิด โดยมีพี่เลี้ยงอาสาและเจ้าหน้าที่ สดร.ตั้งกล้องไว้ให้
เช้าอีกวันเยาวชนในค่ายต้องตื่นตอนฟ้ามืดตอนตี 4 เพื่อร่วมสังเกตทางช้างเผือก และดาวเคราะห์ คือ ดาวอังคารและดาวเสาร์ที่ปรากฏให้เห็นตอนเช้ามืด ซึ่งนายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. บรรยายไว้ว่าปีนี้เป็นปีแห่งดาวเคราะห์ เนื่องจากมีดาวให้เห็นช่วงเช้าได้เกือบ 5 ดวง ยกเว้นดาวพุธ
ในขณะที่ดาวฤกษ์และกลุ่มดาวปรากฎบนฟ้าที่เดิมซ้ำๆ แต่ดาวเคราะห์จะไม่อยู่ประจำที่ โดยดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่มีความสว่างระดับที่ตามองเห็นได้มี 5 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ นอกจากดูดาวและวัตถุท้องฟ้าแล้ว ในช่วงกลางวันยังกิจกรรมสังเกตดวงอาทิตย์ ฝึกตั้งกล้องโทรทรรศน์และใช้งานด้วย
ด้าน น.ส.ตีรานี สุหลง และ นารีนี สูหลง นักเรียน ม.5 โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน จ.ปัตตานี เล่าว่า รู้จักค่ายจากแฟนเพจทางเฟซบุ๊กของ สดร. และเคยมีเพื่อนที่โรงเรียนได้มาเข้าค่ายเดียวกันนี้ ทำให้รู้สึกอยากมา อีกทั้งเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่เธอทั้งสองอยากมาเยือนมาก
ส่วนการดูดาวนั้นตีรานีบอกว่าเคยดูตอนเด็กๆ ขณะที่นารีนีเคยดูบ้างเวลาที่ไปเที่ยวทะเล แต่ไม่เคยดูแบบจริงจัง หรือดูว่ากลุ่มดาวอะไรอยู่ตรงไหน ซึ่งการจินตนาการกลุ่มดาวเป็นรูปร่างยังเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ
นอกจากดูดาวแล้วยังได้ประกอบและตั้งกล้องโทรทรรศน์เอง ซึ่งตีรานีบอกว่าดูจากที่วิทยากรสาธิตแล้วก็ทำตามได้ไม่ยาก ส่วนที่โรงเรียนก็มีกล้องโทรทรรศน์ให้ใช้ แต่ไม่เคยประกอบเอง ล่าสุดโรงเรียนนำมาใช้สังเกตสุริยุปราคาบางส่วน
ตีรานีกล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากค่ายว่า เดี๋ยวนี้แถวบ้านเธอมีบ้านเรือนเยอะขึ้น แสงไฟรบกวนเยอะขึ้น จึงเห็นดาวไม่เยอะ ดังนั้นจะเก็บภาพความทรงจำของภาพดาวที่เห็นกลับไปเล่าให้คนอื่นฟัง และถ้ามีโอกาสดูดาวพร้อมเพื่อนตอนกลางคืนก็จะชี้ให้ดู และอุทานถึงความประทับใจต่อหอดูดาวแห่งชาติว่า "โว้ว ล้ำเลิศ"
ในการคัดเลือกเยาวชนเข้าค่ายนั้นผู้สมัครต้องเขียนเรียงความหรือส่งคลิปวิดีโอว่า หากถูกออกนอกโลกไปดาวเคราะห์ดวงใหม่จะทำอะไร นารีนีบอกว่าจะขึ้นปลูกข้าวเพื่อจะได้มีกิน ส่วนตีรานีบอกว่า จะขึ้นไปถ่ายภาพเซลฟีเพื่อยืนยันว่าเธอได้ไปจริง และสำรวจรอบๆ ดาวเคราะห์เพื่อหาหลักฐานเอากลับมาเล่าให้คนบนโลกฟัง ว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นมีหลายอย่างคล้ายโลก เช่น ออกซิเจน
ส่วน น.ส.รมิตา เฉิดดิลก นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ เล่าถึงเรียงความที่เขียนว่า คิดว่าจะเตรียมพืชพรรณไปปลูกให้ดาวเคราะห์ดวงนั้นเป็นสีเขียว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่โลกว่าดาวเคราะห์สีเขียวนั้นดีอย่างไร และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่โลก
เหตุผลที่รมิตาอยากมาเข้าค่ายเพราะไม่เคยมาเชียงใหม่ และอยากรู้ว่าทำไมหลายคนบอกว่าดูดาวต้องดูที่ดอยอินทนนท์ และทำไมหอดูดาวแห่งชาติจึงตั้งอยู่ที่ดอยอินทนนท์
รมิตาบอกว่าได้เรียนรู้การดูดาว ได้ใกล้ชิดหอดูดาว ได้ใช้อุปกรณ์ดูดาวและได้ตั้งกล้องดูดาวเอง ซึ่งที่โรงเรียนก็มีกล้องโทรทรรศน์ที่ได้รับจาก สดร.และได้ใช้จัดกิจกรรมดูสุริยุปราคาโดยนักเรียน ม.5
สิ่งที่ยากสำหรับรมิตาคือคำศัพท์เทคนิคที่ใช้ในหอดูดาว ซึ่งเธอได้เยี่ยมชมห้องควบคุม และได้เห็นว่าหอดูดาวมีอะไรบ้าง มีกล้องขนาดใหญ่ 2.4 เมตร ซึ่งเป็นกระจกเหมือนกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กแต่ใหญ่กว่า แต่ก่อนหน้านี้เธอก็เคยไปดูหอดูดาวที่อื่น คือหอดูดาวของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ตั้งอยู่บนเขาที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่ากิจกรรมค่ายเยาวชนคนดูดาวนี้เริ่มต้นจากค่ายเพื่อให้โอกาสแก่เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ และต่อมาได้ขยายเป็นค่ายเพื่อเยาวชนภาคใต้และภาคเหนือ แต่มีกระแสเรียกร้องมากจนกระทั่งปีที่ 3 ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วประเทศ
รูปแบบกิจกรรมในค่ายนั้นศุภฤกษ์กล่าวว่า เป็นกิจกรรมเพื่อ "จุดประกาย" ความสนใจในดาราศาสตร์ โดยไม่ได้เน้นเนื้อหาวิชาการที่หนักมาก แต่กิจกรรมมีความ "โหด" ในตัว เนื่องจากเยาวชนต้องเผชิญอากาศที่หนาวเหน็บและความดันอากาศที่ต่ำกว่าพื้นราบ และยังเป็นกิจกรรม "นอนดึก-ตื่นเช้า" เพราะดาวจะปรากฏให้เห็นเฉพาะฟ้ามืด
ส่วนการสังเกตดวงอาทิตย์ในช่วงกลางวันนั้น ศุภฤกษ์กล่าวว่าเพื่อฝึกการเป็นคนช่างสังเกต โดยเมื่อส่องดูดวงอาทิตย์จะเห็นจุดดำๆ ซึ่งเป็น "จุดมืด" แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่มีขนาดใหญ่กว่าโลกมาก และในค่ายจะเปรียบเทียบให้เห็นว่าใหญ่กว่าแค่ไหน
"เมื่อเด็กมาถึงค่ายสิ่งแรกที่เราจะสอนเลยคือการดูดาวเบื้องต้น ในค่ายนี้เด็กต้องรู้จักทรงกลมฟ้า ดูดาวได้และใช้กล้องโทรทรรศน์เป็น เด็กๆ อาจจะเคยใช้กล้องส่องดาวมาบ้าง แต่มักไม่เคยได้ตั้งกล้องเอง ที่นี่เราจะสอน ผู้ใหญ่อาจจะกลัวกล้องพังเลยไม่ให้เด็กได้จับ แต่อุปกรณ์เหล่านี้ออกแบบมาเพื่อใช้ ดังนั้นไม่พังง่ายๆ อยู่แล้ว และเรายังพาเด็กไปชมหอดูดาวแห่งชาติ เพื่อให้เด็กได้เห็นว่าดาราศาสตร์ในเชิงลึกนั้นเป็นอย่างไร" ศุภฤกษ์กล่าว