xs
xsm
sm
md
lg

ขนทัพความรู้ดวงดาว สอนเด็กลาวรักดาราศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับกิจกรรมอบรมดาราศาสตร์อาเซียน โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ในครั้งนี้ขนทัพความรู้แห่งดวงดาวไปให้ความรู้แก่เยาวชนประเทศเพื่อนบ้านอย่าง "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" ได้รู้จักและตระหนักในความสำคัญกันถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ศูนย์กลางแห่งความรู้ ณ เมืองเวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 4-5 เม.ย. 2559

แม้ดาราศาสตร์จะดูเป็นเรื่องหนัก ทว่าบรรยากาศตลอด 2 วันของการอบรมกลับเป็นไปอย่างม่วนซื่น โดยเฉพาะวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันอบรมดาราศาสตร์เบื้องต้น ที่ได้นักวิจัยและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์จาก สดร. มาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ตลอดช่วงเช้าในภาคทฤษฎีและช่วงบ่ายในภาคปฏิบัติให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่มาเข้าร่วมเกือบ 200 ชีวิต ซึ่งกิจกรรมที่จัดมีด้วยกัน 3 ฐาน ได้แก่ ฐานดูดาวเบื้องต้น ฐานรู้จักดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ และฐานฝึกใช้กล้องโทรทรรศน์โดยในช่วงเช้าจะเป็นการอบรมภาคทฤษฎี และภาคบ่ายเป็นการอบรมภาคปฏิบัติ โดยจะแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มให้เข้าฐานสลับกันเพื่อการเรียนรู้ที่ทั่วถึง
เข้าฐานฝึกใช้กล้องท่ามกลางอากาศร้อนระอุ
สำหรับฐานแรกที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมสังเกตการณ์ เป็นฐานสอนการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ซึ่งมีให้ได้ทดลองใช้ถึง 3 ตัวด้วยกัน โดยกล้องทั้งหมดเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ทาง สดร.เคยมอบให้กับโรงเรียนพอนสะหวัน ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มต้นการสอนตั้งแต่ความเป็นมาของกล้องโทรทรรศน์, ส่วนประกอบภายใน ไปจนถึงวิธีใช้ที่จะให้อิสระแก่นักเรียนได้เลือกส่องอย่างเต็มที่ โดยกิจกรรมนี้จะตั้งอยู่ที่ชั้นล่างในชายคาของอาคารท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุ ทั้งนักเรียนและวิทยากรจึงอยู่ในสภาพส่องกล้องไปปาดเหงื่อไปแต่ก็ไม่มีใครย่อท้อซ้ำยังมึเสียงหัวเราะดังลอดออกมาอยู่เป็นระยะ

จนทีมข่าวอดไม่ได้ที่จะเดินเข้าไปพูดคุยกับเยาวชนลาวในฐานว่ากำลังส่องดูอะไร แต่ก็ได้คำตอบแบบเดียวกันว่า "ดาวเสา" นำความฉงนมาให้จนต้องส่องดูด้วยตาตัวเอง จนพบว่าที่เยาวชนพูดมาเป็นเรื่องจริง เพราะพวกเขากำลังส่องดูเสาของดาวเทียม แทนดาวบนฟ้าที่ไม่เห็นในเวลากลางวัน เป็นความขบขันบนการเรียนรู้ที่สะท้อนตัวตนของชาวลาวได้เป็นอย่างดี
เยาวชนสาวชาวลาวใช้กล้องสังเกตเสาที่อยู่ไกลอย่างระมัดระวัง
ต่อแถวใช้กล้องอย่างเป็นระเบียบ
บรรยากาศการใช้กล้องเป็นไปอย่างสนุกสนาน
กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงเหมาะแก่การดูดาวของคนเป็นจำนวนมาก เพราะมีความทนทาน ใช้งานง่าย
นางนก วิไลพัน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนหนองบอน หนึ่งในเยาวชนที่ร่วมใช้กล้องโทรทรรศน์ กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นมากกับฐานนี้ เพราะเธอไม่เคยสัมผัสกับกล้องโทรทรรศน์ของจริงมาก่อน เคยเห็นแต่จากหนังสือเรียนและรูปในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อมาสัมผัสกับของจริงก็พบว่าใช้ยากมากและค่อนข้างซับซ้อน มือใหม่อย่างเธอค่อนข้างเกร็ง แต่ในที่สุดก็ใช้ได้เพราะวิทยากรให้โอกาสจับ ลองผิดลองถูกอย่างเต็มที่ และคอยสอนซ้ำให้เสมอเมื่อเธอไม่เข้าใจ
นางนก วิไลพัน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนหนองบอน
ฐานต่อมาที่จะพาไปชมเป็นฐาน planet walk หรือฐานรู้จักดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ฐานนี้เป็นฐานที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลาและต้องอาศัยทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนได้รู้ว่าดาวเคราะห์แต่ละดวงเป็นอย่างไร มีขนาด มีระยะห่างเท่าใด เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ที่ถือเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ โดยทีมข่าวได้ร่วมกิจกรรมนี้ไปพร้อมๆ กับ 2 หนุ่มสาวเยาวชนลาวอย่าง นางแสงสุลี เพชรพะวานทอง และท้าววิทยาศาสตร์ ยาทอตู้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ตั้งแต่เริ่มคิดเลขว่าดาวพุธมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่าใด ไปจนถึงการปั้นดินน้ำมันให้ได้ตามสัดส่วนเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ที่ปั้นขึ้นมาจากดินน้ำมันก้อนใหญ่
ลูกโลกดินน้ำมันและตลับเมตร อุปกรณ์สำคัญของฐานรู้จักดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
ขนาดดาวพุธ (เม็ดเล็กๆ เท่าจุดปากกา) เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์
ก่อนจะนำดินน้ำมันตามขนาดดาวเคราะห์ดวงต่างๆ ที่ปั้นได้ ลงมายังลานโล่งด้านล่าง เพื่อเริ่มทดลองโยงเชือกความยาวจากดวงอาทิตย์ไปหาดาวเคราะห์ทีละดวงไล่ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูนที่กินความยาวทั้งหมดนับสิบๆ เมตร เพื่อให้เยาวชนเกิดความรู้จากการเปรียบเทียบด้วยตัวเองว่าดาวเคราะห์แต่ละดวงมีขนาด และอยู่ห่างกันเท่าใด
ก้อนดินน้ำมันหลากสีแทนดวงอาทิตย์ ถูกโยงด้วยเชือกวัดระยะเพื่อโยงไปยังดาวต่างๆ แสดงให้เห็นอัตราส่วนระยะห่างและขนาดจริง
ล้อมวงฟังคำอธิบายอย่างสนใจ
นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
เยาวชนประชุมกันเพื่อคำนวณตัวเลขหาคำตอบให้กับดวงดาวในแต่ละข้อ
มีเจ้าหน้าที่คอยชี้แจงและอธิบายอย่างใกล้ชิด
เยาวชนประชุมกันเพื่อคำนวณตัวเลขหาคำตอบให้กับดวงดาวในแต่ละข้อ
แสงสุลี เผยว่า เธอชื่นชอบฐาน planet work มาก เพราะการทำกิจกรรมไม่ถึงชั่วโมงในฐานนี้ทำให้เธอเข้าใจระบบสุริยะมากขึ้นจริง เพราะการเรียนในหนังสือบอกแค่เพียงข้อมูล ไม่ได้เปรียบเทียบให้เธอเห็นว่าจริงๆ แล้วดาวแต่ละดวงห่างกันเท่าใดหรือเล็กใหญ่เท่าใดในขณะที่กิจกรรมนี้ช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการช่วยคลี่คลายความสงสัยตั้งแต่เด็กของเธอให้หมดไป ซึ่งเธอจะนำไปสอนให้กับรุ่นน้องต่อเพราะกิจกรรมนี้ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่มีกระดาษที่บรรจุข้อมูลต่างๆ ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ดินน้ำมัน ไม้บรรทัดและสายวัดที่มีความยาวมากๆ ก็สามารถทำได้
นางแสงสุลี เพชรพะวานทอง และนายวิทยาศาสตร์ ยาทอตู้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาฟิสิกส์ศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว
เยาวชนลาวนับร้อยคนจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวเข้าร่วมกิจกรรม
ส่วนฐานสุดท้ายเป็นฐานเชิงวิชาการในห้องบรรยาย แต่เยาวชนหลายคนกลับบอกว่าชอบฐานนี้มากที่สุด เพราะเป็นฐานที่สอนการใช้แผนที่ดาว ที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดสำหรับคนเริ่มต้นดูดาว โดยเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. จะแจกแผนที่ดาวฉบับภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษให้เยาวชนคนละ 1 ชิ้น และเริ่มสอนตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่เป็นการสังเกตขีดต่างๆ จากนั้นจึงเลื่อนหาวันที่ที่จะดูดาว และหมุนแผนที่เวลาซึ่งมีขนาดเล็กกว่าแต่อยู่ด้านหน้าให้ตรงกัน จากนั้นตั้งแผนที่ให้ตรง สังเกตทิศให้ถูกต้องก็จะรู้ว่าดาวในค่ำคืนนั้นจะมีกลุ่มดาวอะไรบ้าง
เครื่องวัดมุมอย่างง่าย
นอกจากนี้ยังสอนทำเครื่องวัดมุมอย่างง่าย เพื่อใช้ระบุพิกัดว่าดาวที่สังเกตอยู่นั้นอยู่ในพิกัดที่เท่าใด โดยวิทยากรจะแจกกระดาษแข็งและกระดาษโค้งครึ่งวงกลมมีแถบระบุมุมให้กับนักเรียนคนละชุด จากนั้นจะเป็นขั้นของงานฝีมือ นักเรียนจะต้องใช้กาวติดแผ่นกระดาษทั้งสองให้ติดกัน จากนั้นเจาะรูเล็กๆ และร้อยด้ายขาวที่ปลายข้างหนึ่งยึดกับคลิปเพื่อดึงไปด้ทนหลังแล้วติดเทปกาว ส่วนด้านล่างของปลายด้ายอีกข้างให้ผูกกับน๊อตเพื่อถ่วงน้ำหนัก ก่อนจะติดหลอดกาแฟที่สันด้านบนของกระดาษถือเป็นอันเรียบร้อย สำหรับการใช้ก็ทำได้ง่ายเพียงแค่ยกหลอดให้ตรงกับดวงตา มองผ่านรูหลอดกาแฟไปที่ตำแหน่งดวงดาวที่สังเกต ซึ่งระหว่างนั้นน๊อตจะเบนไปตามองศา ทำให้สามารถอ่านค่าพิกัดได้
กระดาษรูปครึ่งวงกลมใช้บอกพิกัดดาว
วิธีการใช้เครื่องวัดมุมอย่างง่าย เพียงแค่มองผ่านปลายหลอดไปที่ดาวที่ต้องการ แล้วอ่านองศาที่เบนไปจากการเคลื่อนที่ของเส้นด้าย
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. สอนเยาวชนลาวประดิษฐ์เครื่องวัดมุมอย่างง่าย
สอนการใช้แผนที่ดาว
สอนการเรียกทิศ
อุปกรณ์สำหรับทำเครื่องวัดมุมอย่างง่าย
ร่วมกันทำเครื่องวัดมุมอย่างง่ายอย่างขะมักเขม้น
นางลัดดานี พีละเกด นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนม.ส.หนองบอน ที่นั่งประดิษฐ์อุปกรณ์วัดมุมง่ายๆ อย่างขะมักเขม้น เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าอุปกรณ์ง่ายๆ แบบนี้ก็สามารถนำมาใช้วัดมุมดาวได้ ส่วนแผนที่ดาวก็เป็นครั้งแรกที่ได้ใช้เช่นกัน แม้ปกติจะชอบดูดาว แต่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าดาวที่เธอเห็นบนท้องฟ้าคือดาวอะไร จากนี้เมื่อหด้รับแผนที่ดาวไปและมีโอกาสได้ดูดาวก็จะฝึกใช้ให้คล่องมากขึ้น
นางลัดดานี พีละเกด นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนม.ส.หนองบอน
ทั้งนี้โครงการอบรมด้านดาราศาสตร์ระดับนานาชาติในภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้กิจกรรม SEAROAD ตามที่ สดร.ได้รับเลือกจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาดาราศาสตร์ (OAD) ภายใต้การกำกับของสหพันธ์ดาราศาสตร์ ให้ไทยเป็นเจ้าภาพศูนย์ประสานงานภูมิภาคเพื่อพัฒนาดาราศาสตร์ในภูมิภาค โดยการจัดอบรมที่ สปป.ลาวถือเป็นครั้งแรกของการดำเนินงาน เนื่องจากราชอาณาจักรไทยและ สปป.ลาวมีความร่วมมือทางดาราศาสตร์กันอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดนิทรรศการคาราวานวิทยาศาสตร์ รวมถึงการมอบสื่อการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์มาบ้างแล้ว เพื่อสร้างความตระหนักในการศึกษาด้านดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนามและพม่าในโอกาสถัดไป










กำลังโหลดความคิดเห็น