กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกทัพคาราวานวิทยาศาสตร์ ขนนานากิจกรรมความรู้คู่ความสนุก ร่วมฉลองวันเด็กแห่งชาติลาวเป็นปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย. 59 ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นครหลวงเวียงจันทน์ นักเรียน-นักศึกษา-ครูลาวร่วมงานคึกคัก
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช. ), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สสวท.) และ สำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) จัดกิจกรรม “คาราวานวิทยาศาสตร์ไทย-สปป.ลาวปี 2" ระหว่างวันที่ 1 – 3 มิ.ย.59 ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์โดย อพวช. เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับ 10 ปี เพื่อนำความรู้ไปสู่เยาวชนถึงสถานที่ ผ่านกิจกรรมและการเล่นสนุกซึ่งจะทำให้เยาวชนได้เห็นและสัมผัส ถึงความน่าสนใจของวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง ซึ่งตรงกับความพยายามในการสร้างความตระหนักในวิทยาศาสตร์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ได้มาซึ่งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนประเทศซึ่งเยาวชนถือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุด ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติลาวซึ่งตรงกับวันที่ 1 มิ.ย.ของทุกปี ทางกระทรวงฯ จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้นำกิจกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มาจัดให้กับเยาวชนลาว
ด้าน ศ.ดร.บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง สปป.ลาว กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของงานคาราวานวิทยาศาสตร์ไทย-ลาว มาจากการลงนามความร่วมมือไทย-ลาว ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีการประชุมในระดับผู้บริหารมาแล้วหลายครั้ง โดยมีความร่วมมือกันใน 14 โครงการ ซึ่งก่อนหน้าที่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือในหลากหลายด้าน ตั้งแต่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การมอบกล้องดูดาวและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ การจัดงานเพื่อเสริมสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์เช่นครั้งนี้ และล่าสุดคือการติดตั้งโทรมาตรเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม
สำหรับนิทรรศการและกิจกรรมที่ไทยนำมาร่วมจัดแสดงมีด้วยกันหลายส่วน โดยในส่วนของ อพวช. ได้นำ 2 นิทรรศการใหม่ ได้แก่ นิทรรศการ “Win in Case” ซึ่งเป็นนิทรรศการแบบจับต้องได้มาให้เยาวชนได้เรียนรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์ในเรื่องของกลศาสตร์ แม่เหล็กและไฟฟ้า ปฏิกิริยาตอบสนองและการมองเห็น คณิตศาสตร์ แสง สี และเสียง ด้วยการเล่นและกานทดลองจากชิ้นงานจำนวนกว่า 60 ชิ้น ส่วนอีกนิทรรศการคือ “Enjoy Science careers : สนุกกับอาชีพวิทย์” นิทรรศการที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา (STEM Education) โดยนำอาชีพที่น่าสนใจ 10 อาชีพ อาทิ นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม นักคิดค้นยา วิศวกรชีวการแพทย์ และนักพัฒนาซอฟแวร์ มาให้เยาวชนได้เรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางไปสู่อาชีพเหล่านั้น
ส่วนบูธของ สวทช. ได้นำกิจกรรม "มหัศจรรย์พลาสติก" ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เยาวชนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การสังเกต การแยกประเภทของพลาสติก และยังมีโซนการทดลองที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ประดิษฐ์พวงกุญแจจากพลาสติกรีไซเคิลและนำกลับบ้านเป็นที่ระลึก ด้านสสวท. นำกิจกรรมเวิร์กช็อปจำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ STEM-เกมถอดรหัส, Reach for the sky สูงเสียดฟ้า, Fun Math with Game, ดินแดนหลากสี และ KEN KEN, ร่อนลงสู่ดวงจันทร์, โครงสร้างจากแยลลี่ และการสร้างเรือของเล่น มาให้เยาวชนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในหลากหลายแง่มุม คล้ายคลึงกับบูธของ สสส. ที่นำนิทรรศการ “รู้ทันภัย แอลกอฮอล์” มาจัดเพื่อให้เยาวชนได้รู้ถึงข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของทั้งคนไทยและคนลาว
สำหรับเยาวชนผู้มาร่วมงานอย่าง ท้าวอานุวัด จินดาหัด นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนชันไซ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ชอบวิทยาศาสตร์เพราะเรียนในโรงเรียนน่าเบื่อ ชอบเล่นกีฬามากกว่า โดยเฉพาะการว่ายน้ำ แต่เมื่อติดตามป้าซึ่งเป็นครูมาร่วมงานก็ได้เห็นว่ามีอีกหลายสิ่งที่ไม่เคยเห็น และรู้สึกสนใจในหลายๆ บูธโดยเฉพาะปุ่มกดเสียงที่ช่วยทดสอบความจำ และบูธกล้องเรือดำน้ำที่สอนเกี่ยวกับหลักการสะท้อนหักเหของแสง จึงตั้งใจว่าอีก 2 วันที่เหลือของการจัดคาราวานวิทยาศาสตร์จะติดตามป้ามาทำงานด้วย เพราะยังมีอีกหลายบูธที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเพราะคนเยอะเกินไป
ท้าวโนว่า จันไซ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาฟิสิกส์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กล่าวว่า กิจกรรมที่คาราวานวิทยาศาสตร์นำมาจัดแสดงในครั้งนี้มีประโยชน์สำหรับการเรียนของเขามาก โดยเฉพาะเกมส์คณิตศาสตร์ที่กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ และเครื่องมือการทดลองเกี่ยวกับแม่เหล็กและไฟฟ้าต่างๆ ที่ทำให้เข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นเพราะเคยเรียนแต่
ทฤษฎี
"ชอบหลายอย่างเลยเช่นพวกอุปกรณ์ทางไฟฟ้า ความดันไฟฟ้า แว่นที่ทำให้เห็นสีต่างกัน สิ่งเหล่านี้ที่ลาวไม่มี แต่การได้มาเห็นมันเป็นประโยชน์ต่อคนที่จะจบไปเป็นครูแบบผม เพราะผมสามารถประยุกต์ทำของแบบนี้ด้วยสิ่งของง่ายๆ ที่เรามีเพื่อนำไปสอนนักเรียนในอนาคตได้ แต่น่าเสียดาย นิทรรศการปีนี้น้อยไปหน่อย ดาราศาสตร์หายไป หลายๆอย่างก็หายไป มันเลยดูไม่อลังการเท่าปีที่แล้วที่ผมมา แต่ถ้าพูดถึงประโยชน์ที่ได้ก็แตกต่างกัน ถ้ามีจัดปีหน้าอีกผมอยากให้นำนิทรรศการที่เกี่ยวกับการศึกษามาเยอะๆ แล้วก็อยากให้เอานักเรียนครูไทยมาแลกเปลี่ยน เราจะได้รู้ว่าครูไทยเขามีอะไรดีๆ มาแลกเปลี่ยนกัน" ท้าวโนว่า กล่าวทิ้งแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้งานคาราวานวิทยาศาสตร์ไทย-ลาว ยังคงจัดขึ้นต่อเนื่องอีก 2 วันไปจนถึงวันที่ 3 มิ.ย.59 ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว