หากจะพูดว่าในช่วง 2 ปีนี้เป็นยุคทองของวงการวิทยาศาสตร์ลาวก็คงไม่ผิด เพราะหลังจากการลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างผู้บริหารระดับสูงของไทยและลาว ก็เกิดกิจกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ตลอดจนความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่าง 2 ดินแดนเพิ่มขึ้นมากมาย รวมไปถึงแผนจัดทำพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกขึ้นในนครหลวงเวียงจันทน์โดยมีไทยเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งล่าสุดได้มีการสัมมนาเชิงปฏิ้บัติการเพื่อเฟ้นหาวิสัยทัศน์และพันธกิจของพิพิธภัณฑ์ฯ
ในโอกาสที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อสังเกตการณ์การจัดงานคาราวานวิทยาศาสตร์ไทย-ลาว ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มิ.ย. 59 โดยความร่วมมือระหว่าง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช. ) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สสวท.) และ สำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งในช่วงหนึ่งของงานคาราวานฯ ได้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดมความคิดแก่ข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์, ครูและนักศึกษาชาวลาว ในหัวข้อ “How to develop Science Museum” เพื่อหาแนวทางการพัฒนาองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของ สปป.ลาว ให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในประเทศให้มากที่สุด โดยมีผู้บริหาร อพวช. เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมด้วยตัวเอง
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รักษาการผู้อำนวยการ อพวช.กล่าวว่า สปป.ลาว มีความประสงค์ที่จะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หลักของประเทศมานาน เมื่อมีการลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ไทย-ลาว ตั้งแต่ช่วงปลายปี'57จึงบรรจุแผนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติลาวโดยมี อพวช.ของไทยเป็นที่ปรึกษาลงไปใน 14 โครงการด้านวิทยาศาสตร์ที่จะทำร่วมกันด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการประชุมเพื่อแสดงความคืบหน้าโครงการ 3-4 ครั้ง ส่วนครั้งนี้จะเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์การการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ฯ ของไทยและต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จ พร้อมกับการเปิดเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องของ สปป.ลาว ได้วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง อุปสรรค และโอกาส หรือ (SWOT) ที่มองเห็นภายในประเทศ เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของสปป.ลาว ให้มีความชัดเจน
“การสัมมนาวันนี้เราเริ่มจากการปูพื้นให้เขารู้ว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์คืออะไร ทำไมต้องมี ประโยชน์ที่แท้จริงของมันคืออะไร จากนั้นจึงเปิดวิดิทัศน์ให้เขาเห็นว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ของไทยเป็นอย่างไร เราจะบอกเล่าบทเรียนหรือข้อผิดพลาดของเรา เขาจะได้ไม่พลาดอีกในฐานะที่ อพวช. จัดตั้งมานานกว่า 16 ปี จากนั้นจึงวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค ของลาวที่เรามองเห็นให้เขาฟัง แล้วจึงเปิดการระดมความคิดว่าพวกเขาอยากให้พิพิธภัณฑ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ควรเป็นไปในรูปแบบใดและควรมีภาระหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งก็คือวิสัยทัศน์และพันธกิจผ่านการพูดคุย ระดมความคิดแล้วเขียนลงกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วให้นำเสนอหน้าชั้น จากนั้นทุกคนก็จะมีส่วนร่วมอีกครั้งด้วยการนำสติกเกอร์ไปปิดให้คะแนนในหัวข้อที่ตัวเองเห็นด้วย ซึ่งทำให้เราได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวิสัยทัศน์มา 3 ประการ ได้แก่ เป็นต้นแบบความคิดในการพัฒนาวิทยาศาสตร์แบบต่อยอด, เป็นแหล่งรวบรวมความรู้วิทยาศาสตร์และสังคม และเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญา ซึ่งเราจะได้รวบรวมมติเหล่านี้ไปเสนอแก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของลาวต่อไป”
นายสุรวงศ์ วงษ์ศิริ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของลาว หากได้สร้างขึ้นจริงมีแนวโน้มที่จะเน้นหนักไปที่ด้านธรรมชาติวิทยา เพราะจุดแข็งของ สปป.ลาว คือ ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่จัดอยู่ในระดับสมบูรณ์ เนื่องจากลาวยังมีทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า จุลินทรีย์เฉพาะถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ สปป.ลาว ที่ร่วมกันกับทางการของประเทศจีนในการจัดเก็บ ซึ่งเป็นผลดีต่อการนำตัวอย่างมาเป็นส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
สำหรับบทบาทของอพวช. นายสุรวงศ์ กล่าวว่า จะให้การช่วยเหลือในหลายแง่ ตั้งแต่การส่งนักวิชาการเข้ามายัง สปป.ลาว เพื่อประสานความร่วมมือเพื่อเก็บตัวอย่าง และให้ความช่วยเหลือด้านการวางแผน (Master Plan) เพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่รูปทรงอาคาร ลักษณะห้องจัดนิทรรศการ ลักษณะนิทรรศการ ธีมนิทรรศการ ไปจนถึงลักษณะการให้บริการต่างๆ โดยตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการส่งเขียนแบบ อพวช. จะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ทาง สปป.ลาวทั้งหมด เพื่อให้พื้นที่ 6,000 ตารางเมตร บริเวณเขต 13 ในนครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งคาดว่าจะเป็นสถานที่ตั้งฯ เป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ที่สร้างประโยชน์และคุ้มค่ากับการลงทุนของรัฐบาลลาวฯ มากที่สุด
สำหรับรูปแบบของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ลาว ที่ทาง อพวช.ได้วางรูปแบบให้จะแบ่งเป็น 2 โซนด้วยกัน ได้แก่ โซนเด็กและเด็กเล็ก ที่จะบรรจุนิทรรศการที่น่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับอากาศ, วิทยาศาสตร์พื้นฐาน, หอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์, หอดูดาว และส่วนจัดแสดงเชิงภูมิปัญญา ส่งนอีกโซนหนึ่งจะเป็นโซนโลกธรรมชาติ ที่บรรตจุเนื้อหาของความหลากหลายทางชีวภาพ, หินแร่, สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, ภัยพิบัติ, สัตว์และพืชที่พบเฉพาะในลาว, เซลล์, หุ่นยนต์ รวมไปถึงศูนย์ค้นคว้า, ห้องโชว์การแสดงวิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง และร้านขายของที่ระลึก
“ก่อนหน้านี้มีการประชุมมาแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกๆ เป็นการแสดงพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของไทยให้เขาดู ให้เขารู้ว่าหัวใจสำคัญของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งหลักๆ จะต้องมีตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยา ซึ่งจุดนี้ลาวไม่น่าเป็นห่วง ธรรมชาติดี ตัอย่างเยอะ เหลือแค่การส่งเจ้าหน้าที่มาสอนการสตัฟฟ์สัตว์ การจัดท่วงท่าให้เหมือนของจริงในธรรมชาติ นอกจากนี้เขายังมีทุ่งไหหินที่พบไหและกระดูกมนุษย์อายุกว่า 4,000 ปี มีเหมืองทอง เหมืองแร่ มีภูมิปัญญาที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของเครื่องมือ เครื่องใช้ สิ่งทออันโดดเด่น ซึ่งสามารถชูประเด็นเป็นจุดขายของพิพิธภัณฑ์ได้ ส่วนอีกด้านคือวิทยาศาสตร์ที่สร้างเสริมแรงบันดาลใจ ซึ่งส่วนนี้ลาวเล็งที่จะสร้างท้องฟ้าจำลอง โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันวิจัยดาราสาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ของไทย ภาพรวมพวกนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดตั้งพิพิภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของ อพวช. ได้มองภาพรวมของลาวไว้หมดแล้ว เหลือแต่ว่าแผนที่เราเสนอลาวจะยอมรับหรือมีงบประมาณนำไปดำเนินการต่อได้หรือไม่ ซึ่งการเวิร์คช็อปวันนี้ก็ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่พวกเขาทำให้พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของเขาฯ เป็นรูปร่างชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการระดมสมองเพื่อหาแนวทางของพันธกิจและวิสัยทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ ส่วนการดำเนินการจะเป็นไปได้ตามแผนหรือไม่นั้นอยู่ที่ดุลยพินิจของรัฐบาล สปป.ลาว” นายสุรวงศ์ กล่าวทิ้งท้าย