xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมจ้ะ? ปล่อยปลาดุก 100 โลลงแหล่งน้ำนั้นเป็นบาป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถือเป็นกิจกรรมบุญยอดฮิตเลยทีเดียว สำหรับ "การปล่อยปลา" ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ ช่วยให้แคล้วคลาด ทั้งที่ความจริงอาจได้บาปแทนได้บุญ เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำเผยว่า เป็นการทำลายระบบนิเวศทางอ้อมจนอาจทำให้สัตว์น้ำประจำถิ่นสูญพันธุ์

จากกรณีที่เพจดังในโลกโซเชียลได้เผยแพร่คำประกาศชวนอนุโมทนา ว่าจะมีปล่อยปลาจำนวนมหาศาลของพระชื่อดังรูปหนึ่ง ทำให้เกิดเสียงอื้ออึงในวงการนักอนุรักษ์ว่าการทำในลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศมากกว่าการสร้างบุญ ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำเพื่อสอบถามถึงความเหมาะสมทางวิชาการ

ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การปล่อยปลาลงแหล่งน้ำธรรมชาติที่หลายคนคิดว่าเป็นการทำบุญ แท้ที่จริงแล้วเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับระบบนิเวศ 100% เพราะนอกจากจะทำให้ปลาที่ปล่อยลงไปตายกับมือตัวเองแล้ว ยังทำให้ปลาประจำถิ่นพลอยได้รับผลกระทบที่อาจร้ายแรงจนทำให้เกิดการสูญพันธุ์

ผศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า การปล่อยปลาตามความเชื่อมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ การปล่อยปลาเล็กและการปล่อยปลาใหญ่ โดยการปล่อยปลาเล็กในวัยลูกปลา เกือบ 100% จะตายทั้งหมด เพราะปลาตัวเล็กยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เมื่อถูกปล่อยลงแหล่งน้ำไม่ถูกน้ำซัดตายก็จะกลายเป็นอาหารปลาใหญ่ทั้งหมด ซ้ำร้ายการปล่อยลูกปลายังกลายเป็นตัวเลือกที่ประชาชนนิยมด้วย เพราะมีราคาถูกกว่าปลาใหญ่ ทำให้ในจำนวนเงินที่เท่ากันสามารถปล่อยปลาได้จำนวนตัวมากกว่าตามหลักจิตวิทยา

ส่วนอีกรูปแบบเป็นการปล่อยปลาตัวใหญ่ การปล่อยปลาลักษณะนี้ ผศ.ดร.อภินันท์ เผยว่าปลามีอัตราการรอดสูงกว่า ทว่าก็สร้างปัญหาให้กับแหล่งน้ำที่ปล่อยมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะการปล่อยปลาใหญ่คราวละมากๆ ในครั้งเดียว เนื่องจากปลาที่คนนิยมเช่น ปลาดุกบิ๊กอุย ปลาดุกรัสเซียเป็นปลาต่างถิ่น ซึ่งมีความอึด และมีความสามารถในการเอาตัวรอดสูง ปลาเหล่านี้จะไปแย่งที่อยู่ แย่งที่กินของปลาเฉพาะถิ่น มิหนำซ้ำยังกินปลาไทยจนหมด เป็นเหมือนการซ้ำเติมระบบนิเวศวิทยาแม่น้ำเขตร้อน ที่ในหนึ่งกลุ่มประชากรเช่นแม่น้ำแห่งหนึ่ง มีจำนวนชนิดปลาเยอะแต่จำนวนตัวต่อชนิดน้อยให้แย่ลงไปจากเดิมอีก จนในระยะหลังตัวเลขจากงานวิจัยจึงพบปลาที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive Species) มากขึ้น ในขณะที่ปลาไทยมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ

"สมมติเหมือนอยู่ดีๆ พ่อคุณเอาเมียน้อยเข้ามาอยู่ในบ้าน แย่งที่กิน แย่งที่อยู่ และอีกไม่นานมันก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายคุณอยู่ไม่ไหว ต้องหนีไปอยู่ที่อื่นหรือตายไป ฉันใดฉันนั้น เพราะปลาต่างถิ่นและปลาไทยต่างก็กินอาหารเหมือนๆกัน อาศัยในที่เหมือนๆกัน ทางนิเวศวิทยาเรียกลักษณะแบบนี้ว่าการทับซ้อน (Niche Overlap) เมื่อปลาเรากินไม่ทัน ก็จะไม่เกิดการเจริญพันธุ์ เป็นเหตุให้สูญพันธุ์เป็นผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกันไปหมด แล้วแบบนี้จะเรียกว่าปล่อยปลาทำบุญได้อย่างไร เป็นการสร้างบาปชัดๆ ส่วนถ้าจะให้แนะนำวิธีการปล่อยปลาที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ผมแนะนำครับว่าไม่ต้องปล่อย ทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ดีที่สุด" ผศ.ดร.อภินันนท์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ลูกปลาดุกขนาดเล็ก เป็นสัตว์ที่ประชาชนนิยมเลือกปล่อย
ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่









กำลังโหลดความคิดเห็น