xs
xsm
sm
md
lg

"แต้วแร้วท้องดำ" โผล่ป่ารอบ 3 ปี นักอนุรักษ์จี้หามาตรการขยายพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นกแต้วแร้วท้องดำ (ภาพโดย นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง)
คนรักนกเฮ! “แต้วแร้วท้องดำ” ปรากฏตัวอีกครั้งหลังหายจากป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ร่วม 3 ปี นักอนุรักษ์จี้กรมอุทยานฯ เร่งหามาตรการดูแล-ขยายพันธุ์ หวั่นเป็นแต้วแร้วท้องดำตัวสุดท้าย (ของจริง)

หลังมีการรายงานว่าเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ลงพื้นที่สำรวจประชากรนกแต้วแร้วท้องดำในช่วงสงกรานต์ ได้พบกับนกแต้วแร้วท้องดำแพศเมีย จำนวน 1 ตัว หลังหายไปจากธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ นานร่วม 3 ปี จนนักอนุรักษ์ต่างปักใจเชื่อว่านกแต้วแร้วท้องดำ หนึ่งในสัตว์สงวนของไทยได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

จากข่าวดีดังกล่าว ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยังนักปักษีวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามถึงความรู้สึกและแนวทางในการอนุรักษ์

นายวัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เจ้าของรางวัลแฟนพันธุ์แท้ดูนก เผยว่า การพบนกแต้วแร้วท้องดำถือเป็นข่าวดี แต่ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย เพราะเขามีความเชื่อมาโดยตลอดว่ามันยังไม่สูญพันธุ์แค่ไม่มาปรากฏตัวเนื่องจากถูกรบกวน ฉะนั้นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไปคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร จะเปิดโอกาสให้มีการทำธุรกิจแบบรบกวนธรรมชาติให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกหรือไม่ เพราะไม่มีใครทราบว่าการพบครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่คนไทยจะได้ช่วยกันอนุรักษ์นกแต้วแร้วท้องดำไว้ให้ยังคงอยู่

เช่นเดียวกับ นายอุเทน ภุมรินทร์ นักวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ที่เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รู้สึกดีใจเมื่อได้ยินข่าว เพราะการค้นพบล่าสุดโดยสมาคมอนุรักษ์นกที่มีความร่วมมือกับอีกหลายภาคส่วนเมื่อประมาณ 1 ปีก่อน ไม่พบแม้แต่เสียงนกแต้วแร้วท้องดำ การพบนกเพศเมียในครั้งนี้จึงถือเป็นความหวังสำหรับหน่วยงานที้เกี่ยวข้อง นักวิจัย องค์กรอิสระ รวมไปถึงองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่ทำงานเกี่ยวกับนก เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คนในวงการเกือบทั้งหมดต่างเริ่มปักใจเชื่อแล้วว่านกแต้วแร้วท้องดำได้สูญพันธุ์ไปเป็นที่เรียบร้อย

“แม้จะพบแค่ 1 ตัวแต่มันก็ยังเป็นความหวัง ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าในปัจจุบันจะช่วยขยายพันธุ์นกแต้วแร้วท้องดำขึ้นได้ เพราะต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่นก็ประสบปัญหานกช้อยหอยใกล้สูญพันธุ์เช่นเดียวกัน มันเป็นดราม่าที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าไประดมความคิดเห็นร่วมกันว่านับจากนี้ไปจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้นกรอด ที่แน่ๆ อย่างแรกคือการอนุรักษ์ป่าที่ราบต่ำ เขานอจู้จี้ บริเวณเขตรักษาพันะสัตวืป่า เขาประ-บางคราม ให้ป่าฟื้นฟูมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30 ตารางกิโลเมตร อย่างที่สองคือการเพาะขยายพันธุ์ในกรงให้นกแต้วแร้วมีปริมาณมากขึ้นเสียก่อนแล้วจึงค่อยปล่อยสู่ธรรมชาติที่สมบูรณ์” นายอุเทน ให้ข้อเสนอแนะ

ด้าน ดร.นณณ์ ผานิตวงศ์ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อดีของข่าวการพบครั้งใหม่นี้ทำให้ทราบว่า นกแต้วแร้วท้องดำในธรรมชาติยังมีอยู่ ซึ่งนำไปสู่คำถามข้อถัดไปว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มันอยู่รอดได้ไปอีกนานเท่านาน ไม่ใช่เหลือเพียง 1 ตัวที่พบนี้ ซึ่งไม่นานมันก็จะค่อยๆ แก่ลงและตายไปจนในที่สุดจนสูญพันธุ์ ภาครัฐฯ โดยเฉพาะกรมอุทยานฯ จึงต้องออกมาให้แนวทางที่ชัดเจนแก่สังคมว่าจะดำเนินการขยายพันธุ์ต่อไปอย่างไร

ดร.นณณ์ อธิบายว่า การอนุรักษ์นกแต้วแร้วท้องดำ ทำได้ 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ การอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่ราบต่ำและป่าชายขอบไม่ให้ได้รับการบุกรุก ซึ่งอาจทำได้ยากหากปราศจากมาตรการที่เข้มงวดพอ ส่วนแบบที่ 2 คือการขยายพันธุ์ในกรงเลี้ยง ซึ่งทำได้ง่ายกว่า แต่ก็มีประเด็นดราม่าถึงความไม่เหมาะสม และยังต้องพิจารณาถึงรายละเอียดอีกมากเพราะนกแต้วแร้วท้องดำเป็นสัตว์ป่าสงวน การจะดำเนินการอะไรจึงต้องอาศัยการยอมรับจากคณะกรรมการสัตว์ป่าสงวนและองค์ความรู้ที่แข็งแกร่ง

“อีกเรื่องที่คนส่วนมากยังไม่รู้คือ เรื่องนกแต้วแร้วท้องดำเพศผู้ที่หายไป ซึ่งวงในจะรู้ดีว่ามีผู้เลี้ยงไว้เพื่อทำอะไรสักอย่างแต่ผมไม่ขอเอ่ยถึง ฉะนั้นการจะดำเนินการต่อไปเมื่อพบนกแต้วแร้วเพศเมียในครั้งนี้จึงต้องให้กรมอุทยานฯ ตอบว่านกแต้วแร้วตัวผู้นั้นมันมีจริงหรือไม่ และถ้ามีตอนที่เก็บมามันเป็นนกเด็กหรือนกโตเต็มวัย ถ้ารู้ก็จะตัดสินใจง่ายขึ้น ว่าจะเอานกมาเข้าคู่ผสมพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์หรือปล่อยตัวผู้ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ แล้วก็ต้องมองไปถึงมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ และการดูแลการบุกรุกของนักท่องเที่ยวและชาวบ้านด้วย” ดร.นณณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ในส่วนของผู้รับผิดชอบโดยตรงอย่าง นายวุฒิพงษ์ ชูสังราช หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ ได้เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การพบนกแต้วแร้วท้องดำเพศเมียในพื้นที่เป็นเรื่องจริง โดยพบตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา จากการลงพื้นที่ของนายพิทักษ์ แก้วพลอย เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม พร้อมคณะและผู้เชี่ยวชายด้านดูนกท้องถิ่น โดยนกที่พบมีลักษณะสมบูรณ์พร้อมผสมพันธุ์ สังเกตได้จากการเปิดเสียงนกแต้วแร้วท้องดำเพศผู้ด้วยเครื่องมือเฉพาะแล้วได้รับการร้องตอบรับอย่างรวดเร็ว

นายวุฒิพงษ์ เผยว่า ขณะนี้ได้รายงานการพบนกแต้วแร้วท้องดำเพศเมียไปยังผู้บังคับบัญชาแล้ว ขั้นต่อไปคือการรอคำสั่งแผนดำเนินการ เพราะการจะดำเนินงานอนุรักษ์สัตว์ป่าในภาวะใกล้สูญพันธืจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์ เครื่องมือ และผู้มีความรู้โดยเฉพาะเข้ามาช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่ พร้อมจัดโซนที่พบนกให้เป็นเขตห้ามเข้าโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันนกถูกคุกคามเพราะในช่วงนี้เป็นช่วงที่นกผสมพันธุ์และจับคู่วางไข่

“ความรู้สึกแรกคือดีใจ เพราะเราไม่พบมากว่า 3 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการปูพรมค้นหา หรือใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย แต่ครั้งนี้กลับพบได้อาจเป็นเพราะจังหวะเหมาะ และอยู่ในช่วงที่นกเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์พอดี ขณะนี้ที่เราได้คืออารักขานก ให้มันปลอดภัย ไม่ถูกคุกคาม ส่วนแผนแบบจริงจังว่าจะทำอะไรต่อต้องรอการสั่งการต่อไปจากทางผู้ใหญ่ แต่ในใจผมหากจะมีการอนุรักษ์แพร่ขยายพันธุ์ก็ยังสนับสนุนการปล่อยนกคืนสู่ธรรมชาติ 1,000% การจะมาผสมพันธุ์นกในกรงมันไม่ใช่ ส่วนเรื่องนกแต้วแร้วเพศเมียผมมีคำตอบอยู่ในใจแต่คงพูดไปไม่ได้เพราะเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ก่อนที่ผมจะรับตำแหน่ง แต่หลังจากนี้ ในเวลาที่ผมทำงานอยู่ที่นี่ผมมีความหวังว่าจะเอานกแต้วแร้วท้องดำทั้งเพศผู้เพสเมียกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติให้ได้” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ เผย

สำหรับปัญหาการบุกรุกป่าของนักท่องเที่ยวและชาวบ้าน นายวุฒิพงษ์ เผยว่า มีสถิติลดลงมากจากเมื่อก่อน เพราะมีการจัดเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ คอยดูแลอย่างเข้มงวด และตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 57 ที่เขาเข้ามารับตำแหน่งได้ปรับเปลี่ยนมาตรการดูแลเขตฯ หลายอย่าง โดยเฉพาะบริเวณสระน้ำผุด ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นที่อยู่ของนกแต้วแร้วท้องดำรวมถึงนกอีกหลายชนิด ที่มีการจำกัดเวลาเข้าออกอย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้
ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบเวลาเช้าและเย็นที่นกออกหากิน ส่วนในช่วง พ.ค.-.ต.ค. จะปิดสระไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้า เพราะตรงกับช่วงที่นกมีการจับคู่วางไข่ ซึ่งหลังจากประชาสัมพันธ์และดำเนินโครงการก็ได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ส่วนสระมรกตที่อยู่บริเวณใกล้กันไม่ได้มีการพิจารณากฎระเบียบเวลาเปิดปิด เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าบริเวณดังกล่าวไม่น่ามีนกหลงเหลืออยู่ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่าปีละแสนคน

“เรื่องป่าที่ราบต่ำเสื่อมโทรมต้องยอมรับว่าเป็นจริงแต่คือเมื่อก่อน มาวันนี้ผมยืนยันได้ว่ามันฟื้นขึ้นมาพอสมควร เรื่องชาวบ้านบุกรุก หรือทัวร์ชาวบ้านที่พาฝรั่งมาดูนกแล้วเก็บเงินแพงๆ ไม่มีแล้ว เพราะเรามีมาตรการที่เข้มแข็งขึ้น ป่าจึงฟื้นเร็วเพราะไม่ได้รับการแผ้วถางทำลายแบบติดต่อจากชาวบ้าน หากเข้ามาดูจะพบหวาย, ระกำ และกะพ้อขึ้นอยู่เต็มไปหมด ผมจึงยังมีความเชื่อ และอยากให้นักอนุรักษ์เชื่อมั่นว่าถ้าวันหนึ่งนกแต้วแร้วกลับมา หรือมีการขยายพันธุ์สำเร็จ ป่าผืนนี้ยังคงเป็นบ้านที่ดีที่สุดสำหรับนกแต้วแร้วท้องดำอยู่ดี เพราะป่าผืนนี้มีความสูงไม่เกิน 100-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งตรงกับความต้องการของนกแต้วแร้วท้องดำที่สุด” นายวุฒิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
นายวัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
นายอุเทน ภุมรินทร์ นักวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า
ดร.นณณ์ ผานิตวงศ์ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย









กำลังโหลดความคิดเห็น