ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวไม่ฟันธง แผ่นดินสะเทือนแดนปลาดิบรอบล่าสุดสัมพันธ์กับแนวเกิดแผ่นดินไหวแนวกลางของญี่ปุ่นหรือไม่ แต่ระบุญี่ปุ่นมีแนว “ไซส์มิก แก็บ” เกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเพราะแนวกันชนขนาดใหญ่ยังมีการสะสมพลัง เตือนพื้นที่ไม่ประสบแผ่นดินไหวเป็นเวลานานเตรียมพร้อมรับมือ ย้ำชัดช่วงเวลาไม่มีผลต่อการเกิดแผ่นดินไหว
สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเววณตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น บริเวณเมืองคุมาโมโตะ ทำให้บ้านเรือนเสียหาย มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้กระแสการส่งต่อข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับหลักฐานการเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงข้อสันนิษฐานต่างๆ ถูกส่งต่อกันอย่างแพร่สะพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความของผู้ใช้เฟสบุ๊คนามว่า “Wiwan Tharahirunchote ” ที่ได้โพสต์ถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับแผ่นดินไหวตั้งแต่ครั้งอดีตโยงมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมเหตุผลประกอบที่ดูสมเหตุสมผล ที่มีเนื้อความดังรูป
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ จึงติดต่อไปยัง ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยในชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวเพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของข้อมูลดังกล่าว
ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถฟันธงได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ปกติแนวชนกันขนาดใหญ่ ในหมู่นักวิจัยแผ่นดินไหวมักสันนิษฐานว่ามันมีโอกาสแตกหรือเกิดแผ่นไหวได้ตลอดแนว ดังนั้นแนวใดที่ยังไม่แตกหรือมีการไหวก็จะสะสมพลังงานไว้มาก เป็นผลให้มีโอกาสแตกหรือเกิดแผ่นดินไหวได้มากกว่าพื้นที่ที่เคยเกิดมาแล้ว ซึ่งได้ปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ออกไป โดยแนวที่ยังไม่แตกหรือแตกไปนานแล้วและมีโอกาสจะแตกได้อีกในอนาคต จะเรียกว่า “ไซส์มิก แก็บ” (seismic gap) ซึ่งมีหมดทุกที่ไม่ว่าจะเป็นบริเวณสุมาตรา อเมริกาใต้ หรือแม้แต่ญี่ปุ่น
พร้อมกันนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยังได้ซักถามถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างช่วงเวลาของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงหลายครั้งที่ผ่านมา ที่มักเกิดในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. เช่น แผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พ.ค.57, แผ่นดินไหวเนปาล ขนาด 7.8 เมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 , แผ่นดินไหวไต้หวัน ขนาด 6.4 เมื่อวันที่ 6 ก.พ.59 จนมาถึงแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและเอกวาดอร์ครั้งล่าสุด
ผศ.ดร.ภาสกร ให้ความเห็นว่า การเกิดแผ่นดินไหวในช่วงเดือนใกล้ๆ กันของแต่ละปีน่าจะมาจากความบังเอิญมากกว่า เพราะจากข้อมูลการวิจัยและการศึกษาเกี่ยวกับแผ่นดินไหวทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้เรื่องช่วงเวลากับการเกิดแผ่นดินไหวไม่เกี่ยวข้องกัน