นักวิจัยแผ่นดินไหว สกว. ชี้ 3 สาเหตุแผ่นดินไหวญี่ปุ่นสร้างความเสียหายหนักเกิดจาก "เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่-เกิดในระดับตื้นแต่อัตราเร่งสูง และเกิดใจกลางเมือง" เป็นผลให้บ้านเมืองเสียหายยับ เตือนคนไทยไม่ประมาท แนะภาครัฐเพิ่มความใส่ใจ
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.2 ถึง 7.2 ที่เกิดต่อเนื่องกันช่วงวันที่ 14 ถึง 16 เม.ย. ที่ผ่านมาในพื้นที่บริเวณใกล้เมืองคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น จนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นบริเวณกว้าง เป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาดใหญ่ โดยเป็นแผ่นดินไหวในระดับตื้นที่มีความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร และมีจุดศูนย์กลางเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ถึง 7 แสนคน ประกอบกับมีอาคารบ้านเรือนค่อนข้างหนาแน่น
สถานีวัดแผ่นดินไหวในพื้นที่วัดอัตราเร่งได้ที่ 0.64 ถึง 0.84 ซึ่งมากกว่าที่เคยเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงรายเมื่อปี 2557 ประมาณ 2.5 ถึง 3 เท่าตัว จึงสามารถทำลายอาคารบ้านเรือนให้เกิดความเสียหายในบริเวณกว้างและรุนแรง ขณะที่แผ่นดินไหวที่พม่าล่าสุดแม้จะมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่เป็นแผ่นดินไหวที่มีความลึกกว่า 100 กม. จัดเป็นแผ่นดินไหวระดับลึก จึงไม่รุนแรงและไม่เกิดอันตรายมากเท่าที่ญี่ปุ่น ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ราย ซึ่งเชื่อว่าจะมีการค้นพบผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจมีมากกว่า 100 ราย
ทั้งนี้ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง อธิบายเพิ่มเติมว่า การเกิดแผ่นดินไหวมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือเกิดระหว่างรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้งและเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ส่วนอีกประเภทเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยร้าวหรือรอยเลื่อนในแผ่นเปลือกโลกที่มี 4 แผ่นมาชนกัน เช่น ในกรณีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นครั้งนี้ ที่แม้ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวตื้นๆ แต่ก็ส่งผลอันตรายซึ่งปกติแผ่นดินไหวประเภทนี้จะเกิดขึ้นแต่ละครั้งต้องใช้เวลาสะสมพลังงานนานนับพันปีเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นที่เมืองโกเบ เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งใช้เวลานานถึง 1,400 ปี
“สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้เป็นบทเรียนของประเทศไทยคือ แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่เคร่งครัดเรื่องมาตรการรองรับแผ่นดินไหว แต่ก็ยังมีอาคารบ้านเรือนที่อ่อนแอ เก่าแก่ สร้างมาก่อนจะมีกฎหมายรองรับ เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก แม้แต่อาคารใหม่เองก็อาจจะสร้างไม่ได้มาตรฐานต้านทานแผ่นดินไหวอย่างเต็มที่ ทำให้ยังมีคงอาคารที่อ่อนแอและแข็งแรงปะปนกันไป เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใจกลางเมืองจึงเกิดความสูญเสียขึ้นดังที่ปรากฏ ดังนั้นหากเราปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมอาคารให้แข็งแรง ก็จะยิ่งเกิดความสูญเสียมากกว่าเป็นสิบเป็นร้อยเท่า” ศ.ดร.เป็นหนึ่งระบุ
ด้าน ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยในโครงการเดียวกันจากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้พื้นดินมีการสั่นสะเทือนค่อนข้างรุนแรง โดยความรุนแรงของแผ่นดินไหวอยู่ในระดับ 9 ส่งผลให้มีอาคารบ้านเรือนพังถล่มลงมาหลายหลัง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงานสำรวจธรณีวิทยา สหรัฐฯ (US Geological Surveys: USGS) ได้รายงานว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแบบรอยเลื่อนตามแนวระนาบ แบบเลื่อนไปทางขวาของรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้
ทั้งนี้ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะบริเวณเกาะคิวชูเป็นบริเวณที่ตั้งอยู่ในเขตการมุดตัวของแผ่นธรณีหรือแผ่นเปลือกโลก ทะเลฟิลิปปินส์ที่มุดตัวลงไปข้างใต้แผ่นธรณียูเรเชียด้วยความเร็วประมาณ 58 มิลลิเมตรต่อปี ทำให้มีพลังงานสะสมจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแนวมุดตัวที่ใหญ่มาก เราจึงเห็นได้ว่าในบริเวณนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมาโดยตลอด
ผศ.ดร.ภาสกร ยังกล่าวอีกว่า ส่วนมากแผ่นดินไหวที่เกิดในบริเวณดังกล่าวจะเป็นแผ่นดินไหวระดับลึก ซึ่งเกิดตามแนวของแผ่นธรณีทะเลฟิลิปปินส์ที่มุดตัวลงไปข้างใต้แผ่นธรณียูเรเชีย มีรายงานว่าในรอบประมาณ 100 ปี ที่ผ่านมามีแผ่นดินไหวระดับตื้น (ความลึกน้อยกว่า 50 กิโลเมตร) ที่มีขนาดใหญ่มากกว่าขนาด 5 เกิดขึ้นในรัศมี 100 กิโลเมตร เพียงแค่ 13 ครั้งเท่านั้น และทำให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก แต่ในครั้งนี้เกิดขึ้นในระดับตื้นจึงเกิดความเสียหายอย่างมาก
ข้อสังเกตอีกประการได้แก่ ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ในครั้งนี้เพียง 1 วัน ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.2 และอาฟเตอร์ช็อคขนาดปานกลางอีกหลายครั้ง จึงมีความเป็นไปได้ว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มีโอกาสถ่ายทอดพลังงานและทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงตามมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มสนในในประเด็นนี้มากขึ้น ดังเช่นการเกิดชุดแผ่นดินไหวในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ หรือการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศชิลี ซึ่งคงต้องศึกษากันต่อไป
สำหรับผลกระทบทางอ้อมที่ตามมาสู่สังคมไทยก็คือ ไทยมีการศึกษาด้านแผ่นดินไหวในประเทศน้อยมาก เนื่องจากภัยแผ่นดินไหวถูกมองว่ามีโอกาสเกิดน้อยกว่าน้ำท่วมหรือภัยแล้งและภัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยกว่า ทำให้การสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาด้านรอยเลื่อนและแผ่นดินไหวจากภาครัฐมีน้อยมาก แม้นักวิจัยจะพอทราบตำแหน่งรอยเลื่อนมีพลังว่าวางตัวอยู่บริเวณไหนบ้าง แต่รอยเลื่อนที่สำคัญคือรอยรอยเลื่อนที่วางตัวซ่อนอยู่ (hidden fault) ซึ่งถ้าวางตัวอยู่ใกล้ๆ เมือง หรือกลางเมืองใหญ่ แล้วเกิดแผ่นดินไหว ความเสียหายจะรุนแรงอย่างมาก ดังตัวอย่างที่ดีมากจากกรณีแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติหรือนิวซีแลนด์ ซึ่งแม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่การสร้างเมืองให้กลับคืนมาเหมือนเดิมแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท
“แม้แผ่นดินไหวที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 ซึ่งเกิดในพื้นที่ที่ชุมชนไม่หนาแน่นมากนัก แต่มูลค่าความเสียหายยังสูงถึงเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท การที่เราให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนน้อยทำให้เราไม่มีโอกาสทราบได้เลยว่ารอยเลื่อนในบ้านเราได้รับพลังงานสะสมไว้มากน้อยเพียงใด มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต เราจึงไม่ควรประมาท และจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ด้านแผ่นดินไหวของไทยให้เพิ่มมากขึ้นควบคู่กับการเตรียมพร้อมในภาคประชาชาชน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ในการเอาชีวิตรอดขณะที่เกิดแผ่นดินไหว การสร้างหรือปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรง สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยในการวางแผนรับมือแผ่นดินไหวและทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด” ผศ.ดร.ภาสกร กล่าว