เมื่อภาพอันน่าสะเทือนใจของป่าน่านที่หายไปกว่า 500,000 ไร่ เหลือไว้เพียงภูเขาหัวโล้น คนเด่นคนดังหลายคนอาสาลงเงินลงแรง “ปลูกป่า” เพื่อฟื้นคืนพื้นที่สีเขียว ท่ามกลางกระแสห่วงใยป่าถาโถมมาในช่วงนี้ มีเสียงชวนให้ฉุกคิดว่ามนุษย์ผู้ทำลายป่าอย่างเราควรจะยื่นมือเข้าไปช่วยป่าให้ฟื้นตัวหรือไม่ หรือควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการธรรมชาติ
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีโอกาสได้ซักถามนักวิชาการอิสระด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการ ซึ่งมีความเห็นที่ต่างไปจากกระแสสังคมในตอนนี้ว่า ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติโดยที่มนุษย์ไม่ควรยื่นมือเข้าไปช่วยปลูก เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ติดตามการฟื้นฟูของป่าในพื้นที่เหมือง ซึ่งในช่วงที่มีการทำเหมืองนั้นหน้าดินได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามป่ายังสามารถฟื้นกลับคืนได้ด้วยตัวเอง โดยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
ป่าฟื้นตัวเองได้
“อีกตัวอย่างหนึ่งของการติดตามการฟื้นตัวของป่าริมถนน บริเวณถนนที่ตัดผ่านป่าฮาลา-บาลา จังหวัดยะลา เมื่อผ่านไปได้ไม่นาน พบว่าพืชป่าเริ่มกระจายขยายปกคลุมพื้นถนนเส้นดังกล่าว เหมือนป่าที่กำลังสมานรอยแผลตัวเอง ความจริงปัญหาที่เห็นว่าป่าไม่มีฟื้นตัวเลยนั้น ต้นเหตุเพราะคนเข้าไปรบกวนและทำลายอยู่ตลอดเวลาต่างหาก”
“ป่าที่มนุษย์เราสร้างขึ้นควรจะเรียกว่า “สวนป่า” ซึ่งไม่ใช่ป่าธรรมชาติ” นักวิชาการผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว เขายังได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหา พร้อมทั้งยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากกิจกรรมภาคปฏิบัติของการปลูกป่าว่า กิจกรรมปลูกป่าอาจจะไม่ใช่การอนุรักษ์ กลับกันอาจจะเป็นกิจกรรมการทำลายและรบกวนการฟื้นตัวของป่าได้ หากเราไม่อาศัยความรู้ทางนิเวศวิทยา
“แม้แต่พื้นที่เหมืองซึ่งเป็นการทำลายล้างขั้นสูงสุดของการทำลายป่า ป่ายังฟื้นคืนมาได้ ไม่มีเหตุผลอื่นที่ป่าจังหวัดน่านจะฟื้นคืนตัวเองไม่ได้ หากเราได้แก้ที่ตรงต้นเหตุแล้ว ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ข้อดีคือ ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ รวมถึงไม่รบกวนการฟื้นฟูของธรรมชาติด้วย แต่กรณีนี้มักจะมีคนแย้งว่าทำได้ยาก แต่ก็ควรพยายามที่จะทำให้ได้ไม่ใช่หรือ เพราะข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย” นักวิชาการคนเดิมระบุ
ไม้เล็กไม้ใหญ่คุณค่าเท่ากัน
นอกจากนี้อีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือค่านิยมของคนไทยบางส่วนที่มองว่าไม้ต้นขนาดใหญ่มีสำคัญและมีคุณค่ามากกว่าไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกเล็กๆ ทำให้มักมีความเข้าใจว่าป่าที่สมบูรณ์นั้นต้องมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ทั้งที่พืชไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กล้วนมีมีคุณค่า ไม่แตกต่างกัน
“ความเข้าใจผิดดังกล่าว จะเห็นได้จากกิจกรรมก่อนและหลังของการปลูกป่า ที่มักจะมีกิจกรรมการกำจัดตัดถางวัชพืช ซึ่งวัชพืชที่พูดถึงนี้ ก็คือ ไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกเล็กๆ เป็นชนิดพันธุ์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ต้นไม้ที่นำเข้าไปปลูกต่างหากที่เป็นสิ่งแปลกปลอมมาจากที่อื่น”
กิจกรรมปลูกป่า ทำลายป่า
นอกจากนี้เขาพบว่าที่ผ่านมามีกิจกรรมปลูกป่าที่ดำเนินการในป่าธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว และหลายแห่งก็ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ แต่เมื่อมีกิจกรรมปลูกป่า ไม้พุ่มและไม้ล้มลุก รวมถึงลูกไม้ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ กลับถูกมองว่าเป็นวัชพืช ซึ่งจะถูกกำจัดและถางออกเพื่อปลูกกล้าไม้ที่ทางราชการเตรียมไว้ให้แทน ซึ่งกล้าไม้ที่นำมาปลูกก็อาจจะเป็นพืชต่างถิ่นที่มาจากต่างภูมิภาค ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกว่าพืชต่างถิ่น สร้างปัญหาและทำลายระบบนิเวศ
“ทุกวันนี้ คนจำนวนมากตระหนักถึงภัยคุกคามป่า ด้วยความหวังดีจึงอยากที่จะช่วยเหลือด้วยใจกุศล แต่อย่างไรก็ตามควรจะมีความรู้ความเข้าใจด้วยว่าการฟื้นฟูป่ามีรายละเอียดที่ซับซ้อนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เป็นสำคัญ และไม่ได้ต่างจากอาชีพเฉพาะทางอย่าง แพทย์ หรือวิศวกร ซึ่งแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองก็อาจจะมีการวินิจฉัยผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน”
เขาตั้งข้อสังเกตว่าคนที่มีอาชีพนักปลูกสวนป่า ส่วนใหญ่เขาจะเน้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการปลูกป่าให้ต้นไม้ที่เขานำปลูกสามารถปลูกขึ้นได้ คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้เริ่มตั้งคำถามว่า ควรปลูกหรือไม่ควรปลูกในที่หนึ่งๆ แต่มักจะเริ่มลงมือปลูกอย่างเร่งด่วน โดยที่ไม่มีการศึกษาอย่างรอบด้านให้ดีเสียก่อน
ในกรณีป่าที่ถูกทำลายในจังหวัดน่าน เขาชี้ว่าเนื่องจากเป็นภาพถ่ายป่าในฤดูแล้ง จากสภาพป่าที่เห็นจึงเห็นชัดว่ามีพื้นที่หย่อมป่าสีเขียวสลับกับป่าที่ถูกทำลายอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นภาพถ่ายในฤดูฝนเราอาจจะเห็นถึงความเขียวขจีเต็มพื้นที่ ซึ่งส่วนตัวเขาประเมินว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรมที่ฟื้นตัวเองได้ หากแต่คนเข้าไปช่วยจัดการได้คือการหยุดยั้งการรบกวนการเข้าไปทำกิจกรรมทางเกษตรกรรมของผู้บุกรุก ซึ่งตรงนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
เขากล่าวว่ากรณีพื้นที่ขนาดใหญ่ขนาด 5 แสนไร่นั้น หากมีการปลูกสวนป่าจะมีข้อเสียและข้อจำกัดสูง เนื่องจากหลายๆ สาเหตุ ความไม่พร้อมและขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และระบบนิเวศ ในแง่ของความรู้ข้อมูลสภาพป่าก่อนถูกทำลาย และชนิดพรรณไม้ วิธีการเลือกชนิดพืชเบิกนำ ล้วนแต่มีข้อจำกัด ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ
ปลูกป่าอาจได้พันธุกรรมแปลกปลอม
นอกจากนี้เวลาปลูกป่าเราจะนำต้นกล้ามาจากป่าบริเวณอื่น ซึ่งเขาระบุว่าในทางพันธุศาสตร์ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และในกรณีเรานำต้นกล้าจากป่าอื่นมาปลูกในที่เสื่อมโทรมที่มีสภาพแวดล้อมเลวร้ายแล้วตายหมด เท่ากับว่าเราได้ทำลายลูกหลานของพืชที่เป็นประชากรต้นทาง ส่วนกรณีถ้ารอดถ้าต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราแก่งแย่งแข่งขันที่สูงกว่าปกติก็อาจจะสร้างปัญหากับเชื้อพันธุ์พืชเก่าที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศปลายทางได้เช่นเดียวกัน
“ขอเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจภาพรวมว่า ป่าปฐมภูมิหรือป่าสมบูรณ์เหมือนกับกล่องใบใหญ่ เป็นกล่องมหัศจรรย์ เวลาถูกทำลายกล่องใบนี้จะหดเล็กลง แต่กล่องนี้มันยืดขยายได้ตามกาลเวลา ช่วงที่ถูกทำลายกล่องมันจะแฟ่บแบน ไม่สามารถบรรจุสิ่งของได้ เช่นเดียวกันถ้าเราเอาต้นไม้ท้องถิ่นอะไรไปปลูกก็ตายหมด ยกเว้นพืชต่างถิ่น เช่น กระถินยักษ์ จามจุรี กระถินเทพา เป็นต้น ซึ่งพวกนี้อาจจะขึ้นได้ครับ เพราะมีที่มาจากต่างทวีป ทนแล้งและโตเร็ว เพราะเป็นพืชตระกูลถั่ว”
ทั้งนี้ กระถินยักษ์ และจามจุรี จากทวีปอเมริกา ส่วนกระถินเทพามาจากทวีปออสเตรเลีย ซึ่งการนำเข้ามีหลายวัตถุประสงค์ เช่นตัดนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ บางส่วนมีแนวคิดนำเข้ามาฟื้นฟูป่าเพื่อปรับสภาพพื้นที่ให้ดินสมบูรณ์และมีแร่ธาตุอาหารตามแนวคิดแบบเกษตรกรรม เพื่อให้ป่าฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่กลายเป็นว่าดินที่มีแร่ธาตุอาหารเพิ่มขึ้นนี้มีประโยชน์กับตัวมันและลูกหลานมันเอง เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการเจริญของพืช ไม่ได้มีเฉพาะแร่ธาตุ แต่แสงแดดและน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญมากลำดับต้นๆ
"การที่มันมีคุณสมบัติ โตเร็ว ผลิตลูกมาก คุณสมบัติเหล่านี้ไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชอื่น รวมถึงไม้ต่างถิ่นหลายชนิดมีรายงานว่ามีการสร้างสารอัลลีโลพาทียับยั้งการเจริญของพืชอื่นด้วย เมื่อต้นแม่พืชต่างถิ่นแก่ตายไป ลูกหลานของไม้ต่างถิ่นเหล่านั้นจะเกิดทดแทนต้นแม่ทันที เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วไม้ป่ามีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าพืชต่างถิ่นมากครับ"
ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
เขาสรุปว่าหากเราจะปลูกสร้างสวนป่า ด้วยการปลูก สังคมพืชสวนป่าที่เกิดขึ้นในอนาคต มันจะมีโครงสร้าง องค์ประกอบชนิด และคุณสมบัติที่ต่างไปจากป่าธรรมชาติ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้กล่องมหัศจรรย์ใบนี้ค่อยๆ ขยายขนาดตามเวลา ของในกล่องจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น และของในกล่องก็คือส่วนหนึ่งของลูกหลานเดิมที่ถูกทำลายไป ที่อาจจะฝังตัวในดิน ซึ่งก็จะค่อยๆ ทยอยคืนกลับมา อีกส่วนหนึ่งก็คือการกระจายมาจากป่าอื่น ซึ่งทำหน้าที่โดยสัตว์ป่า สุดท้ายเราจะได้ป่าทุติยภูมิที่เป็นธรรมชาติกลับคืนมา
“ปัจจุบันน่าเสียดายว่า กิจกรรมการฟื้นฟูธรรมชาติโดยขาดความรู้ความเข้าใจ อาจจะกลายเป็นกิจกรรมหลักของการขับเคลื่อนการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพไปแล้วครับ”
เขาสรุปว่าควรปล่อยให้มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติ และหยุดยั้งการรบกวนการเข้าไปทำกิจกรรมทางเกษตรกรรมของผู้บุกรุก หรืออาจจะมีกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ความจริงมีอยู่ในกระแสพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว โดยอาจจะเอาไม้ไผ่มากั้นเป็นแปลงสาธิตการฟื้นตัวของป่าธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องปลูกต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว
‘ในแง่คุณค่าธรรมชาติวิทยา ป่าปลูกกี่สิบล้านไร่ มันเทียบกับป่าธรรมชาติเพียงแค่ 1 ไร่ไม่ได้”
มองอีกมุม ควรปลูกและปล่อย
อีกความเห็นจาก ผศ.ดร.สคาร ทีจันทึก รองคณบดีฝ่ายสถานีวิจัยและป่าสาธิต คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ให้ความเห็นว่า การฟื้นฟูป่าในพื้นที่ จ.น่าน ควรทำร่วมกันทั้งการปลูกเพิ่มเติมและการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะป่ามีหลายโซน มีการบุกรุกในลักษณะที่แตกต่างกัน อันดับแรกของการแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ ก่อน
ผศ.ดร.สคาร กล่าวว่า หากจะฟื้นฟูต้องเริ่มจากพื้นที่รกร้างที่ไม่มีคนเข้าไปใช้ประโยชน์ก่อน พื้นที่เขตนี้จะมีการฟื้นฟูตัวเองด้วยไม้เบิกนำ (Pioneer Species) เช่น ตองโคบ หรือ พังแหล ซึ่งเป็นพวกแหลขึ้นปกคลุม หากพืชเหล่านี้เจริญเติบโตได้ภายใน 5-10 ปีก็จะช่วยฟื้นฟูป่าได้ เพราะจะขึ้นแข่งกับหญ้า แต่พืชพวกนี้ไม่ทนไฟ เมื่อมีไฟป่าเกิดขึ้นจึงตาย ทำให้การฟื้นฟูไม่เป็นไปตามวัฏจักร แต่พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์ ทำให้การฟื้นฟูเป็นเรื่องยาก มีการเผา มีไฟป่าอยู่ตลอด ธรรมชาติจำพวกไม้เบิกนำจึงไม่สามารถทำหน้าที่ได้
ให้ชาวบ้านรักและเห็นคุณค่าป่า
“ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องเข้าไปช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่าธรรมชาติด้วยการปลูกไม้เสริม จำพวกประดู สัก มะค่าโมง และยางแดง ที่นอกจากจะเป็นไม้ใหญ่ ให้ร่มเงา ช่วยยึดเกาะหน้าดินได้ดี ยังเป็นไม้ที่ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านหรือประชาชนในละแวกด้วย เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เกิดจากคนรุกล้ำพื้นที่ป่า”
ฉะนั้นหากจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ผศ.ดร.สคาร ระบุว่านอกจากต้องเพิ่มปริมาณพันธุ์ไม้ในธรรมชาติได้แล้ว ยังต้องทำให้ชาวบ้านรู้จักรักและเห็นคุณค่าของป่าอันจะนำไปสู่การหวงแหนป้องกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และผู้ที่มีส่วนร่วมว่า นอกจากจะดูแนวโน้มฟื้นฟูป่าว่าจะต้องทำอย่างไรแล้ว จะต้องคิดแผนเพื่อจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมมือด้วย
“ประมาณ 20 ปีก่อน ผมเคยเข้าไปทำวิจัยที่ภูฟ้า ตอนนั้นชาวบ้านใช้พื้นที่บนเขาทำข้าวไร่ซึ่งไม่ใช่พืชที่ทำราคาได้สูงเลย ผมจึงใช้กุศโลบายให้เขาลงมาทำนานำพื้นที่ที่ต่ำลงมา จะเป็นนาขั้นบันไดอะไรก็ว่าไป แต่ให้พื้นที่บนเขาสูงเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น หรือพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้สูงเช่น กาแฟ หรือ วนเกษตร เพราะพืชเหล่านี้จะเก็บเกี่ยวแค่ผลผลิต ไม่ต้องโค่นหรือถางที่ดินไปเรื่อยๆ เพราะเราก็ต้องเข้าใจว่าเขาก็อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จะไปห้ามให้เขาปลูกหรือตัดก็คงยาก สิ่งที่เป็นทางออกคือการทำให้เขาอยู่กับป่า ใช้ประโยชน์จากป่าแบบไม่เบียดเบียน จึงจะแก้ปัญหาป่าได้อย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สคาร ยังกล่าวด้วยว่า การฟื้นฟูป่าน่านกว่า 1.4 แสนไร่ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป โดยเขาเสนอแนะว่า หากจะมีโครงการฟื้นฟูป่าน่านตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเหล่าดารานักร้องพูดจริง ควรจะเริ่มทำจากพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน โดยพื้นที่ที่มีความพร้อมหมายถึงพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าใจ และยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎ กติกา มีการระดมทุน มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิภาพ โดยพืชที่ควรนำมาใช้ปลูกเสริมในป่าธรรมชาติ ได้แก่ มะขามป้อม สมอ สมอพิเภก ตุ้มแต๋น และต๋าว ซึ่งให้ผลผลิตดี มีรากแข็งแรง ช่วยฟื้นฟูต้นน้ำลำธารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จะปลูกต้องระวังพืชต่างถิ่น
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.สคาร กล่าวว่า พืชชนิดอื่นๆ ที่นักวิชาการเห็นว่ามีความเหมาะสมก็สามารถปลูกได้ แต่ต้องเป็นพืชที่มีความทนทานและเจริญเติบโตง่ายพอสมควร เพราะดินบนเขาใน จ.น่าน เกือบทั้งหมด เป็นดินที่ค่อนข้างเสื่อมคุณภาพเพราะหน้าดินถูกชะล้างลงแม่น้ำไปจนเกือบทั้งหมด การพิจารณาให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ก้นหลุมจึงเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กัน โดยให้ข้อระวังอีกด้วยว่าไม่ควรปลูกพืชต่างถิ่น เช่น ยูคาลิปตัสและกระถินยักษ์ บริเวณป่าต้นน้ำลำธาร เพราะจะเป็นการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ของพืชนอกเขตอันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความหลากหลายทางธรรมชาติตามที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สคาร ยังเผยด้วยว่า หากหน่วยงานต่างๆ หรือกลุ่มอาสาสมัครใด ต้องการนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ไปเป็นที่ปรึกษาเพื่อวางแผนการฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน ทางคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ยินดีที่จะส่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือ เพราะทางคณะฯ ก็มีพันธกิจหลักในการใช้วิชาการเพื่อรักษาผืนป่าและตอบแทนประชาชน
*** ปลูกป่าฝันร้ายที่กลายเป็นจริง ***