xs
xsm
sm
md
lg

หอดูดาวแห่งชาติหนุนนักดาราศาสตร์ส่องดูดาวแคระขาวกลืนดาวเคราะห์บริวาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

WD 1145+017- ภาพจำลองเศษดาวเคราะห์รอบดาวแคระขาว (ภาพจาก : http://cdn4.sci-news.com/)
หอดูดาวแห่งชาติหนุนนักวิจัย สร้างสุดยอดผลงานดาราศาสตร์ หลังส่องดูปรากฏการณ์ "ดาวแคระขาวกลืนดาวเคราะห์บริวาร" ผ่านกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตรสำเร็จ นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นจุดจบของดาวเคราะห์แบบวันต่อวัน ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของไทย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยผลงานน่าตื่นเต้นวงการดาราศาสตร์หลังทีมนักวิจัยใช้กล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร บนหอดูดาวแห่งชาติที่ตั้งอยู่บนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ตรวจพบปรากฏการณ์ดาวเคราะห์บริวารถูกแรงโน้มถ่วงของดาวแคระขาวกระทำจนแตกเป็นกลุ่มก๊าซและเศษมวลกระจายอยู่ในวงโคจร และอาจแตกสลายจนหมดทั้งดวง ซึ่งเป็นที่สนใจของนักดาราศาสตร์ทั่วโลก

รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งใหม่จากกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร บนหอดูดาวแห่งชาติเกิดขึ้น หลังผลงานวิจัยของนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอร์ริค สหราชอาณาจักร นำโดย ดร.บอริส แกนซิเก และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ มหาวิทยาลัยลอนดอน มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ และสถาบันดาราศาสตร์แห่งสเปน ร่วมกับทีมนักดาราศาสตร์ไทยได้แก่ ผศ.ดร. อมรรัตน์ อังเวโรจน์วิทย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร, ศิรินภา อาจโยธา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และ สมสวัสดิ์ รัตนสูรย์ เจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ สดร.ได้ถูกตีพิมพ์

จากการใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ของมหาวิทยาลัยวอร์ริค ณ เกาะลาพัลมา ประเทศสเปน ร่วมกันศึกษาติดตามดาวเคราะห์บริวารถูกแรงโน้มถ่วงสลายมวลเมื่อเข้าใกล้ดาวแม่ซึ่งเป็นดาวแคระขาว มีชื่อว่า ดาว WD 1145+017 (WD คือ White Dwarf หรือ แคระขาว และตัวเลขหมายถึงตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้า) ซึ่งถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ดาวแคระขาวนี้ อยู่ห่างจากโลกเพียง 570 ปีแสงเท่านั้น

รศ.บุญรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปรากฏการณ์นี้สังเกตได้ยากมาก เพราะดาว WD 1145+017 มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ แต่ขนาดเล็กใกล้เคียงกับโลกเท่านั้น วัตถุที่มวลหนาแน่นเช่นนี้จะมีแรงโน้มถ่วงมหาศาล ดึงดูดดาวเคราะห์บริวารเข้ามาใกล้ จนกระทั่งแรงโน้มถ่วงเริ่มฉีกมวลของดาวเคราะห์จนแตกเป็นกลุ่มก๊าซและเศษมวลของดาวเคราะห์ กระจายอยู่ในวงโคจรเป็นแผ่นวงแหวนรอบดาวแคระขาว ท้ายที่สุด ดาวเคราะห์นี้อาจจะแตกสลายจนหมดทั้งดวง และถูกดึงดูดเข้าสู่ดาวแคระขาวจน ไม่เหลือร่องรอยใด ๆ

การสังเกตการณ์ครั้งนี้ ทีมวิจัยใช้กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ที่ติดเครื่องอัลตราเสปก ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพซีซีดีความเร็วสูง ใช้ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของกราฟแสงของระบบดาว พบว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดธรรมดา เพราะนักดาราศาสตร์เพิ่งตรวจสอบว่าดาว WD 1145+017 มีค่าความสว่างผิดปกติเมื่อเดือน เม.ย.58

หลังจากนั้นจึงเริ่มศึกษาโดยละเอียด โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. – 25 ธ.ค. 58 พบว่าแสงของดาวแคระขาวลดลงหลายช่วง เนื่องจากเศษดาวเคราะห์ที่แตกออกถึง 6 กลุ่ม เคลื่อนที่ทยอยบังดาวแม่เป็นช่วง ๆ เศษดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวแคระขาวนี้มีคาบการโคจร 4.5 ชั่วโมง ปกติแล้วนักดาราศาสตร์จะศึกษาปรากฏการณ์เช่นนี้ต้องใช้เวลานับสิบปี แต่ดาว WD 1145+017 ดูดกลืนมวลของดาวเคราะห์บริวารนี้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นจุดจบของดาวเคราะห์แบบวันต่อวัน ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของประเทศไทย

ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญในการติดตามศึกษาระบบวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ เนื่องจากดาวฤกษ์ส่วนใหญ่รวมทั้งดวงอาทิตย์ จะกลายเป็นดาวแคระขาวเมื่อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หมดลง การค้นพบในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจระบบวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ได้มากยิ่งขึ้น

"ผลงานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นบทความเด่นที่สมาคมดาราศาสตร์แห่งสหรัฐฯ นำมาเผยแพร่ตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย เป็นเครื่องยืนยันว่าไทย มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ที่มีคุณภาพระดับโลก สามารถรองรับงานวิจัยดาราศาสตร์ขั้นสูงได้เช่นเดียวกับหอดูดาวแนวหน้าในต่างประเทศ จนได้รับการรับรองจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโกแห่งแรกของโลก เมื่อปลายปี 58 ที่ผ่านมา" รศ.บุญรักษา กล่าว

นอกจากนี้ รศ.บุญรักษา ยังกล่าวถึงการพัฒนาดาราศาสตร์ไทยอีกด้วยว่า อนาคตของวงการดาราศาสตร์ไทยยังไปได้ไกลอีกมาก เพราะมีเครื่องมือและปัจจัยพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ครบถ้วน แต่ปัญหาสำคัญคือขาดบุคลากร นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนมาก จึงอยากเชิญชวนนักเรียน นักศึกษาที่มีใจรักดาราศาสตร์ เลือกศึกษาต่อด้านดาราศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันมีเปิดสอนแล้วในหลายมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้สดร. ยังมีการสนับสนุนทุนการศึกษาและวิจัย รวมทั้งความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีโอกาสสร้างผลงานวิจัยดาราศาสตร์ และเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับผลงานของทีมวิจัยจากประเทศอังกฤษที่ ใช้หอดูดาวแห่งชาติของเราสร้างงานวิจัยระดับโลกได้ในครั้งนี้
graph - กราฟแสงของดาวแคระขาว ที่พบว่าแสงของดาวลดลงเป็นช่วง ๆ เนื่องจากโดนบัง ภาพจาก : http://iopscience.iop.org/









กำลังโหลดความคิดเห็น