นักวิทยาศาสตร์พัฒนา “แผนที่สมอง” ได้ใกล้เคียงความจริงที่สุดเท่าที่เคยมี ชี้อาจเป็นเครื่องมือไขปริศนาบทบาทของเซลล์สีเทาต่อสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ และอาจนำไปสู่การผ่าตัดสมองได้แม่นยำอย่างที่สุด
ทั้งนักประสาทวิทยาศาสตร์ ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์และวิศวกร พัฒนา “แผนที่สมอง” ที่เรียกได้ว่ามีความแม่นยำที่สุดเท่าที่เคยมี โดยเอเอฟพีระบุว่า ในกระบวนการทำงานของพวกเขาได้เผยให้เห็นพื้นที่สมองที่ไม่เคยรายงานมาก่อน ในบริเวณเปลือกสมองใหญ่ (cerebral cortex) ถึงเกือบ 100 จุด
บรุซ คัธเบิร์ท (Bruce Cuthbert) จากสถาบันสุขภาพสหรัฐฯ (National Institutes of Health) องค์กรซึ่งร่วมให้ทุนสนับสนุนการวิจัยทำแผนที่สมองดังกล่าว ระบุว่างานวิจัยนี้ให้มุมมองและเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะช่วยอธิบายว่าเปลือกสมองมีส่วนร่วมและบทบาทต่อสุขภาพและโรคภัยอย่างไร
คลิปเกี่ยวกับการค้นพบแผนที่สมองใหม่ที่มีความละเอียดมากขึ้น
คัธเบิร์ทกล่าวเพิ่มเติมถึงงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ผลงานลงวารสารเนเจอร์นี้ว่า สักวันหนึ่งงานวิจัยนี้อาจทำให้การผ่าตัดสมองได้แม่นยำอย่างไม่เคยมีมาก่อนนั้นเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ นานกว่าศตวรรษที่เราไม่รู้อะไรเลยนอกจากได้แต่คาดเดา และต้องหาคำอธิบายถึงบริเวณต่างๆ สมองและการทำงานของสมองแต่ละบริเวณ โดยเอเอฟพีได้ยกตัวอย่างยุคปี 1800 มี “นักทายนิสัยจากรูปกะโหลกศีรษะ” (phrenologists) ได้แบ่งสมองออกเป็นส่วนๆ ซึ่งควบคุมความรู้สึกอย่างเจาะจงและบุคลิกที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ในยุคนั้นเชื่อกันว่าบริเวณที่ควบคุมนิสัยชอบทำลายล้างนั้นอยู่บริเวณเหนือหู ส่วนความคุมความรักอย่างพ่อแม่นั้นอยู่ด้านหลังศรีษะ และส่วนควบคุมความหวังนั้นอยู่บริเวณกระหม่อม แต่ศาสตร์ดังกล่าวได้ตายลงเพราะการศึกษาจากการผ่าศพและการทดสอบเชิงวิทยาศาสตร์มีเหตุผลมากกว่า
ในปี 1909 กอร์บิเนียน บรอดมานน์ (Korbinian Brodmann) นักประสาทวิทยาชาวเยอรมัน ได้ตีพิมพ์แผนที่สมองซึ่งอาจจะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด โดยบริเวณสมองที่แตกต่างกันในแผนที่ดังกล่าวได้จากการแบ่งขอบเขตเซลล์สมองที่แตกต่างกัน และแผนที่ของเขาที่แบ่งเปลือกสมองใหญ่ออกเป็นสอบกว่าบริเวณนั้นยังคงใช้กันมาถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันคร่าวๆ มาถึงตอนนี้ว่า สมองส่วนไหนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ภาษา การมองเห็น การได้ยินเสียง รวมถึงมุมมองส่วนตัว แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่เห็นพ้องกันว่า แท้จริงแล้วสมองมีกี่บริเวณกันแน่ มากกว่านั้นยังสงสัยอีกว่าสมองแต่ส่วนมีบทบาทที่แท้จริงอย่างไร
ทีมวิจัยระบุว่าก่อนจะมีการเผยแผนที่สมองชุดใหม่นี้มีบริเวณสมองที่รู้จักอยู่แล้ว 83 ส่วนอยู่ในสมองครึ่งหนึ่ง และตอนนี้บริเวณที่รู้จักได้เพิ่มขึ้นเป็น 180 ส่วน โดยทีมวิจัยได้ศึกษาสมองของผู้ใหญ่ 210คน ด้วยเทคนิคระเบียบวิธีการสร้างภาพ (imaging methods) ที่หลากหลาย
จากนั้นทีมวิจัยได้ทดสอบซอฟท์แวร์ใหม่กับผู้ใหญ่กลุ่มใหม่อีก 210 คน ซึ่งพบว่าระบุบริเวณต่างๆ ของสมองได้อย่างแม่นยำเช่นกัน แม้ว่าจะมีความผันแปรส่วนบุคคลค่อนข้างสูง
ทางด้าน แมทธิว กลาสเซอร์ (Matthew Glasser) จากวิทยาลัยแพทย์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University Medical School) ในมิสซูรี สหรัฐฯ ผู้วิจัยและตีพิมพ์ผลงานเปรียบเทียบสถานการณ์การพัฒนาแผนที่สมองใหม่ครั้งนี้ว่า เหมือนวงการดาราศาสตร์ที่กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินนั้นให้ภาพท้องฟ้าที่ไม่คมชัด ก่อนการมาของเทคโนโลยีระบบปรับสภาพตามแสง (adaptive optics) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ