ยุโรปทำสัญญาก้อนใหญ่มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท สำหรับสร้างโดมและโครงสร้างกล้อง (ว่าที่) หอดูดาวขนาดใหญ่ที่สุดบนโลก ซึ่งจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 39 เมตร สำหรับติดตั้งอยู่บนยอดเขาที่ชิลี คาดกล้องโทรทรรศน์จะเริ่มแสงแรกได้ในปี 2024
หอดูดาวยุโรปซีกฟ้าใต้ (EUROPEAN SOUTHERN OBSERVATORY) หรือ ESO เพิ่งทำสัญญากับกลุ่มเอซีอีคอนซอร์เตียม (ACe Consortium) เพื่อก่อสร้างโดมและกล้องโทรทรรศน์สำหรับกล้องโทรทรรศน์ยุโรปขนาดใหญ่อี-เอลท์ (European Extremely Large Telescope: E-ELT)
การทำสัญญาครั้งนี้เป็นสัญญาครั้งใหญ่สุดที่หอดูดาวยุโรปฯ เคยทำมา และยังเป็นสัญญาของดาราศาสตร์ภาคพื้นขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มี โดยมีมูลค่าสัญญาสูงถึง 400 ล้านยูโรหรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคู่สัญญาของหอดูดาวยุโรปในกลุ่มเอซีอีคอนซอร์เตียม ประกอบด้วย แอสทาลดิ (Astaldi) ซิโมไล (Cimolai) และอีไออีกรุ๊ป (EIE Group) ว่าที่คู่สัญญารายย่อย
สำหรับกล้องโทรทรรศน์อี-เอลท์จะถูกสร้างไว้ทางตอนเหนือของชิลี ซึ่งได้เตรียมพร้อมพื้นที่ก่อสร้างแล้ว โดยกระจกหลักของกล้องจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 39 เมตร เมื่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงและอินฟราเรดใกล้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
ทางหอดูดาวยุโรปซีกฟ้าใต้ระบุว่า โดมของกล้องอี-เอลท์จะเปิดศักราชให้แก่วงการวิศวกรรมกล้องโทรทรรศน์ โดยภายใต้สัญญาไม่ใช่เพียงการสร้างโดมหมุนได้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 85 เมตรและหนักถึง 5,000 ตัน แต่ยังรวมถึงการประกบกล้องโทรทรรศน์และโครงสร้างท่อ รวมเป็นมวลที่ต้องเคลื่อนที่มากกว่า 3,000 ตัน นับเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับกล้องประเภทนี้ และทำให้ทุกกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงทั้งหมดที่มีกลายเป็นของจิ๋ว ตัวโดมยังสูงเกือบ 80 เมตร และมีพื้นที่เทียบเท่าสนามฟุตบอล
สำหรับบริษัทรับแสงของกล้องเอ-เอลท์จะใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์วิจัยเชิงแสงทั้งหมดที่มีอยู่รวมกัน และระบบทัศนอุปกรณ์ของกล้องจะให้ภาพที่คมชัดกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และองค์การอวกาศยุโรปถึง 15 เท่า เมื่อบันทึกแสงที่ความยาวคลื่นเดียวกัน
การสร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่นี้ยังมีโอกาสสูงที่จะเกิดเทคโนโลยีและวิศวกรรมใหม่ๆ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการทำสัญญาทางเทคโนโลบยี ซึ่งการทำสัญญาล่าสุดนี้ได้แสดงให้เห็นว่ากล้องเอ-เอลท์มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งรวมในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเสนอสัญญาของผู้บริหารหอดูดาวยุโรปเป็นก้าวสำคัญในการนำโครงการใหญ่ๆ ไปสู่ระดับนานาชาติ
การก่อสร้างกล้องอี-เอลท์กำลังดำเนินไปบนยอดเขาเซอร์โรอาร์มาโซนส์ที่สูงถึง 3,000 เมตร และอยู่ห่างจากหอดูดาวปารานาล (Paranal Observatory) ของหอดูดาวยุโรปซีกฟ้าใต้ 20 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางสู่หอดูดาวและการปรับระดับพื้นบนยอดเขาเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนการสร้างโดมในพื้นที่หอดูดาวคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2017
ทิม เดอ ซียูว์ (Tim de Zeeuw) ผู้อำนวยการทั่วไปของหอดูดาวยุโรปซีกฟ้าใต้กล่าวว่า กล้องอี-เอลท์จะให้บริการภาพถ่ายที่ไม่อาจจินตนาการได้ในตอนนี้ และจะจุดประกายคนทั่วโลกให้คำนึงถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และตำแหน่งของเราในเอกภพ ซึ่งการลงนามทำสัญญาครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญสู่กำเนิดกล้องอี-เอลท์ในปี 2024 ปีที่กล้องจะเริ่มบันทึกแสงแรก
ด้าน เปาโล แอสทาลดิ (Paolo Astaldi) ประธานของแอสทาลดิคู่สัญญาหอดูดาวยุโรปกล่าวว่า โครงการนี้เกินฝันมาก ทั้งในแง่ดาราศาสตร์ และในแง่การก่อสร้างและวิศวกรรม ทั้งแอสทาลดิและกลุ่มพันธมิตรที่เข้าร่วมสัญญา รู้สึกภูมิใจที่ได้รับการเรียกใช้จากหอดูดาวยุโรปฯ เพื่อสร้างฝันให้เป็นจริง
“แอสทาลดิมีชื่อเสียงในเรื่องการสร้างทักษะเชิงเทคนิคชั้นยอด คุณภาพการก่อสร้าง และการดำเนินงานที่เข้มแข็ง และเราจะทุ่มพลังความแข็งแกร่งทั้งหมดที่มีให้แก่โครงการนี้ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างยิ่งที่ผมได้ลงนามในสัญญาที่มีความมุ่งมั่นทางดาราศาสตร์เช่นนี้” แอสทาลดิกล่าว
ส่วน หลุยกิ ซิโมไล (Luigi Cimolai) ประธานซิโมไลกล่าวว่า พวกเขารู้สึกเป็นเกียรติที่บริษัทได้รับโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายทางดาราศาสตร์ชั้นนำ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์เอ-เอลท์ของยุโรปนั้นจะต้องอาศัยวิศวกรรมและการก่อสร้างชั้นสูง นั่นทำให้เขาเชื่อว่า จะดึงเอาความสามารถของบริษัทให้สูงขึ้นเพื่อพัฒนาโครงการที่ความซับซ้อนยิ่งๆ ขึ้นไป
ในส่วนของการสร้างส่วนอื่นๆ ของกล้องเอ-เอลท์ก็เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยหอดูดาวยุโรปฯ ได้ลงนามทำสัญญากับบริษัทมิคาโด (MICADO) ฮาร์โมนี (HARMONI) และเมทิส (METIS) รวมถึงมาโอรี (MAORY) เพื่อพัฒนาอุปกรณ์รับแสงแรกของกล้อง ส่วนสัญญาสร้างชิ้นส่วนกระจกที่ใหญ่ลำดับรองจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้