xs
xsm
sm
md
lg

New Horizons โคจรผ่านพลูโตสู่อาณาจักรดาวเคราะห์แคระ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพจำลองเมื่อยานนิวฮอไรซอนส์เข้าใกล้ดาวพลูโตและดวงจันทร์ของดาวพลูโต (AFP PHOTO HANDOUT-NASA/Johns Hopkins University/South West Research Institute)
พลูโตเป็นดาวบริวารดวงหนึ่งของระบบสุริยะที่เมื่อ 85 ปีก่อนไม่เคยได้รับความสนใจมาก ถ้าเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ แม้แต่ในเทพนิยายกรีกก็ไม่ได้ให้ความสำคัญของพลูโต ในขณะที่พระเชษฐาเทพ Zeus ได้ปกครองสวรรค์ และเทพ Poseidon ได้เป็นเจ้าแห่งทะเลและมหาสมุทร Pluto (หรือ Hades) กลับถูกส่งไปครองยมโลก

การพบ Pluto เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1930 โดย Clive Tombaugh เป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติของดาราศาสตร์ เพราะทำให้เรารู้ว่า ดวงอาทิตย์มีดาวบริวารที่เป็นดาวเคราะห์ 9 ดวง อันได้แก่ ดาวพุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน และพลูโต ในขณะที่ดาว 4 ดวงแรกเป็นดาวขนาดเล็ก และเป็นของแข็ง ดาว 4 ดวงต่อมาเป็นดาวขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยแก๊สเหลว อีกทั้งมีดวงจันทร์เป็นบริวารหลายดวง ยิ่งไปกว่านั้นดาวเคราะห์บางดวงยังมีวงแหวนล้อมรอบด้วย แต่พลูโตซึ่งพบล่าสุด (ในบางเวลา) อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์  ยิ่งกว่าเนปจูน และเป็นของแข็ง ดังนั้นพลูโตจึงเป็น ดาว “พิเศษ” ที่แปลก และเมื่อความเข้าใจของนักดาราศาสตร์ในสมัยก่อนปี 1990 มีว่า ดาวอะไรก็แล้วแต่ที่มีลักษณะกลมและมีวงโคจรที่ชัดเจน (คือไม่สะเปะสะปะ) คือ ดาวเคราะห์ และดาวอะไรก็ตามที่โคจรรอบดาวเคราะห์จะเรียกว่า ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงนั้นๆ

ในอดีตที่ผ่านมาจำนวนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราจึงมีการปรับขึ้นและปรับลงตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากคนในสมัยโบราณรู้ว่าระบบสุริยะมีดาวเคราะห์ 6 ดวง (พุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์) ลุถึงปี 1781 เมื่อ William Herschel พบยูเรนัส จำนวนดาวเคราะห์ได้เพิ่มเป็น 7 ดวง อีก 20 ปีต่อมา เมื่อ Guiseppi Piazzi พบ Ceres ที่มีรูปร่างกลมและโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีวงโคจรอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี การมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ และวงโคจรอยู่ในตำแหน่งที่นักดาราศาสตร์คาดหวัง ได้ชักนำให้นักดาราศาสตร์กำหนด Ceres ให้เป็นดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์จึงมีเพิ่มเป็น 8 ดวง

แต่เมื่อนักดาราศาสตร์พบ Vesta, Pallas, Hygia ที่มีขนาดใหญ่ไล่เรี่ยกับ Ceres ทำให้วงการดาราศาสตร์จำต้องยอมให้ดาวที่พบใหม่ทั้งสามเป็นดาวเคราะห์ด้วย สุริยระบบจึงมีดาวเคราะห์ รวมทั้งสิ้น 11 ดวง

เทคโนโลยีการสำรวจอวกาศที่ดีขึ้นได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถเห็น “ดาวเคราะห์” เพิ่มอีกเป็นจำนวนมากที่โคจรอยู่ในบริเวณใกล้วงโคจรของ Ceres เมื่อจำนวนดาวเคราะห์มีทีท่าจะเพิ่มขึ้นๆ ตลอดเวลาเช่นนี้ จำนวนดาวเคราะห์ก็จะมี “ล้น” สุริยะจักรวาลแน่นอน ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงประกาศลดฐานะ Ceres กับพรรคพวกลงเป็นดาวเคราะห์น้อย (asteroid) สุริยจักรวาลจึงคงเหลือดาวเคราะห์เพียง 7 ดวง

จนกระทั่งปี 1846 เมื่อ Urbain Leverrier พบเนปจูน และในปี 1930 ที่มี Tombaugh พบพลูโต จำนวนดาวเคราะห์ของระบบสุริยะจึงเพิ่มเป็น 8 และ 9 ดวงตามลำดับ
ภาพจำลองเมื่อยานนิวฮอไรซอนส์เข้าใกล้ดาวพลูโตและดวงจันทร์ของดาวพลูโต (AFP PHOTO HANDOUT-NASA/Johns Hopkins University/South West Research Institute)
ลุถึงปี 1992 ความวุ่นวายเกี่ยวกับคำจำกัดความของคำว่า ดาวเคราะห์ก็บังเกิดอีก เมื่อ David Jewitt แห่งมหาวิทยาลัย Hawaii และ Jane Luu แห่ง Massachusetts Institute of Technology ได้เห็นดาว Eris ซึ่งมีขนาดใหญ่ระดับเดียวกับ Pluto โคจรอยู่ไกลออกไปจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวพลูโต ความอึดอัดใจก็บังเกิดอีก เพราะนักดาราศาสตร์รู้ดีว่า การใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพที่ทันสมัยจะทำให้มีการพบดาวอีกเป็นจำนวนมากที่มีขนาดใหญ่กว่าพลูโต แล้วความกังวลก็เป็นจริง เมื่อนักดาราศาสตร์ได้เห็น ดาวอีกเป็นจำนวนมาก เช่น Makemake, Haumea, Sedna, Xena, Orcus, Quaora, Varuna, Ixion ฯลฯ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับพลูโต และโคจรอยู่นอกวงโคจรของพลูโตออกไป สถานการณ์จึงเป็นไปในทำนองเดียวกับที่มีการพบกลุ่มดาวเคราะห์น้อยเมื่อ 200 ปีก่อน อนึ่งการพบดาวอีกเป็นจำนวนมากที่โคจรอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวพลูโตนั้นก็ตรงกับคำทำนายของ Gerard Kuiper ผู้ได้เคยพยากรณ์ว่า ในบริเวณดังกล่าวจะมีดาวอยู่อีกเป็นจำนวนมาก บริเวณนั้นจึงถูกตั้งชื่อว่า แถบ Kuiper

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ วงการดาราศาสตร์ก็จำต้องทบทวน คำจำกัดความของดาวเคราะห์อีกคำรบหนึ่ง เพราะถ้าให้พลูโตเป็นดาวเคราะห์ Sedna, Eris และบรรดาดาวเล็กดาวน้อยทั้งหลายก็จะเฮโลกันเป็นดาวเคราะห์หมด และนั่นก็หมายความว่าสุริยะจักรวาลจะมีดาวเคราะห์นับพัน นับหมื่นดวง

เพื่อตัดปัญหาดาวเคราะห์เฟ้อ วงการดาราศาสตร์จึงกำหนดให้ดาวที่มีลักษณะทางกายภาพ “เหมือน” พลูโตว่า ดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) การให้คำจำกัดความใหม่นี้ ทำให้ Ceres, Vesta เลื่อนฐานะจากดาวเคราะห์น้อยขึ้นเป็นดาวเคราะห์แคระ และพลูโตลดฐานะจากดาวเคราะห์เป็นดาวเคราะห์แคระในทันที

การสำรวจพลูโตโดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ทำให้นักดาราศาสตร์รู้ว่า พลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2,275 กิโลเมตร และใช้เวลานาน 248 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ ดังนั้นเราที่มีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 80 ปี จะมีอายุขัยเพียง 1/3 ของปี และถ้าคนสามารถขึ้นไปอยู่บนพลูโตได้ คนที่หนัก 75 กิโลกรัมบนโลกก็จะหนักเพียง 5 กิโลกรัมเท่านั้นเอง

นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังสังเกตเห็นว่า แกนหมุนรอบตัวเองของพลูโตอยู่ในระนาบวงโคจรของมัน มันจึงแตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่แกนหมุนวางตัวเกือบตั้งฉากกับระนาบวงโคจร (ยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่แกนหมุนวางตัวในลักษณะเดียวกับพลูโต) เพราะระยะทางโดยเฉลี่ยที่พลูโตอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มีค่าประมาณ 5,900 ล้านกิโลเมตร ดังนั้นคลื่นวิทยุที่เดินทางด้วยความเร็วแสงต้องใช้เวลาถึง 4.5 ชั่วโมง ในการเดินทางจากโลกถึงพลูโต หนทางที่ไกลเช่นนี้ ทำให้ขนาดของดวงอาทิตย์ที่ปรากฏต่อสายตาของคนที่ยืนอยู่บนพลูโตมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ที่คนบนโลกเห็นประมาณ 30-50 เท่า (ขนาดที่เห็นแตกต่างกันเกิดจากการที่วงโคจรของพลูโตรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ดังนั้นระยะทางใกล้-ไกลจากดวงอาทิตย์จึงไม่เท่ากัน และในขณะที่ความสว่างของดวงอาทิตย์ต่อสายตาชาวโลกไม่เปลี่ยนแปลงมาก ไม่ว่าจะเป็นวันเวลาใดของปี แต่ความสว่างของดวงอาทิตย์ต่อสายตาของคนบนพลูโตอาจแตกต่างมากได้ถึง 3 เท่า สำหรับบรรยากาศของพลูโตนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าประกอบด้วยไนโตรเจน คาร์บอนมอนอกไซด์ มีเทน และน้ำแข็งในปริมาณน้อย การใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจผิวดาวทำให้นักดาราศาสตร์พบว่า เวลาพลูโตโคจรถอยห่างจากดวงอาทิตย์ โมเลกุลของแก๊สต่างๆ ในบรรยากาศจะกลั่นตัวเป็นของแข็ง และตกลงปกคลุมผิวของพลูโต ทำให้ผิวสะท้อนแสงได้ดี
ภาพสีของดาวพลูโตและดวงจันทร์ชารอนบริวาร ที่ถูกถ่ายได้จากยานนิวฮอไรซอนส์ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2015  (AFP PHOTO HANDOUT-NASA/Johns Hopkins University/South West Research Institute)
ความก้าวหน้าในการศึกษาพลูโตได้บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1987 เมื่อ James Christy แห่ง Naval Observatory ที่ Washington DC ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 60 นิ้ว สังเกตเห็นว่าในบางเวลาพลูโตมีลักษณะไม่กลมเหมือนดาวเคราะห์ดาวอื่นๆ แต่เป็นรูปไข่ เขาจึงตั้งประเด็นสงสัยว่าพลูโตคงมีดาวบริวารที่โคจรใกล้พลูโตมากจนกล้องโทรทรรศน์ไม่สามารถแยกภาพของดาวทั้งสองดวงออกจากกันได้

การวิเคราะห์ลักษณะของภาพที่เห็นในที่สุดได้ทำให้ Christy พบว่า พลูโตมีดวงจันทร์เป็นบริวาร 1 ดวง จริงๆ เขาจึงตั้งชื่อว่า Charon คล้อยตามชื่อของภริยาว่า Charlene และในเวลาเดียวกัน Charon ก็เป็นชื่อของเทพผู้ทำหน้าที่พายเรือนำวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วข้ามแม่น้ำ Styx ไปสู่ยมโลกที่มีเทพ Pluto ปกครอง

การวิเคราะห์ภาพถ่ายของระบบดาวคู่ที่ประกอบด้วยพลูโตกับ Charon ทำให้นักดาราศาสตร์รู้ว่า Charon มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1,120 กิโลเมตร มันจึงมีขนาดประมาณ 25% ของพลูโต แต่มีมวลเพียง 0.16% ของพลูโตเท่านั้นเอง อีกทั้งอยู่ห่างจากพลูโต 17,500 กิโลเมตร และโคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลของระบบที่ประกอบด้วยพลูโตกับ Charon ทุก 6.4 วันซึ่งนานเท่ากับเวลาที่พลูโตหมุนรอบตัวเองพอดี ดังนั้นถ้าเราสามารถไปยืนอยู่บนพลูโตได้ เราก็จะเห็น Charon อยู่เหนือศรีษะตลอดเวลา แต่คนที่ยืนในอีกซีกหนึ่งของพลูโตจะไม่มีวันเห็น Charon ในท้องฟ้าเลย และเมื่อ Charon อยู่ใกล้ Pluto ยิ่งกว่าที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกประมาณ 22 เท่า ดังนั้นคนบนพลูโตจะเห็นดวงจันทร์ Charon มีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ของโลกประมาณ 8 เท่า

ในปี 2005 ภาพถ่ายที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble แสดงให้เห็นอีกว่า นอกจากจะมี Charon แล้ว พลูโตยังมีดวงจันทร์บริวารอีก 2 ดวง ชื่อ Nix (หรือ Nyx) และ Hydra ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 9-24 กิโลเมตร และ 12-33 กิโลเมตรตามลำดับ Nix นั้นเป็นชื่อของเทพธิดาแห่งราตรี และเป็นพระมารดาของ Charon ส่วน Hydra เป็นชื่อของงูหลายหัว ที่เวลาหัวหนึ่งถูกฟันขาด จะมีหัวใหม่งอกออกมาแทนที่ทันที ลุถึงปี 2011 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ก็ได้เห็นดวงจันทร์ของพลูโตเพิ่มอีก 1 ดวงคือ Kerberos ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 14-40 กิโลเมตร ถึงปี 2012 ก็ได้เห็นดวงจันทร์ Styx ขนาด 10-15 กิโลเมตร Kerberos นั้นเป็นชื่อของสุนัขสามหัวที่มีหน้าที่พิทักษ์ประตูนรก ส่วน Styx เป็นชื่อของแม่น้ำในยมโลกที่มารดาของ Achilles ใช้มือจับข้อเท้าของลูกชายเพื่อจุ่มในแม่น้ำ Styx เพราะข้อเท้าไม่ถูกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นข้อเท้าของวีรบุรุษ Achilles จึงเป็นจุดตายในตำนานสงครามกรุง Troy

สำหรับการอธิบายที่มาของดวงจันทร์ทั้ง 5 ดวงของพลูโตนั้น นักดาราศาสตร์ได้พบว่า เมื่อพลูโตถือกำเนิดใหม่ๆ มันถูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนทำให้เนื้อดาวแตกกระจัดกระจาย โดยมีชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุด คือ Charon และชิ้นส่วนอื่นๆ ได้กลายเป็นดวงจันทร์ Styx, Kerberos, Hydra และ Nyx โดยมี Hydra อยู่ไกลจากพลูโตมากที่สุด ผิวดวงจันทร์ทั้ง 5 นี้สะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดีต่างกัน เช่น Charon สะท้อนแสงได้ตั้งแต่ 36-39% Hydra และ Nyx สะท้อนแสงได้ 40% Kerberos ได้ 4% ในขณะที่ Pluto สะท้อนได้ 50-65%
ลักษณะพื้นผิวของดาวพลูโตที่มีรูปร่างคล้ายรูปหัวใจ ถูกถ่ายไว้โดยยานนิวฮอไรซอนส์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2015 (NASA PHOTO)
เมื่อเดือนกรกฎาคมของปี 2006 องค์การบินและอวกาศของสหรัฐฯ NASA ได้ส่งยาน New Horizons มูลค่า 27,000 ล้านบาทที่หนัก 480 กิโลกรัมขึ้นอวกาศ หลังจากที่ได้เดินทางไกล 4,700 ล้านกิโลเมตร ในปี 2015 ยานก็ถึงจุดหมายปลายทางคือพลูโต แบตเตอรีบนยานอวกาศนี้ทำงานโดยใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่ได้จากการสลายตัวของพลูโตเนียม และขณะผ่านพลูโตที่ระยะใกล้ 13,691 กิโลเมตร มันมีความเร็วประมาณ 60 เท่าของความเร็วของเครื่องบินเจ็ท ข้อมูลเกี่ยวกับดาวได้ถูกส่งกลับโลกทันทีในวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 และแสดงให้เห็นโลกใหม่ที่มีผิวเรียบและมีสีชมพูเรื่อๆ ผิวส่วนนี้ชื่อ Sputnik Planum มีหน้าผา และหลุมอุกกาบาตบ้างประปราย เหมือนภาพที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ได้เคยถ่ายไว้เมื่อ 10 ปีก่อน ส่วนความดันของบรรยากาศนั้นมีค่าประมาณ 10 ไมโครบาร์ และโดยทั่วไปผิวพลูโตสามารถแบ่งได้เป็นสามส่วน คือ ส่วนที่เป็นน้ำแข็งสีขาวที่เป็นรูปหัวใจ กับส่วนที่เป็นบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีสีคล้ำของสารอินทรีย์ acethylene และ ethylene ที่หลงเหลืออยู่ หลังจากที่น้ำแข็งบนดาวได้ระเหิดไปแล้ว ส่วนที่บริเวณขั้วดาวปรากฏว่าสามารถสะท้อนแสงได้ดี จึงแสดงว่าเป็น มีเทนแข็งที่มีอายุ 100 ล้านปี

การที่ผิวของพลูโตมีลักษณะแตกต่างกันมากเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าสภาพดินใต้ดาวยังไม่สงบนิ่ง คือ ดาวยังมีชีวิต ทั้งๆ ที่มันได้รับพลังงานแสงอาทิตย์เพียงน้อยนิด มันก็น่าจะสูญเสียความร้อนภายในดาวไปจนหมดสิ้นนานแล้ว แต่ดาวก็ยังไม่ตาย คือ ผิวของดาวยังมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดาวไม่ตายคือ บรรยากาศของพลูโตที่มีอย่างเจือจางทำให้เกิดกระแสลมที่มีความเร็ว 1-2 เมตร/วินาที พัดเหนือผิวดาว ซึ่งมีผลทำให้มีเทนแข็ง ไนโตรเจนแข็ง และคาร์บอนมอนอกไซด์แข็ง ระเหิดหายไปในบรรยากาศโดยไม่ทันหลอมเหลว ดังนั้นเวลาดาวโคจรถอยห่างจากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้โมเลกุลของแก๊สเหล่านี้ กลั่นตัวตกปกคุลมผิวดาวได้มากน้อยแตกต่างกันตามระยะห่าง พลูโตจึงมี “ฤดู” เหมือนโลก

แต่นักดาราศาสตร์บางคนกลับคิดว่า ภายในพลูโตยังคงร้อนระอุอยู่ แม้วันเวลาจะผ่านไปหลายพันล้านปี ความร้อนจากภายในได้ทำให้หินเหลวใต้ดาวไหลขึ้นเป็นน้ำพุ คือเป็นภูเขาที่พ่นเกล็ดน้ำแข็งขึ้นไปในบรรยากาศเหนือดาว แล้วตกลงและพอกพูนเป็นภูเขาน้ำแข็งที่สูงถึง 3,500 เมตร ส่วนการที่ผิวดาวหลายส่วนราบเรียบ คือไม่มีร่องรอยของหลุมอุกกาบาตมากนั้น คงเพราะภายในดาวมีแหล่งความร้อนที่ขับเคลื่อนให้ผิวดาวไม่คงสภาพ ดาวจึงเป็นดาวที่ยังมีชีวิต

ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2015 ที่ผ่านมานี้ นักวิทยาศาสตร์แห่ง NASA ได้รายงานว่า ยาน New Horizons ได้พบภูเขาที่พ่นน้ำแข็งออกมาเพิ่มอีกสองลูก ชื่อ Wright Mons และ Piccard Mons ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า พลูโตมีแหล่งความร้อนอยู่ในภายในจริงๆ ทำให้ไนโตรเจนและมีเทนใต้ดาวเป็นของเหลว ในเวลาต่อมาของเหลวเหล่านี้ได้ไหลทะลักขึ้นมาที่ผิว และกลายเป็นของแข็ง มีผลทำให้ขอบของภูเขาดังกล่าวสูง 5-6 กิโลเมตร และปากขอบมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 150 กิโลเมตร ดังนั้นปากภูเขาจึงเป็นปล่องขนาดใหญ่กว่าปล่องภูเขาใดๆ บนดวงจันทร์ Triton ของ Neptune และ Titan ของดาวเสาร์

ขณะนี้ ยาน New Horizons ได้โคจรผ่านพลูโตไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังมุ่งหน้าไปสำรวจดาวเคราะห์แคระอื่นๆ ในแถบ Kuiper ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวตั้งแต่ 80 กิโลเมตรขึ้นไป และนักดาราศาสตร์ประมาณว่าดาวเคราะห์แคระเหล่านี้อาจมีมากถึง 100,000 ดวง โดยคาดหวังจะเห็นความหลากหลายทางกายภาพของบรรดาดาวเคราะห์แคระเหล่านี้ รวมถึงการมีความหวังที่จะพบ “ดาวเคราะห์” ดวงที่ 9, 10 ของระบบสุริยะด้วย

ถึงปี 2050 คืออีก 34 ปีจากนี้ ยาน New Horizons ก็จะเดินทางถึงบริเวณที่เรียกว่า เมฆ Oort (Oort Cloud) ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของบรรดาดาวหางระยะทางไกล และแบตเตอรี่ที่ไร้พลังงานจะทำให้มันไม่สามารถส่งสัญญาณใดๆ ถึงโลกได้อีก แต่ยานก็จะเดินทางต่อไปอีกนานนับล้านปี ในขณะที่มนุษย์ผู้สร้างยานและอารยธรรมของมนุษย์ได้ดับสูญไปเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติมจาก Beyond Pluto: Exploring the Outer Limits of the Solar System โดย John Davies จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press 2010

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์














กำลังโหลดความคิดเห็น