xs
xsm
sm
md
lg

“เคปเลอร์-452บี” ดาวเคราะห์ใหม่เกือบจะเป็นแฝดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

าภพวาดจำลองความใกล้เคียงกันระหว่างโลก (ซ้าย) ที่โคจรรอบดาวอาทิตย์อายุ 4.6 พันล้านปี และเคปเลอร์-452บี ที่โคจรรอบดาวฤกษ์อายุ 6 พันล้านปี และยังอยู่ในขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ (NASA/Ames/JPL-Caltech/T. Pyle via AP)
นักวิทย์อเมริกันค้นพบดาวเคราะห์ “เคปเลอร์-452บี” เกือบจะเป็นแฝดโลก ขนาดโตกว่าแค่ 60% โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ และเป็นดาวฤกษ์ที่มีอายุและอุณหภูมิใกล้เคียงศูนย์กลางระบบสุริยะ อีกทั้งดาวเคราะห์ดังกล่าวยังอยู่ในโซนที่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้

รอยเตอร์รายงานว่านักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ อาศัยข้อมูลจากกล้องอวกาศเคปเลอร์ (Kepler) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ค้นพบดาวเคราะห์ชื่อ “เคปเลอร์-452บี” (Kepler-452b) โคจรรอบดาวฤกษ์อายุประมาณ 6 พันล้านปี ที่อยู่ห่างจากโลก 1,400 ปีแสง ในทิศทางกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) ขณะที่ดวงอาทิตย์ของเรามีอายุประมาณ 4.6 พันล้านปี

ด้าน จอน เจนกินส์ (Jon Jenkins) จากศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center) ในมอฟเฟตต์ฟิล์ด แคลฟอร์เนีย ที่ทำงานร่วมกับนาซา เผยว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นสิงที่ใกล้เคียงดาวเคราะห์คล้ายโลกมากที่สุด และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเมื่อพิจารณาว่าดาวเคราะห์ที่พบนั้นใช้เวลานาน 6 พันล้านปีในขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ (habitable zones) ซึ่งเป็นช่วงเวลาและโอกาสที่เหมาะสมที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์หรือในมหาสมุทร เมื่อมีองค์ประกอบและปัจจัยที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตปรากฏบนดาวเคราะห์ดังกล่าว

ตำแหน่งของเคปเลอร์-452บีอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ใกล้เคียงกับระยะที่โลกอยู่ห่างจากโลก และยังใช้เวลาโคจรครบรอบดาวฤกษ์ของตัวเอง 385 วัน ใกล้เคียงโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ 365 วัน ซึ่งที่ระยะดังกล่าวอุณหภูมิพื้นผิวเหมาะสมให้เกิดน้ำในรูปของเหลว ซึ่งเป็นปัจจัยที่เชื่อว่าจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต

แม้ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลกที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในบริเวณที่เรียกว่า “ขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้” แต่ดาวฤกษ์เหล่านั้นเย็นกว่าและเล็กกว่าดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สีเหลืองในกลุ่ม G2

“เรามองได้ว่าเคปเลอร์-452บีนั้นเป็นญาติของโลกที่แก่กว่าและใหญ่กว่า ซึ่งให้โอกาสเราในการทำความเข้าใจและมองสะท้อนถึงวิวัฒนาการสิ่งแวดล้อมของโลกในวันข้างหน้า” เจนเกนส์หัวหน้าทีมการค้นพบครั้งนี้ให้ความเห็น

ด้าน เจฟฟ์ คัฟลิน (Jeff Coughlin) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการเคปเลอร์จากสถาบันเซติ (SETI Institute) ในเมาท์วิว แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าเป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ในการค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกทั้งขนาดและอุณหภูมิรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์

จากขนาดของเคปเลอร์-452บี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะเป็นดาวเคราะห์หินเหมือนโลก โดยอาศัยทฤษฎีที่อิงการวิเคราะห์เชิงสถิติและการสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่อ้างอิงจากหลักฐานโดยตรง ซึ่งเจนกินส์เชื่อมั่นว่าด้วยรัศมีที่มากกว่าโลก 60% นั้น ทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นมากกว่าแค่ “มีโอกาสเป็นดาวเคราะห์หิน”

หากเป็นดาวเคราะห์หินจริง เจนกินส์คาดว่าเคปเลอร์-452บีน่าจะมีมวลมากกว่าโลก 5 เท่า และมีแรงโน้มถ่วงแรงกว่าบนพื้นผิวโลก 2 เท่า และมีชั้นบรรยากาศหนา มีท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆและมีภูเขาไฟที่ยังตื่นตัวอยู่

เมื่อรวมเคปเลอร์-452บี กล้องเคปเลอร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 1,030 ดวง และได้จำแนกว่าที่ดาวเคราะห์ประมาณ 4,700 ดวง โดยรายการ “ว่าที่ดาวเคราะห์” ที่มีโอกาสเป็นดาวเคราะห์นั้นมีว่าที่แฝดของโลกอีก 11 ดวง โดยในจำนวนนั้น 9 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์

อย่างไรก็ตาม กล้องเคปเลอร์ไม่สามารถส่องเห็นดาวเคราะห์ได้โดยตรง แต่อาศัยการวัดการเปลี่ยนแปลงแสงเป็นช่วงนาทีของดาวฤกษ์เป้าหมาย จากนั้นวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน และตามมาด้วยการตรวจสอบของกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก แล้วประเมินว่าแสงที่หรี่ลงนั้นเป็นผลจากดาวเคราะห์ “ผ่านหน้า” ดาวฤกษ์แม่หรือไม่

นาซาได้ส่งกล้องเคปเลอร์ขึ้นไปตั้งแต่ปี 2009 เพื่อสำรวจดาวฤกษ์ใกล้ๆ สำหรับค้นหาว่ามีดาวเคราะห์คล้ายโลกอยู่ร่วมกาแล็กซีเดียวกันหรือไม่ แต่ด้วยการทำงานของระบบที่ล้มเหลวทำให้ภารกิจตามล่าดาวเคราะห์ซึ่งเป็นภารกิจหลักยุติลงในปี 2013 แต่กล้องเคปเลอร์ยังคงถูกใช้งานเพื่อสังเกตการณ์ด้านอื่น

ส่วนการศึกษาว่าดาวเคราะห์เคปเลอร์-452บีมีชั้นบรรยากาศอย่างที่คาดไว้หรือไม่นั้น จอห์น กรันส์ฟิล์ด (John Grunsfeld) ผู้ช่วยผู้อำนวยการนาซากล่าวว่าต้องรอกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพและความไวมากกว่านี้
ภาพวาดจำลองลักษณะของดาวเคปเลอร์-452บี โคจรรอบดาวฤกษ์ (วงกลมสว่าง) ที่มีอายุประมาณ 6 พันล้านปีใกล้เคียงดวงอาทิตย์ (REUTERS/NASA/Ames/JPL-Caltech/T. Pyle/Handout)
นับจากเดือน ม.ค.2015 จนถึงเดือน ก.ค.นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าที่ดาวเคราะห์เพิ่ม 521 ดวง รวมค้นพบว่าที่ดาวเคราะห์แล้วทั้งหมด 4,696 ดวง และว่าที่ดาวเคราะห์ยังถูกค้นพบเรื่อยๆ ในภาพจุดสีน้ำเงินเป็นว่าที่ดาวเคราะห์ที่พบก่อนหน้านี้ ส่วนจุดสีเหลืองเป็นว่าที่ดาวเคราะห์ที่พบใหม่ ในจำนวนนี้มีบางส่วนเป็นว่าที่ดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงโลก และมีคาบวงโคจรยาว ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นดาวเคราะห์หินและมีน้ำในรูปของเหลวที่พื้นผิว (NASA Ames/W. Stenzel)


ภาพ 12 ว่าที่ดาวเคราะห์ใหม่ที่เล็กกว่า “ขนาดสองเท่าของโลก” และโคจรอยู่ในงานขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ซึ่งเป็นระยะที่น้ำในรูปของเหลวสามารถอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์ที่กำลังโคจรได้ สีเขียวอ่อนเป็นบริเวณที่ประมาณอย่างเคร่งครัดสำหรับขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ส่วนบริเวณสีเขียวเข้มเป็นบริเวณที่ประมาณแบบต่ำสุดสำหรับขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ แกนตั้งแสดงถึงอุณหภูมิพื้นผิวของดาวฤกษ์ ส่วนแกนนอนแสดงถึงพลังงานที่ดาวเคราะห์ได้รับจากดาวแม่ สำหรับวงกลมเปิดสีเหลืองแสดงถึงว่าที่ดาวเคราะห์ที่ค้นพบใหม่ วงกลมเปิดสีน้ำเงินคือว่าที่ดาวเคราะห์ที่ค้นพบก่อนหน้านี้ ส่วนวงกลมทึบเป็นดาวเคราะห์ที่ได้รับการยืนยันแล้ว และเคปเลอร์-452บีดาวเคราะห์ที่เพิ่งได้รับการยืนยันล่าสุดเป็นวงกลมทึบสีเหลือง ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ที่มีความใกล้เคียงดวงอาทิตย์ และมีความใกล้เคียงโลกทั้งขนาดและอุณหภูมิ (NASA Ames/W. Stenzel)

ภาพเปรียบเทียบขนาดของระบบดาวฤกษ์เคปเบอร์-452 กับระบบดาวฤกษ์เคปเลอร์-186 และระบบสุริยะ โดยระบบเคปเลอร์-186 นั้นเป็นเหมือนระบบสุริยะย่อส่วนที่มีขนาดไม่เกินวงโคจรของดาวพุธ ขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ของเคปเลอร์-186 เล็กมากเมื่อเทียบกับเคปเลอร์-452 หรือระบบสุริยะ เนื่องจากเคปเลอร์-186 เป็นดาวฤกษ์ที่เล็กกว่าและเย็นกว่ามาก ส่วนขนาดของขอบเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ของเคปเลอร์-452 นั้นใกล้เคียงระบบสุริยะ แต่ค่อนข้างใหญ่กว่าเนื่องจากเคปเลอร์-452 แก่กว่าดวงอาทิตย์ ทั้งยังใหญ่กว่าและสว่างกว่า ส่วนดาวเคราะห์เคปเลอร์-452บีก็ใกล้เคียงกับโลก และยังใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ 385 วันใกล้เคียงโลก (Ames/JPL-CalTech/R. Hurt)

สำหรับการค้นพบนี้จะตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารดิแอสโทรนิมิคัลเจอร์นัล (The Astronomical Journal)









กำลังโหลดความคิดเห็น