วช.ระดมความคิดร่างยุทธศาสตร์วิจัยเพิ่มปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราภานในประเทศ คาดทำได้ 3 ปีเห็นผลเพิ่มมูลค่ายาง ชี้ปัญหาตรงกันหลายกฎระเบียบไม่เอื้อใช้งานวิจัยยางพารา
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมระดมความคิดร่างยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านยางพาราเพื่อปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราภายในประเทศ เมื่อ 23 ก.ค.58 ณ โรงแรมแก้วสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการ วช. กล่าวว่าการประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2555-2559 โดย วช.มีเครือข่ายทั้ง 4 ภาคและกำหนดให้แต่ละภาคคิดประเด็นของภูมิภาค โดยภาคใต้เห็นปัญหายางพาราเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้ให้ประเทศมากกว่าข้าวในปี 2556
"พื้นฐานตอนนี้เราอาศัยการส่งออก แต่พอหลายประเทศเริ่มลดการนำเข้า อย่างจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ก็ถอยการส่งซื้อ ทำให้ยางเหลือเยอะ ยางจึงราคาตก ยุทธศาสตร์นี้จะเน้นการเอายางมาใช้ประโยชน์ในประเทศมากที่สุดเพื่อทำให้ยางมีราคาขึ้น เพิ่มโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มคุณภาพน้ำยาง และปรับแก้ระเบียบเพื่อให้ใช้น้ำยางได้เยอะขึ้น เช่น ผลิตแล้วให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้" นายกฤษณ์ธวัชกล่าว
ในส่วนของเรื่องการปรับแก้ระเบียบและกฎหมายซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ข้อแรกของร่างยุทธศาสตร์ ได้รับความเห็นไปแนวทางเดียวกันระหว่างการระดมความเห็นว่าทำให้การนำงานวิจัยสร้างผลิตภัณฑ์จากยางพาราไปใช้ไม่ได้จริง
นายเจษฎา อังวิทยาธร จากบริษัท นครศรีพาราวู้ด จำกัด หนึ่งในผู้เข้าประชุมกล่าวว่า บางพื้นที่นำยางพาราไปใช้ทำถนนแล้ว และจากที่เคยได้คุยกับแขวงการทางให้ความเห็นว่าการฉาบยางพาราผิวถนนซึ่งใช้น้ำยาง 5% นั้น ทำให้ขอบถนนแน่นขึ้น น้ำฝนซึมผ่านได้น้อยลง ช่วยยืดอายุการซ่อมบำรุงจาก 3 ปีเป็น 5 ปี และลดอุบัติเหตุเพราะผิวล้อยางเหาะถนนได้ดีขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยชัดเจน แต่ยังไม่มีหน่วยงานรวบรวมข้อมูลเหล่านี้
นอกจากนี้นายเจษฎากล่าวว่ากฎระเบียบในการสร้างถนนนั้นทำให้การนำยางพาราไปสร้างถนนนั้นยังทำไม่ได้ แต่ก็มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ที่ขับเคลื่อนการนำไปใช้ ซึ่งหากทำได้ในระยะเริ่มต้นจะใช้ยางพาราถึง 100,000 ตัน
ทางด้าน รศ.ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา ประธานคณะกรรมการเครือข่ายการวิจัยภูมิภาค: ภาคใต้ กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์ว่ามุ่งเน้นการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศเพื่อสร้างความต้องการยางพาราในประเทศให้เยอะขึ้น เชื่อว่าหากทำได้ภายใน 3 ปี ราคายางพาราจะเพิ่มขึ้น
ในส่วนของกลยุทธ์ข้อแรก รศ.ดร.ก้าน ระบุว่าเป็นเรื่องปรับนโยบายและกฎระเบียบที่จำเป็น ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถนำผลิตภัณฑ์ยางพาราหลายอย่างไปใช้เพราะมีนโยบายและระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้ หากแก้ไม่ได้ ไม่สามารถทำยุทธศาสตร์ข้อ 2 และ 3 ที่ตามมา คือ การวิจัยและพัฒนาองค์ความใหม่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราและการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่โดดเด่นเพื่อใช้ภายในประเทศได้