xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: เปิดแล็บผลิต “ไวรัส" พิฆาตหนอนศัตรูพืช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กล่องเลี้ยงหนอนกระทู้ แหล่งผลิตไวรัสเอ็นพีวีชั้นดี
สมัยนี้ไม่ว่าใครก็อยากรับประทานผักผลไม้สดปลอดสารเคมีกันทั้งนั้น แต่หนอนและแมลงศัตรูพืชก็ยังคงระบาดสร้างความเสียหายให้เกษตรกร นักวิจัยไบโอเทคจึงพัฒนาไวรัสฆ่าหนอนศัตรูพืชที่มีฤทธิ์จำเพาะกับหนอนไม่เป็นอันตรายต่อคน มากำจัดตัวคืบคลานเหล่าร้ายที่สร้างเสียหายต่อวงการเกษตร แต่จะมีวิธีผลิตอย่างไร? มีการนำไปใช้ที่ไหนบ้าง? เราพาไปหาคำตอบ



SuperSci สัปดาห์นี้เราพามาเปิดห้องปฏิบัติการผลิตไวรัสเอ็นพีวีตั้งต้น กันที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ(ไบโอเทค) สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จ.ปทุมธานี กับนายสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ ผู้จัดการโรงงานต้นแบบผลิตไวรัสเอ็นพีวีเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช และร่วมลงพื้นที่ไร่องุ่นคุณธรรม จ.สระบุรี สถานที่นำร่องใช้ไวรัสเอ็นพีวีแทนสารเคมีฆ่าแมลง

นายสัมฤทธิ์ กล่าวว่า ไวรัสเอ็นพีวี (nuclear polyhedrosis virus : NPV virus) เป็นไวรัสที่เกิดโรคกับแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งทำลายแมลงได้โดยเฉพาะหนอนของผีเสื้อ เป็นจุลินทรีย์ในธรรมชาติที่พบในประเทศไทย มีประโยชน์ในการนำมาใช้ควบคุมแมลงกัดกินพืชผลทางการเกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอาทิ ต้นหอม ดาวเรือง หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ องุ่น

นักวิจัยไบโอเทคจึงศึกษาวิจัยไวรัสเอ็นพีวี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กำจัดหนอนนอนแบบไม่ใช้สารเคมี โดยเฉพาะในหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอมและหนอนเจาะสมอฝ้าย ที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายพืชพันธุ์ของเกษตรกรไทย และได้จัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตไวรัสเอ็นพีวีขึ้น เพื่อผลิตไวรัสสำหรับการจัดจำหน่ายเพื่อให้บริการแก่เกษตรกร

สำหรับการผลิตไวรัสเอ็นพีวี นายสัมฤทธิ์ระบุว่า ต้องทำการเพาะเลี้ยงในตัวหนอน การผลิตไวรัสจะผลิตในหนอน ซึ่งหนอนที่จะผลิตต้องมีสายพันธุ์ตรงกับไวรัสที่จะผลิตด้วย เพราะไวรัสเอ็นพีวีมีความจำเพาะกับหนอนชนิดนั้นๆ เช่น จะผลิตไวรัสเอ็นพีวีเพื่อกำจัดหนอนกระทู้ผัก ก็ต้องเลี้ยงเชื้อในหนอนกระทู้ผัก ฉะนั้นโรงงานที่นำชมจึงประกอบไปด้วยห้องจับคู่ผีเสื้อ, ห้องเลี้ยงหนอน, ห้องคัดแยก, ห้องปลูกเชื้อ และห้องจัดเก็บตัวหนอน ที่ทั้งหมดจะดำเนินงานด้วยนักวิจัยภายในห้องปลอดเชื้อเพื่อรักษาความสะอาดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

นายสัมฤทธิ์ พาชมห้องจับคู่ผีเสื้อเป็นอันดับแรก ก่อนอธิบายว่า ที่ต้องมีห้องจับคู่ผีเสื้อนั้น เป็นเพราะต้องการไข่ผีเสื้อสำหรับการผลิตหนอน เพื่อนำไปเลี้ยงสำหรับการผลิตไวรัสเอ็นพีวีต่อไป โดยจะคัดเลือกผีเสื้อกลางคืนพ่อแม่พันธุ์แท้ให้ผสมพันธุ์กัน เมื่อแม่ผีเสื้อจะวางไข่ก็จะบุกระดาษลงในกล่องเพื่อรองรับไข่ผีเสื้อเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายไปฟัก เนื่องจากไข่ผีเสื้อมีขนาดเล็ก สีขาว อ่อนนิ่ม หากทำรุนแรงไข่ก็จะไม่ฟักเป็นตัวหนอน

เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 3-7 วัน ไข่จะเริ่มเป็นตัวหนอน เจ้าหน้าที่จะเลี้ยงหนอนเหล่านั้นไว้ในกล่องพลาสติกสีทึบแข็งซึ่งภายในบรรจุอาหารสังเคราะห์จำพวกโปรตีนและน้ำตาลให้กับหนอน จนเมื่อเวลาผ่านไป 14 วันหนอนจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เจ้าหน้าที่ก็จะเริ่มทำการคัดแยกไปในส่วนของการปลูกเชื้อ เพื่อให้หนอนรับอาหารที่มีการเคลือบเชื้อไวรัสไว้อย่างเต็มที่ด้วยการแยกให้หนอนแต่ละตัวอยู่ในช่องของตัวเองเพื่อจะได้ไม่เกิดการแย่งอาหารกัน

“จากนั้นมื่อหนอนได้รับเชื้อจะตายลงภายใน 7 วัน นักวิจัยจะเก็บหนอนด้วยเครื่องดูดเพื่อเก็บรวมซากหนอนมาปั่นแล้วกรอง เพื่อเอาแต่เชื้อไวรัสที่อยู่ภายในตัวหนอนมาผลิตเป็นหัวเชื้อไวรัสเข้มข้น ก่อนจะนำมาผลิตเป็นหัวเชื้อไวรัสในรูปแบบน้ำสำหรับจำหน่ายให้เกษตรกร เพื่อนำไปผสมน้ำฉีดพ่นในส่วนของใบพืชบริเวณที่พบว่ามีการระบาดของหนอนกระทู้” นายสัมฤทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายสัมฤทธิ์ ยังเผยด้วยว่า ขณะนี้มีการนำเชื้อไวรัสไปใช้จริงแล้วในหลายพื้นที่เช่น ในไร่องุ่น จ.เชียงใหม่, แปลงผลไม้ จ.ราชบุรี รวมไปถึง ไร่องุ่นคุณธรรม จ.สระบุรี ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมลงพื้นที่ไปดูการใช้จริงด้วย โดยเกษตรกรได้สาธิตการนำเชื้อไวรัสเอ็นพีวีมาปรับใช้ควบคู่กับสารเคมีโดยผสมน้ำใช้ในอัตราส่วน 20 ซีซี ต่อไร่องุ่น 1 แปลง ซึ่งช่วยลดปัญหาหนอนกระทู้ ที่เกษตรกรเผยว่าเคยทำให้ไร่ขาดทุนมหาศาลจนตอนนี้สามารถเก็บผลผลิตองุ่นไร้เมล็ดพันธุ์แบล็คโอปอลขายได้มากถึง 1 ตันต่อ 1 ไร่

“นี่เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของการนำไวรัส หรือจุลินทรีย์ที่คนคิดว่าน่าจะมีแต่ด้านร้าย เป็นเชื้อก่อโรค มาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง และอยากให้ประชาชนทราบว่าไวรัสไม่ได้มีแต่โทษเสมอไป ด้านดีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็มีโดยเฉพาะในเชิงการควบคุมทางชีววิธี ซึ่งหากสนใจไวรัสเอ็นพีวีก็สามารถติดต่อมาได้ที่ไบโอเทค เรามีนักวิจัยพร้อมจะให้ความรู้ และมีผลิตภัณฑ์พร้อมให้ประชาชนนำไปใช้งาน” นายสัมฤทธิ์กล่าว
ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชจากไวรัสเอ็นพีวีเข้มข้นในรูปแบบน้ำ สะดวกต่อการใใช้เกษตรกร
ตู้จับคู่ผีเสื้อ
ไวรัสเอ็นพีวีหัวเชื้อจะถูกฉาบลงบนอาหารเพื่อให้หนอนกิน
เจ้าหน้าที่คัดแยกหนอนทีละตัว ใส่ลงในกล่องป้อนเชื้อ
เมื่อหนอนโตเต็มวัยจะถูกแยกให้อยู่ในช่องของตัวเองเพื่อป้องกันการแย่งอาหารและเพื่อให้หนอนได้รับเชื้อไวรัสสูงสุด
องุ่นพันธุ์แบล็คโอปอลมักประสบปัญหาหนอนกระทู้ผักกัดกินยอดอ่อน ทำให้องุ่นไม่ออกผล
นายสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ ผู้จัดการโรงงานผลิตไวรัสเอ็นพีวีตั้งต้น ไบโอเทค









กำลังโหลดความคิดเห็น