ยังคงน่าเป็นห่วงสำหรับวิกฤตภัยแล้ง ที่ปีนี้รุนแรงเป็นพิเศษเนื่องจากฝนขาดช่วงและอิทธิพลจากปรากฎการณ์เอลนิญโญจนหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ลามไปถึงพืชผลทางการเกษตรที่ทยอยยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ทว่าชุมชน "บ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์" ยังคงยิ้มได้แถมยังมีน้ำเหลือกินเหลือใช้ได้ตลอดปี เพราะมีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบจนภัยแล้งไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจสำหรับพวกเขา
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์กำลังกล่าวถึง “หมู่บ้านลิ่มทอง” จ.บุรีรัมย์ ชุมชนพึ่งตนเองที่น้อมนำเอาแนวพระราชดำริฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้านการบริหารจัดการน้ำมาใช้ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบสำหรับการศึกษาดูงานจากคนในพื้นที่อื่น
“จะโทรมาถามเรื่องน้ำแล้งหรอจ้ะ บ้านลิ่มทองไม่แล้งจ้ะ รับมือสบายแล้ง ยิ่งช่วง 3-4 วันนี้ฝนตกด้วย มีน้ำใช้ยันปีหน้าได้เลย” น้ำเสียงสดใสแกล้มเสียงหัวเราะของน้าน้อย หรือ นางสนิท ทิพย์นางรอง ผู้แทนเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชนบ้านลิ่มทอง ตอบผ่านสายโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงแจ่มใสเมื่อทีมข่าวผู้จัดการถามถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
น้าน้อย เผยว่า หมู่บ้านลิ่มทองมีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบควบคู่กับการตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและสภาพภูมิอากาศอยู่เสมอ ทำให้ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชุมชน เพราะเมื่อหลายสิบปีก่อนบ้านลิ่มทองเคยแห้งแล้งหนัก จนเกิดเป็นฉายา "บุรีรัมย์ตำน้ำกิน" ครั้นฤดูฝนก็น้ำท่วมหนักจนทำมาหากินไม่ได้
เกิดเป็นแรงผลักดันให้น้าน้อยเริ่มหาวิธีทางแก้ภัยแล้งด้วยตัวเองในปี 2540 ผ่านการศึกษาแนวทางจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทางอินเทอร์เน็ต ก่อนจะชักชวนให้คนในหมู่บ้านริเริ่มการขุดสระแก้มลิง คลองไส้ไก่ คลองส่งน้ำ คลองชลประทานเพื่อแบ่งน้ำจากต้นน้ำเข้ามาใช้ในพื้นที่จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จนหน่วยงานต่างๆ เริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือทั้งในส่วนของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ที่เข้ามาอบรมแนวคิดการจัดการน้ำให้ในปี 2554 หน่วยงานทางทหารที่เข้ามาอำนวยความสะดวกด้านเครื่องมือขุดลอกคลองชลประทาน และอีกหลายๆ หน่วยงานที่เข้ามาช่วยดำเนินการภายหลังจนมีการสร้างถนนน้ำเดินเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้งขึ้น
ไม่เพียงแค่การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น ชุมชนบ้านลิ่มทองยังมีแนวคิดการทำเกษตรกรรมแบบพอประมาณตามสภาพพื้นที่ของตัวเอง เนื่องจากพื้นที่เดิมไม่มีน้ำมากนัก ชาวบ้านจึงเลือกปลูกข้าวนาปีควบคู่กับพืชใช้น้ำน้อย เช่น แตงโม กล้วย มะพร้าว ดาวเรือง เห็ด เพื่อเพิ่มรายได้ แทนการปลูกข้าวนาปรังที่ใช้น้ำมาก และยังต้องรอฝนหรือน้ำจากชลประทานซึ่งมีความเสี่ยงสูง
"เราเคยแล้งหนักกว่านี้มาก แค่นี้เราจึงรับมือได้ เรารู้อยู่แล้วว่าเดือน ก.ค.-ส.ค.มันจะต้องแล้ง ต้องเป็นแบบนี้ทุกปี แล้ว ดร.รอยล จิตรดอน ท่านก็เคยบอกไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่าปีนี้จะแล้งหนักเพราะมีเอลนิญโญ ต้องเก็บน้ำไว้ให้ดี เราก็ปฏิบัติตามเก็บน้ำไว้ตามแก้มลิง และคลองชลประทานที่ขุดขึ้นเองจึงมีน้ำเต็มเปี่ยมไม่เดือดร้อน ส่วนข้าวนาปีที่เราปลูกอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ก็ยังเป็นกล้าที่ไม่ต้องการน้ำมากจึงไม่เป็นปัญหา จะมีก็แค่ข้าวที่จะเฉาเร็วหน่อยเพราะมันร้อน " น้าน้อย กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้น้าน้อยยังเผยด้วยว่าในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งบ้านลิ่มทองก็ไม่ปล่อยให้ฝนตกไหลทิ้งอย่างเสียประโยชน์ พวกเขาใช้ถนนน้ำเดินเป็นทางบังคับน้ำให้ไหลลงไปเก็บที่สระแก้มลิง ซึ่งเป็นสระเก็บกักน้ำที่มีในบริเวณแปลงนา เมื่อน้ำเต็มน้ำจะดันกันเองจากที่สูงไปที่ต่ำ ค่อยๆ ไหลลงสู่คลองส่งน้ำเพื่อเก็บกักไว้ใช้สำหรับการทำเกษตรกรรมต่อไป
พร้อมกันนี้ยังมีการเรียกประชุมชาวบ้านเพื่อให้ความรู้ด้านชลประทาน สถานการณ์น้ำ และถึงแม้จะมีน้ำใช้อยู่ก็ยังรณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันประหยัดน้ำด้วย
อ่านเรื่องราวก่อนหน้า สู้แล้งด้วยรัก “ลิ่มทอง”พิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งใหม่ที่บุรีรัมย์
*ภาพประกอบทั้งหมดจาก นางสนิท ทิพย์นางรอง