xs
xsm
sm
md
lg

ชวนปลูกป่า 7 ระดับ 5 ประโยชน์ เชื่อทำได้ไม่มีใครเผา-ลดหมอกควัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นางทองดี โพธิยอง
ตัวแทนชาวบ้านจากเชียงใหม่เครือข่ายในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ แนะปลูกป่า 7 ระดับ 5 ประโยชน์ เชื่อทำให้ป่ากินได้ก็ไม่มีใครเผา แก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือได้ผล ระบุประชาชนทำแล้วแต่ได้ช้า ถ้าทหารมาช่วยจะไปได้เร็วขึ้น

นางทองดี โพธิยอง ชาวบ้านจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และตัวแทนเครือข่ายจากพิพิธภัณฑ์ชีวิตสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์เชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แนะแนวทางแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันว่าควรปลูกป่าแบบ 7 ระดับ 5 ประโยชน์ ซึ่งหากทำได้ก็ไม่มีใครเผาป่า และช่วยลดปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือได้

สำหรับการปลูกป่า 7 ระดับนั้น นางทองดีอธิบายว่าเป็นการปลูกไล่ระดับตั้งแต่ระดับ 1 คือการปลูกไม้สูงสุด ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่ช่วยป้องกันลม เรียกน้ำฝน และเป็นที่อยู่อาศัยของผึ้งที่มีคุณต่อป่า เช่น สัก พยุง ยางนา ระดับ 2 คือพืชที่ต่ำลงมาเป็นไม้ยืนต้นเพาะเมล็ดและไผ่ เช่น มะม่วง ระดับ 3 เป็นพืชกิ่งตอน เช่น มะม่วง ลำไย ระดับ 4 เป็นพืชผิวดิน เช่น สะระแหน่ ผักชี ผักกาด คะน้า ระดับ 5 เป็นพืชลงหัว เช่น มัน ขิง ข่า ระดับ 6 เป็นพืชน้ำ เช่น บัว สายบัว ผักกูด ตะไคร้น้ำ และระดับ 7 เป็นพืชเกาะเกี่ยว เช่น เถาวัลย์ ดีปลี พริกไทย พลู ส่วน 5 ประโยชน์คือ ด้านอาหาร ด้านยา ด้านประโยชน์ใช้สอย ด้านรักษาระบบนิเวศ และด้านสร้างรายได้

“ถ้าป่ากินได้ก็ไม่มีใครทำลายป่า เราทำแล้วแต่ไปได้ช้า เพราะทำแค่ภาคประชาชน ถ้าทหารมาช่วยจะไปได้เร็วขึ้น” นางทองดีกล่าวระหว่างรายงานแก่ พลโท สาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 หลังการลงนมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกองทัพภาคที่ 3 และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.58 ในการแก้ปัญหามลพิษหมอกควันจากการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมและไฟป่าภาคเหนือ ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก

นางทองดีกล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์อีกว่า แนวทางปฏิบัตินี้ประสบความสำเร็จแล้วในหลายพื้นที่ อาทิ ชุมชนบ้านทุ่งยาว ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ชุมชนบ้านทาป่านอต ต.ทาเหนือ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และชุมชนบ้านทาชมพู อ.แม่ทา จ.ลำพูน









กำลังโหลดความคิดเห็น