วช.จับมือทหารร่วมวิจัยดับไฟป่า-แก้หมอกควันภาคเหนือให้ตรงจุด แก้ปัญหาปากท้อง ชูระบบเกษตรผสมผสาน ลดเผาหาของป่า
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 ในการแก้ปัญหามลพิษหมอกควันจากการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมและไฟป่าภาคเหนือ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.58 ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก
ข้อมูลจากการลงนามระบุว่าในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดมีการตรวจพบจุดความร้อน (Hotspot) ในเดือน ม.ค.-เม.ย.58 ถึง 13,229 ครั้ง โดยพบทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่เกษตรกรรม
ทั้งนี้ พบว่าจุดความร้อนในพื้นที่ 10 จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าหนาแน่น ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก พะเยา แพร่ น่าน เชียงรายและอุตรดิตถ์ พบจุดความร้อนในเขตป่าไม้ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนจังหวัดอื่นโดยเฉพาะ จ.นครสวรรค์ พบจุดความร้อนสูงในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งพบจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรกรรม 627 ครั้งจากจุดความร้อนทั้งหมด 668 ครั้ง
พลโทสาธิต พิธรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้แทนกองทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงต้นตอปัญหาไฟป่าและหมอกควันว่าเกิดจากบุคคลในระดับชุมชนไม่มีระเบียบวินัย และขาดความเข้าใจในวิถีชีวิต หาของป่าด้วยการเผาป่าเพื่อเอาเห็ด เอาผักหวาน
แนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมา พลโทสาธิตกล่าวว่า ทางกองทัพได้เข้าไปในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจในระดับหมู่บ้านให้ตั้งชมรมป้องกันไฟฟ้า แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจะใช้มาตรการทางกฎหมายโดยร่วมมือกับตำรวจ แต่จะใช้โทษปรับ ไม่จำคุก เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนรู้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
"ปัจจุบันเราใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย เอาภาพถ่ายดาวเทียมมาตรวจดูว่าชุมชนที่เราเข้าไปสร้างความเข้าใจนั้นให้ความร่วมมือหรือไม่ โดยดูได้จากฮอตสปอตจากภาพดาวเทียม หากพื้นที่ใดเผาป่าจะเห็นจุดแดงในภาพดาวเทียม จากนั้นเราจะให้เจ้าที่เข้าไปดำเนินการ หวังว่ามีความร่วมมือกับ วช.แล้วจะได้นำความเข้าใจด้านวิชาการไปให้ชุมชน" แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าว
ด้าน น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศรองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ปัจจุบันไฟป่าและหมอกควันนั้นเกิดจากคนที่มีต้นตอมาจากปัญหาปากท้องและวิถีชีวิต แต่ในส่วนของ วช.จะเข้าไปร่วมกับเครือข่ายเอางานวิจัยที่มีไปใช้สร้างอาชีพให้ชุมชน
หนึ่งในแนวทางความร่วมมือครั้งนี้คือการส่งเสริมระบบเกษตรแบบไม่เผา และรองเลขาฯ วช.ยกตัวอย่างงานวิจัยแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่พร้อมใช้จริง อาทิ งานวิจัยจำลองปริมาณคาร์บอนซึ่งพบว่า จ.น่านที่ทำไร่ข้าวโพดมีปริมาณคาร์บอนสูง งานใช้แสงสว่างจากเซลล์แสงอาทิตย์แทนกานจุดไฟ การกักเก็บน้ำในพื้นที่สูง หรือการทำปุ๋ยสั่งตัดซึ่งต้องทราบว่าดินมีธาตุอาหารเท่าไร และทำให้ไม่ต้องเผาพื้นที่เกษตรกรรม
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างงานวิจัยเรื่องหมอกควันและไฟป่าอื่นๆ จากระบบบริหารงานวิจัยแห่งชาติ อาทิ การพัฒนาพลังงานจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร, การศึกษาเปรียบเทียบสารประกอบโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนของฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ในช่วงก่อนและขณะเกิดวิกฤตหมอกควันในภาคเหนือตอนบน, ผลกระทบของไฟป่าต่อสังคมพืชในพื้นที่ต้นน้ำ และผลกระทบของไฟป่าต่อสมบัติของดินในพื้นที่ต้นน้ำ