xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ฟิลิปปินส์คว้าสุดยอดแชมป์แข่งโครงงานวิทย์ระดับอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกฤต กรวยกิตานนท์ และนายบุณยกร อัศวนิเวศน์  ตัวแทนจากประเทศไทยคว้ารางวัลชนะเลิศด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและรางวัลแชมป์ออฟเดอะแชมป์
ไทย-ฟิลิปปินส์คว้าสุดยอดแชมป์แข่งโครงงานวิทย์ระดับอาเซียน ด้านสิงคโปร์ไม่น้อยหน้าคว้ารางวัลไปเพียบ ส่วนลาวแม้ไม่ได้รางวัลแต่ไม่เสียใจ เพราะได้ประสบการณ์และได้เห็นวิทยาศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน ด้านคณะจัดงานคาดปีหน้าพม่า เขมร บรูไนจะเข้าร่วมการแข่งขันด้วย

จบไปอีกหนึ่งรายการสำหรับการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนอาเซียนครั้งที่ 1 ซึ่งประเทศไทยได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 6-10 ก.ค. 2558 ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี

การแข่งขันการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 1 (The First ASEAN Student Science Project Competition) เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนทั้งระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศอาเซียนได้มาแบ่งปันความรู้ และเนื้อหาสาระวิทยาศาสตร์ผ่านการจัดแสดงโครงงาน เพื่อเฟ้นหาสุดยอดไอเดียจากเยาวชนกว่าร้อยชีวิตที่เข้าร่วมซึ่งในปีนี้มีทั้งหมด 7 ชาติได้แก่ สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, ลาว, อินโดนีเซีย, มาเลเซียเวียดนาม และไทย ขาดเพียงแค่พม่า, บรูไนและกัมพูชาที่ไม่ได้ส่งผลงานเข้าร่วม

การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน มีความพิเศษกว่าการแข่งโครงงานทั่วไปเพราะผู้เข้าแข่งขันจะต้องเขียนขั้นตอนการวิจัย และนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษให้แก่คณะกรรมการจากหลากหลายชาติที่มาร่วมตัดสินฟังแบบปากเปล่า ซึ่งจะใช้เกณฑ์การตัดสินระดับนานาชาติ 5 เกณฑ์ ได้แก่ ระเบียบวิธีวิจัย, การออกแบบการทดลอง, ความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่, แนวทางแก้ปัญหา และการนำเสนอ

โครงงานของเยาวชนที่ร่วมแข่งขันในครั้งนี้มีมากถึง 29 โครงงาน โดยจะแบ่งระดับเยาวชนออกเป็นรุ่นจูเนียร์ (Junior) สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และรุ่นซีเนียร์ (Senior) สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจะแบ่งโครงงานออกเป็น 3 ด้านคือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ, วิทยาศาสตร์กายภาพ และนวัตกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งมีการแข่งขันภายในแบบไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะเปิดให้บุคคลทั่วไปชมผลงานได้ในวันที่ 9 ก.ค. พร้อมประกาศผลการแข่งขัน ซึ่งโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เข้าร่วมด้วย

น.ส.มาเรียน อาร์ คาบันโทแคน (Miss Marian R. Cabuntocan) อายุ 16 ปี ตัวแทนจากประเทศฟิลิปปินส์ผู้คว้ารางวัลโครงงานแชมป์ออฟเดอะแชมป์เผยกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รู้สึกปลาบปลื้มและดีใจมากที่ทีมของเธอได้รับรางวัล เพราะงานวิจัยของเธอค่อนข้างซับซ้อนและเข้าใจยากเนื่องจากเป็นการวิจัยเกี่ยวกับการยับยั้งการตายของเซลล์สมอง ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จากสารสกัดเซลล์ผิวของหมึก ซึ่งมีมากในทะเลฟิลิปปินส์ โดยใช้เวลาในการเตรียมงานมากกว่าครึ่งปีและเก็บผลวิจัยเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม

"ฉันไม่คิดว่าจะมีใครสนใจงานของฉันด้วยซ้ำ เพราะฉันเคยนำงานชิ้นนี้ไปประกวดในเวทีหนึ่งแต่ได้แค่รางวัลเล็กๆ มา ฉันกับเพื่อนจึงกลับมาพัฒนางานให้ดีขึ้น เพื่อในอนาคตจะสามารถขยายผลไปใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้จริงจนมาได้รางวัลจากเวทีนี้ซึ่งใหญ่และดีมากในความคิดของฉัน ฟิลิปปินส์มาแข่งครั้งนี้นำนักเรียนมาแข่ง 3 ทีมแต่ได้รางวัลถึง 2 ทีม ฉันถือว่าประสบความสำเร็จ แล้วฉันก็ประทับใจพี่ๆ ทีมงานของ อพวช.และเพื่อนๆ จากประเทศอื่นๆ ทุกคนเป็นมิตรมาก เป็นการแข่งที่สนุก" น.ส. เคนเนท มิเชล แองเจโล ตัวแทนจากฟิลิปปินส์อีกคนเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน นายกฤต กรวยกิตานนท์ และนายบุณยกร อัศวนิเวศน์ นักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ตัวแทนเยาวชนประเทศไทยที่คว้าสุดยอดรางวัล ทั้งชนะเลิศด้านโครงงานวิทยาศาสตร์กายภาพและรางวัลแชมป์ออฟเดอะแชมป์ โดยทำโครงงานการตรวจวิจัยฟองอากาศเพื่อตรวจสอบระดับออกซิเจนเพื่อบ่งบอกคุณภาพน้ำ เผยว่ารู้สึกงงแต่ก็ดีใจที่ได้รับรางวัล เพราะโครงงานชิ้นนี้เริ่มขึ้นทำด้วยตัวเองจากความสนใจตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

นายกฤต เผยว่าแรงบันดาลใจของโครงงานนี้เริ่มจากการสังเกตตู้ปลาในห้องปฏิบัติการที่โรงเรียน ซึ่งมักมีฟองอากาศให้เห็นอยู่เสมอ เขาจึงเกิดคำถามว่าปริมาณและปริมาตรยองฟองอากาศจะมีผลอะไรต่อปริมาณออกซิเจนในน้ำหรือไม่ จึงพยายามค้นคว้าและนำสูตรทางฟิสิกส์มาใช้ เพื่อคำนวณการเปลี่ยนแปลงปริมาตรของฟองอากาศ เพื่อหาความสัมพันธ์ของปริมาณออกซิเจน จนสามารถหาสูตรคำนวณได้

"ผมรู้ความสัมพันธ์แล้วแต่มันคำนวณยากนิดนึง เลยคิดต่อยอดทำให้ตอนนี้ผมพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของปริมาตรฟองอากาศขึ้นด้วย เพื่อให้ในอนาคตเราจะสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องส่งตัวออย่างน้ำไปตรวจในห้องปฏิบัติการซึ่งใช้เวลานาน หรือตรวจวัดด้วยเครื่องดีโอเพื่อดูปริมาณออกซิเจนซึ่งมีราคาแพง สำหรับรางวัลที่ได้ถือเป็นของขวัญสำหรับความพยายาม เพราะกว่าจะทำได้ต้องผ่านหลายขั้นตอน และที่สำคัญคือเป็นชื่อเสียงของประเทศ และมากไปกว่านั้นการแข่งขันนี้ยังทำให้ผมได้เพื่อนใหม่ๆ จากหลากหลายประเทศ ได้ฝึกภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นด้วย" นายกฤต กล่าว

ในส่วนของ นาย แทน ชิห์เซน เซดริค (Mr.Tan ChihShen Cedric) น.ส.กวก หลิง ยี่ สมันตา (Miss Kwok Ling Yi Samantha) และ น.ส.โซฮุน หลิง (Miss SohHui Ling) ตัวแทนเยาวชนรุ่นใหญ่จากประเทศสิงคโปร์ที่คว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และประเภทนวัตกรรมสร้างสรรค์ เผยว่า รู้สึกปลาบปลื้มที่ทำรางวัลให้กับประเทศได้สำเร็จ 100% เพราะสิงคโปร์ส่งตัวแทนประเทศมา 3 คน แบ่งออกเป็น 2 ทีม แต่ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 2 ทีม

น.ส.โซฮุน เผยว่า รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัล เพราะโครงงานที่เธอทำต้องใช้ความทุ่มเทมาตลอดกว่า 1 ปีโดยเป็นการศึกษาวิจัยด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ เกี่ยวกับอนุภาคนาโนเพื่อนำมาทำแอปพลิเคชันสำหรับการสร้างภาพจำลองและสังเคราะห์โพลิเมอร์ที่จะนำไปใช้สำหรับการพัฒนาเป็นตัวเร่งปฏิกริยาชนิดใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่การพัฒนายาในอนาคต เป็นงานที่ค่อนข้างยากซึ่งเธอตั้งใจทำขึ้นเพื่อเป็นผลงานสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

"ส่วนงานของผมเป็นด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ผมทำวิจัยเกี่ยวกับพืชผักเกษตรอินทรีย์ ด้วยการพยายามลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชด้วยกระบวนการอิเล็กโทรไลต์ เพื่อให้ผักผลไม้โดยเฉพาะบลอกโคลี ซึ่งปนเปื้อนยาฆ่าแมลงมากปลอดภัยมากขึ้น เพื่อให้คนสิงคโปร์และคนทั่วโลกได้กินผักผลไม้ที่ปลอดภัย ส่วนตัวดีใจมากกับรางวัลที่ได้รับเพราะผมมาแบบไม่ค่อยรู้ตัว รู้อีกทีคือถูกคัดเลือกให้มาแล้ว อาจจะเป็นเพราะทำงานวิจัยมาตลอด เลยได้รับคัดเลือก และนี่เป็นเวทีใหญ่มีการแข่งขันสูงในระดับอาเซียน แล้วก็ยิ่งดีใจมากขึ้นไปอีกเมื่อโครงงานของเพื่อนอีก 2 คนก็ได้รับรางวัลด้วย เพราะผมรู้สึกว่าประเทศของเราส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์อย่างดี มีการสนับสนุน มีสถาบันวิทยาศาสตร์ที่ดี ผมเลยรู้สึกดีที่ได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศเพิ่มขึ้น" นายแทน กล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ขณะที่ นายแสงตะวัน วีระถาวร นักเรียนจากโรงเรียนพอนสะหวัน ตัวแทนจาก สปป.ลาว กล่าวว่า ไม่เสียใจที่การแข่งขันครั้งนี้ลาวจะไม่ได้รางวัลอะไรกลับไปเลย เพราะเขาได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการแข่งขันกลับไปมากมาย ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ และได้มาเห็นว่าวิทยาศาสตร์ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร ซึ่งเขาจะนำไปบอกเล่าและกลับไปเตรียมตัวมาใหม่เพื่อการแข่งขันในปีหน้า

ด้าน รศ.ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า รู้สึกปลาบปลิ้มและโล่งใจที่การแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์อาเซียนในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยประเทศไทยเสร็จสมบูรณ์ราบรื่นไปได้ด้วยดี ทั้งในส่วนของกานแข่งขัน การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของอพวช. และการนำเที่ยวในสถานที่ทางวัฒนธรรมของไทยตลอด 5 วันที่ผ่านมา
 
"หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การแข่งขันในครั้งหน้าจะได้เห็นเยาวชนสมาชิกจากประเทศกัมพูชา พม่าและบรูไนด้วย การแข่งขันครั้งนี้เราไม่อยากให้ทุกคนสนใจแต่ความแพ้ชนะ เพราะวัตถุประสงค์หลักคือการเปิดโอกาสให้เยาวชนหัวดีจากแต่ละประเทศได้รู้จักกัน ได้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันซึ่งจะมีผลต่อวงการวิทยาศาสตร์อาเซียนระยะยาว และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปีหน้าเราจะได้มาพบกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาทั้ง 10 ประเทศด้วย" รศ.ดร.ทิพาพรกล่าว

******* สำหรับผลการแข่งขันทั้งหมด ดังนี้ *********

- ทีมชนะเลิศระดับเยาวชนมัธยมศึกษาตอนต้น
ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์
ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์
ด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ ประเทศไทย
และรางวัลรางวัลแชมป์ออฟเดอะแชมป์รุ่นเยาว์ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์

- ทีมชนะเลิศระดับเยาวชนมัธยมศึกษาตอนปลาย
ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่ ประเทศไทย
ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์
ด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์
และรางวัลรางวัลแชมป์ออฟเดอะแชมป์รุ่นใหญ่ได้แก่ ประเทศไทย
มีการมอบรางวัลกิจกรรมดีเด่นแก่เยาวชนด้วย
เยาวชนจากประเทศฟิลิปปินส์คว้ารางวัลชนะเลิศด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและรางวัลแชมป์ออฟเดอะแชมป์รุ่นจูเนียร์
ด.ช.ธีรภัทร์ สนองญาติ และ ด.ช.รังสิมันต์ กุลเพชรจิระ ตัวแทนเยาวชนไทยคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทนวัตกรรมสร้างสรรค์
เยาวชนจากประเทศสิงคโปร์และครู
Mr.Tan ChihShen Cedric, Miss Kwok Ling Yi Samantha Miss SohHui  Ling จากประเทศสิงคโปร์คว้ารางวัลชนะเลิศประเพทวิทยาศาสตร์ชีวภาพและนวัตกรรมสร้างสรรค์
Mr.Tan ChihShen Cedric, Miss Kwok Ling Yi Samantha Miss SohHui  Ling จากประเทศสิงคโปร์คว้ารางวัลชนะเลิศประเพทวิทยาศาสตร์ชีวภาพและนวัตกรรมสร้างสรรค์
นักเรียนไทยรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ2 ประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
เยาวชนจากประเทศอินโดนีเซียรับรางวัลจาก นางกรรณิการ์วงศ์ทองศิริ รองผอ.อพวช.
นักเรียนมาเลเซียและไทย รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนวัตกรรมสร้างสรรค์ระดับซีเนียร์
เยาวชนจาก สปป.ลาว
เยาวชนทั้ง 7 ชาติร่วมฟังการประกาศปลการแข่งขัน









กำลังโหลดความคิดเห็น