xs
xsm
sm
md
lg

เปิบพิสดาร "ค้างคาวทอด" เสี่ยงรับสารพัดโรคทั้งอีโบลา-เมอร์ส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพค้างคาวแม่ไก่ (ถ่ายโดย ผศ.ดร.ประทีป ด้วงแค คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญค้างคาว)
นักวิจัยเตือน "กินค้างคาวทอด" ไม่น่าอร่อยแถมเสี่ยงติดโรคถึงตาย แนะทางที่ดี "อย่าเข้าใกล้" ทั้งแบบเป็นและตาย ยกเป็นสัตว์พาหะตัวร้ายนำสารพัดโรคติดเชื้ออันดับ 1 ย้ำจับค้างคาวผิดกฎหมายสัตว์คุ้มครองแถมทำลายระบบนิเวศ

จากกรณีชาวบ้านในพื้นที่บ้านห้วยเฮี้ยน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ บุกรุกพื้นที่เขตป่าอุทยานฯ ลักลอบจับค้างคาวสามศรเพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารขายในราคา 4 ตัว 20 บาท จนถูกจับกุมไปแล้วนั้น ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ต่อสายตรงไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคค้างคาวที่เกิดขึ้น พร้อมสอบถามถึงอันตรายและเชื้อโรคที่อยู่ภายในตัวค้างคาว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่อันดับ 1 ของเมืองไทย กล่าวว่า ถ้าติดตามการระบาดของโรคอุบัติใหม่ หรือโรคระบาดต่าง ๆ จะทราบว่า "ค้างคาว" เป็นสัตว์อันดับต้นๆ ที่เป็นแหล่งรังโรค หรือพาหะที่นำโรคมาติดต่อในคน เพราะค้างคาวไม่ใช่สัตว์ปีก (Aves) จึงค่อนข้างต่างจากนกที่เชื้อโรคส่วนมากจะไม่ติดต่อมาสู่คนยกเว้นกรณีของไข้หวัดใหญ่

ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (mammal) เหมือนคน เชื้อโรคในตัวค้างคาวจึงมีเหมือนสัตว์ป่าและสามารถติดต่อมาสู่คนได้ด้วยสาเหตุตามหลักวิวัฒนาการ แต่สิ่งที่พิเศษกว่าคือ ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีปีก มีขาจึงอาศัยอยู่ได้ในหลายพื้นที่และยังแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ในแง่ของระบาดวิทยา จึงยกให้ค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคติดต่อจากคนสู่สัตว์อันดับ 1

"ในตัวค้างคาวนี่มีสารพัดโรคเลยทีเดียวเด่น ๆ คือ ไข้สมองอักเสบเฮนดรา ที่เคยเกิดในประเทศออสเตรเลีย, โรคไข้สมองอักเสบนิปปาห์ในประเทศมาเลเซีย, โรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นกันทั่วโลก หรือแม้กระทั่งโรคอีโบลาและเมอร์สก็มีแหล่งรังโรคในค้างคาว ทางที่ดีผมว่าคนไม่ควรไปยุ่งกับมันทั้งแบบที่ยังมีชีวิตและไม่มีชีวิต ถึงแม้มันจะโดนทอดด้วยอุณหภมิสูงเชื้อน่าจะตายหมดแล้วก็ยังไม่ควรบริโภค แต่ที่ผมเป็นห่วงคือคนชำแหละ เพราะเขาต้องสัมผัสกับเลือดหรือชิ้นส่วนของค้างคาว ไม่ต้องถึงขั้นมีแผลเพราะแค่ลืมตัวเอามือที่ไปจับค้างคาวมาป้ายปาก ป้ายจมูก ก็มีโอกาสติดโรคจากค้างคาวแล้ว" ศ.นพ.ยง กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้าน ดร.สุภาพร วัชรพฤกษาดี นักวิชาการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ค้างคาวสามศร เป็นค้างคาวกินแมลงขนาดเล็กซึ่งมีบันทึกการตรวจสอบพบเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus) จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นในต่างประเทศซึ่ง "เมอร์ส" ก็เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึง "เชื้อไวรัสอีโบลา" ที่นักวิจัยจากประเทศจีนตรวจพบจากชิ้นส่วนเครื่องในของค้างคาวกินแมลง

จากการวิจัยของหลายๆ ประเทศก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ค้างคาวกินแมลงเป็นแหล่งรังโรคไวรัสที่ติดจากสัตว์สู่คนได้อย่างน้อย 60 ชนิด อย่างที่เคยทำให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คนมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่น เชื้อไวรัสนิปปาห์ เชื้อไวรัสเฮนดรา ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ, เชื้อโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเมอร์ส ไวรัสอีโบลาที่ทำให้เกิดโรคอีโบลา, เชื้อไวรัสแอสโทรที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง

"ค้างคาวน่ากลัวและเป็นสัตว์ที่ไม่ควรยุ่งด้วยอย่างยิ่ง ขนาดเราที่เป็นนักวิจัยเองยังต้องระวังเพราะการตรวจแต่ละครั้งทำให้รู้ว่า ในตัวค้างคาวมีเชื้อโรคเยอะมาก เพราะค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เชื้อจากค้างคาวจึงติดต่อมาสู่คนได้ และที่น่ากลัวไปมากกว่านั้นคือเชื้อโรคบางชนิดเมื่ออยู่ในค้างคาวไม่ได้ทำให้ค้างคาวตาย เพราะมันต้องอาศัยค้างคาวเป็นแหล่งอาศัยแบบภาวะพึ่งพาอาศัย แต่เมื่อเชื้อโรคถูกส่งต่อมาสู่คนกลับทำให้คนตายได้ และเราก็สังเกตไม่ออกว่าค้างคาวตัวไหนมีเชื้อโรค แต่เท่าที่เคยลงพื้นที่เจาะเลือดตรวจสอบพบว่าค้างคาวส่วนใหญ่มีเชื้อโรคหลายชนิดที่สามารถติดต่อสู่คนได้" ดร.สุภาพร เผย

นอกจากนี้ ดร.สุภาพร ยังกล่าวด้วยว่า หากประชาชนพบค้างคาวตายโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถส่งมาตรวจสอบได้ที่ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เพื่อประโยชน์ทางการทำวิจัย เพราะการจับค้างคาวในประเทศไทยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง งานวิจัยที่ผ่านมาของเธอจึงเป็นการจับเป็นเพื่อเจาะเลือดเก็บตัวอย่าง รวมไปถึงการเก็บซากมูลหรือขี้ค้างคาวเพื่อนำไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการต่อไป

ในส่วนของ ศ.ดร.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน และอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่เพียงแต่การจับค้างคาวมาทอดหรือปิ้งเพื่อประกอบอาหารเท่านั้น การเชือดค้างคาวสดเพื่อดื่มเลือดก็เป็นพฤติกรรมที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่นิยมทำ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อันตรายและควรหยุดเสีย เพราะในเลือด เครื่องใน เนื้อ น้ำลายหรือแม้กระทั่งมูลของค้างคาวล้วนมีเชื้อก่อโรคอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ค้างคาวยังเป็นสัตว์ผู้พิทักษ์ระบบนิเวศน์ที่ดี เพราะมีหน้าที่แพร่กระจายเกสรดอกไม้ เมล็ดพันธุ์พืช ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยคุมสมดุลแมลงในธรรมชาติไม่ให้มีมากจนเกินไป อีกทั้งมูลค้างคาวยังเป็นปุ๋ยบำรุงดินที่ดี การดักจับค้างคาวในปริมาณมากถึง 2,750 ตามที่แหล่งข่าวก่อนหน้าระบุจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากค้างคาวแล้วยังเป็นการทำลายระบบนิเวศด้วย

"อาหารเราก็เยอะนะครับ ไม่น่าไปกินมันหรอกค้างคาวเนี่ย โดยเฉพาะค้างคาวสามศรตัวเล็กนิดเดียว น่าจะมีแต่กระดูก แต่ก็แปลกไม่รู้ทำไมคนไทยชอบทำร้ายสัตว์สงวนกัน ผมอยากให้หยุดพฤติกรรมเหล่านี้เสีย ต่างคนต่างอยู่น่าจะดีกว่า ค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคหลายชนิด ที่พร้อมติดสู่คนได้แบบง่ายๆ ทางที่ดีที่สุดเราไม่ควรไปยุ่งกับมันเลยจะกว่า" ศ.ดร.นพ.ธีระวัฒน์เตือนถึงอันตราย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน และอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สุภาพร วัชรพฤกษาดี นักวิชาการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย









กำลังโหลดความคิดเห็น