xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนากระดาษตรวจ "ดินประสิว" ในอาหารได้ง่ายขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย สกว. พัฒนาการวิเคราะห์ตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหารด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดบนกระดาษที่มีความจำเพาะสูงต่อไนไตรท์และไนเตรท โดยใช้ระบบการตรวจวัดเชิงสี เป็นเทคนิคที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ได้ผลถูกต้องแม่นยำ คนทั่วไปใช้ได้ พกพาสะดวก

ดร.วิจิตรา เดือนฉาย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นประกอบกับวิถีชีวิตของคนในสังคมที่มีความต้องการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน ทำให้คนส่วนใหญ่หันไปบริโภคอาหารตามท้องตลาดมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการได้นำสารเคมีชนิดต่างๆ ผสมลงไปในอาหาร เพื่อรักษาสภาพอาหารให้มีความสดและใหม่อยู่ตลอดเวลา

ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค โดยพบว่าอาหารหลายชนิดมีสารเคมีอันตรายปนเปื้อนอยู่ เช่น ไนไตรท์ และไนเตรท หรือที่เราเรียกกันว่าดินประสิว โดยเฉพาะที่อยู่ในรูปของเกลือเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่นิยมใช้กันมากในการแปรรูปเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อหมัก เพื่อป้องกันการเน่าเสีย ช่วยให้เนื้อสัตว์มีสีแดง และมักใช้เป็นสารเติมแต่งและสารกันบูดในอาหาร

เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองไวต่อสารนี้เป็นพิเศษ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด ปวดศีรษะ และอาการเขียวคล้ำตามร่างกาย   นอกจากนี้ไนไตรท์ยังสามารถทำปฏิกิริยากับเอมีนในอาหารกลายเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรง คือ ไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับ กระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร หากได้รับในปริมาณที่มากอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้  

ดังนั้น การวิเคราะห์ตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหารจึงมีความจำเป็น ซึ่งในปัจจุบันมีหลายเทคนิคที่นิยมใช้ ซึ่งมีความถูกต้อง แม่นยำ แต่พบว่ายังมีข้อจำกัดคือ ต้องใช้ปริมาณของสารตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์จำนวนมากในบางเทคนิค อุปกรณ์มีราคาสูง ขั้นตอนซับซ้อน จำเป็นต้องมีผู้มีความชำนาญในการใช้เครื่องมือ นอกจากนี้บางเทคนิคต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ และอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้นอกสถานที่

ดร.วิจิตรา เดือนฉาย จึงได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดบนกระดาษให้มีขนาดเล็กด้วยวิธีการเทียบสี เพื่อวิเคราะห์ตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหารที่มีความจำเพาะสูง มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ราคาถูก ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะนำมาใช้ในการตรวจวัดหาสารปนเปื้อนในอาหารทดแทนวิธีการตรวจวัดในแบบเดิม

ดร.วิจิตราระบุว่า การประยุกต์ใช้อุปกรณ์การตรวจวัดไนไตรท์และไนเตรท เมื่อสารตั้งต้นทำปฏิกิริยากับไนไตรท์และไนเตรทแล้วเกิดสีม่วง จะถูกเคลือบบนกระดาษกรอง และช่องของการไหลจะถูกกั้นด้วยหมึกพิมพ์แวกซ์ โดยอุปกรณ์ที่ออกแบบนี้จะทำการเพิ่มขั้นตอนเปลี่ยนไนเตรทเป็นไนไตรท์ด้วยผงสังกะสี ซึ่งจะถูกนำมาเคลือบลงบนอุปกรณ์ตรวจวัดบนกระดาษบริเวณช่องไหล

จากนั้นจึงหยดซัลฟานิลาไมด์เคลือบไว้บริเวณตรวจวัด ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วจึงหยดสารตัวอย่างลงบนอุปกรณ์กระดาษบริเวณตรงกลางของชุดตรวจวัด สารตัวอย่างจะไหลไปทำปฏิกิริยากับสารตั้งต้นที่เคลือบไว้บริเวณที่ทดลองเกิดการเปลี่ยนแปลงสี และสามารถตรวจวัดสีม่วงบนอุปกรณ์ตรวจวัดบนกระดาษสังเกตได้ด้วยตาเปล่า อีกทั้งสามารถหาปริมาณของไนไตรท์และไนเตรทโดยการเปรียบเทียบสีกับค่ามาตรฐาน

“งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อนในอาหารที่มีกระบวนการสร้างอุปกรณ์ที่ง่าย โดยใช้ระบบการตรวจวัดเชิงสี ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและได้ผลการตรวจวิเคราะห์ที่มีความถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งยังใช้ปริมาณสารตัวอย่างจำนวนน้อยในการวิเคราะห์ จุดเด่นของอุปกรณ์ตรวจวัดบนกระดาษ คือ สามารถตรวจวัดปริมาณสารปนเปื้อนในอาหารในเชิงปริมาณที่มีความเข้มข้นต่ำ ๆ ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดตรวจวัดในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่สามารถตรวจวัดสารปนเปื้อนได้ในเชิงคุณภาพที่มีความเข้มข้นสูง บุคคลทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีความชำนาญ อีกทั้งขนาดของอุปกรณ์นั้นมีขนาดเล็กสามารถพกพาไปใช้ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ง่าย” ดร.วิจิตรากล่าวสรุป










กำลังโหลดความคิดเห็น