xs
xsm
sm
md
lg

สดร. ปักหมุด “อุทยานดาราศาสตร์” หวังดันไทยขึ้นแท่นผู้นำดาราศาสตร์อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สดร.เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ไทย ปักหมุดสร้างอุทยานดาราศาสตร์ที่เชียงใหม่ หวังให้เป็นเมืองหลวงดาราศาสตร์ของประเทศ ยกระดับการศึกษาดาราศาสตร์ไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ เตรียมขึ้นแท่นผู้นำดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

น.ส.จุลลดา ขาวสะอาด ผู้อำนวยการกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า “อุทยานดาราศาสตร์" (Astro Park) มีเป้าหมายสำคัญที่จะให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษา ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์ของประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ภูมิภาคทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พิษณุโลก และขอนแก่น เชื่อมโยงเครือขายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ณ สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน และออสเตรเลีย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับหอดูดาวเครือข่ายในต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น

นอกจากนี้ อุทยานดาราศาสตร์ยังจะเป็นศูนย์รวบรวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ เป็นศูนย์บริการข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีและจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ เป็นแหล่งข้อมูลจดหมายเหตุดาราศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการ และในอนาคตยังมีแผนดำเนินการเป็นศูนย์ฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งบ่มเพาะบุคลากรทางดาราศาสตร์ให้มีองค์ความรู้ขั้นสูง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิทยาการดาราศาสตร์ในภูมิภาคอีกด้วย

น.ส.จุลลดา กล่าวเพิ่มเติมว่า อุทยานดาราศาสตร์มีเนื้อที่ประมาณ 54 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย

1. อาคารศูนย์วิจัยและบริการทางดาราศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นอาคารสำนักงานและดำเนินการกิจด้านต่างๆ ของสถาบัน
2. อาคารปฏิบัติการและอาคารเครื่องเคลือบกระจก
3. อาคารฉายดาวและพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยส่วนท้องฟ้าจำลอง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร ความจุประมาณ 100 ที่นั่ง และส่วนนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุดาราศาสตร์
4. อาคารหอดูดาว เป็นอาคารสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบต่างๆ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง จำนวน 4-6 กล้อง สำหรับให้บริการดูดาว สังเกตวัตถุท้องฟ้า รวมทั้งถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า
5. อาคารศูนย์ประชุม เป็นศูนย์การเรียนรู้และปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ จัดประชุม อบรม สัมมนา และกิจกรรมบริการวิชาการทางดาราศาสตร์
6. ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง ใช้ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เช่น กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน การสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ รองรับประชาชนได้มากกว่า 500 คน

น.ส.จุลลดากล่าวว่า แผนดำเนินการก่อสร้างอุทยานดาราศาสตร์เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ในกรอบวงเงินงบประมาณ 400.6 ล้านบาท หากอุทยานดาราศาสตร์ก่อสร้างแล้วเสร็จ เราหวังจะให้จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นเมืองหลวงดาราศาสตร์ของไทย และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ของชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำหนดแล้วเสร็จประมาณปี 2561




















กำลังโหลดความคิดเห็น