xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยชี้รอความหวังน้ำฝน 2 เดือนฝ่าวิกฤตแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
นักวิจัย สกว.ระบุวิกฤตภัยแล้งต้องรอความหวังน้ำฝน 2 เดือน ส.ค.-ก.ย. แนวโน้มฝนตกแค่ 100 วัน แนะปลูกข้าวระยะสั้น พร้อมลุ้นระดับน้ำในเขื่อนวันที่ 1 พ.ย.หากมีน้ำแค่ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเพียงพอแค่ผลิตน้ำประปาไปถึงแล้งหน้า แต่ตั้งเป้าให้มีถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เพื่อเพียงพอถึงฤดูฝนหน้า ส่วนนาปรังยังไม่สามารถทำได้ ขณะที่เอลนิญโญคาดจะรุนแรงไปถึง ธ.ค.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวที “วิกฤตภัยแล้ง: น้ำ ดิน อากาศและการรับมือ” เมื่อวันที่ 15 ก.ค.58 ณ สำนักงานกองทันสนุบสนุนการวิจัย เพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแนวทางแก้ปัญหาและการรับมือบนฐานความรู้ด้านต่างๆ จากนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว.

ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นว่า เป็นผลสืบเนื่องจากภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ซึ่งน้ำเต็มทุกเขื่อน นโยบายรัฐบาลในช่วงนั้นจึงให้ “กดน้ำ” น้ำในเขื่อนเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วม ซึ่งปริมาณน้ำในเขื่อนวันที่ 1 พ.ค. จะเป็นตัวกำหนดว่าเราควรกักน้ำอย่างไร โดยปกติจะกดให้เหลือ 50% เพื่อรอรับฝนแรกในช่วง มิ.ย.-ก.ค. แต่มาตรการใหม่ลดเหลือ 45% โดยเริ่มใช้มาตรการใหม่นี้ในปี 2555

“ทว่า ในช่วงปี 2556-2558 มีน้ำเข้าในเขื่อนน้อย และใช้เกณฑ์การกดน้ำต่ำกว่าเดิมจนเหลือน้ำในเขื่อนเพียง 30% ส่วนหนึ่งเพราะเราใช้น้ำเยอะ โดยผันไปใช้ในนาปรัง เพราะปี 2557 เราไม่ได้ปล่อยน้ำให้นาปรังเลย ปี 2558 นี้จึงปล่อยน้ำให้นาปรัง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งผลจากการควบคุมน้ำฝนในเขื่อนและนาปรัง มีผลต่อภัยแล้งอย่างมาก” รศ.ดร.สุจริตกล่าว

รศ.ดร.สุจริตระบุอีกว่า มีแนวโน้มฝนตก 100 วัน ในช่วง ส.ค.-ก.ย. จึงแนะว่าเกษตรกรปลูกข้าวระยะสั้น ซึ่งช่วงนี้ต้องอาศัยน้ำฝนไปก่อน ส่วนเขื่อนจะเก็บน้ำฝนไว้ใช้หน้าแล้งและไม่ปล่อยน้ำให้ทำนา และหากปีหน้าแล้งอีกก็ไม่สามรถปลูกข้าวนาปรังได้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าเก็บน้ำให้ได้ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสำรองทำน้ำประปาสำหรับภาคกลางจนถึงฤดูฝนหน้า ซึ่งมีปริมาณความต้องการ 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน โดยที่ยังไม่สามารถทำนาปรังได้ เว้นแต่ในวันที่ 1 พ.ย.จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ จึงค่อยมาตัดสินใจเรื่องทำนาปรังอีกที

“จากนี้ไปแล้วแต่ฟ้าจะโปรด ถ้าวันที่ 1 พ.ย.มีน้ำ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในเขื่อน ก็จะเพียงพอต่อการใช้น้ำในหน้าแล้งและผลิตน้ำประปาเพื่อการบริโภคอุปโภค ถ้ามีเพียง 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ปลูกข้าวนาปรังไม่ได้อีกฤดูกาล ปีนี้น้ำคงไม่ท่วมเพราะเหลือพายุอีก 2 ลูกเท่านั้น ช่วยแค่ชั่วคราว แนะปลูกข้าวระยะสั้น 100 วัน จากนั้นจะให้ชาวนาทำอะไรต้องมาคิดกันจ.ลพบุรี และ จ.สระบุรีอาจต้องพึ่งน้ำบาดาล จึงต้องมองเกษตรยังชีพเพื่อให้มีข้าวกินก่อนแต่ไม่มีข้าวขาย และต้องเวียนน้ำใช้น้ำซ้ำในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนคนกรุงเริ่มประหยัดน้ำ เพราะน้ำเค็มหนุนเข้ามาเรื่อยๆ ถ้าวันที่15สิงหาคมฝนยังไม่มาอีกก็วิกฤตแน่นอน ถ้าจำเป็นอาจต้องผันน้ำจากฝั่งธนบุรีเข้ามาช่วยฝั่งกรุงเทพฯ ถ้าฝนตกต่ำกว่า 200 มิลลิลิตรต่อเดือนก็ได้แค่ประคอง ต้องได้ 400 มิลลิลิตรจึงจะสบายใจได้ ขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมการลงทุนเตรียมแหล่งเก็บกักน้ำเฉพาะหน้าสำหรับฤดูแล้งหน้า ระยะสั้นเสนอให้ทำบัญชีน้ำเพื่อจะได้ทราบว่าแต่ละหนองน้ำดูแลได้เท่าไร ต้องกลับไปมองธรรมชาติใหม่” รศ.ดร.สุจริตกล่าว

ส่วนวิกฤตเอลนิญโญนั้นตามมติจากการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปตรงกันว่าวิกฤตจะยาวไปจนถึง ธ.ค.นี้ ซึ่ง รศ.ดร.สุจริต ระบุว่า พอทราบคร่าวๆ ว่าปี 2558 จะเกิดเอลนิญโญ แต่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วเช่นนี้ โดยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ในช่วงน้ำเยอะ แต่จากนี้อีก 10 ปีเราจะเข้าสู่มิติแล้ง ตรงข้ามกับอเมริกาใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเผชิญภัยแล้ง แต่ 10 ปีหลังจากนี้จะเข้าสู่ภาวะน้ำมาก

ด้าน ดร.ดุษฎี ศุขวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงการคาดการณ์ฝน เพื่อเตรียมการรับมือกับภัยแล้ง ว่าจากการพยากรณ์ฝนปีนี้มีแนวโน้มฝนน้อยลงกว่าปกติโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน ส่วนความชื้นในดินไทยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าทั้งภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้านจะฝนแล้ง ปัจจุบันการพยากรณ์เอลนีโญมีความถูกต้องมากขึ้น โดยมีโอกาสมากกว่า 90% ที่จะแล้งต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า และ 80% จะทำให้ฝนแล้งในเอเชียและออสเตรเลียถึงกลางปีหน้า ฝนในไทยจึงน้อยลง

“จากหลายโมเดลพบว่าตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมา อิลนิญโญรุนแรงเพิ่มขึ้นจนถึงเดือน พ.ย. และถือว่าอยู่ในขั้นรุนแรงมาก หลายประเทศมีการเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งนี้ การพยากรณ์รายฤดูยังต้องพัฒนาอีกมากโดยเฉพาะการพยากรณ์ในพื้นที่เจาะจง ยังไม่มีการพยากรณ์ฝนล่วงหน้าเกินกว่า 9 เดือน แต่ก็สรุปได้ว่า ปีนี้ฝนในประเทศไทยจะน้อยกว่าปกติ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมาฝนน้อยมากกว่าปีอื่นๆ โดยเฉพาะภาคอีสานตอนล่างและภาคกลาง แต่ปลายปีจะมีพายุเข้ามา” ดร.ดุษฎีกล่าว

ส่วน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร กล่าวถึงผลกระทบจากน้ำแล้งที่มีต่อโครงสร้างดินและสิ่งปลูกสร้างว่า การวิบัติแบบเลื่อนหมุนมักเกิดขึ้นกับชั้นดินเป็นหลักจนทำให้มีการทรุดตัวและเลื่อนหมุนของคันดิน ซึ่งการเกิดการเลื่อนไถลของชั้นดินที่ขึ้นกับความอ่อนของดินที่รองรับถนน ทั้งนี้ โครงสร้างที่อยู่ภายในระยะสองเท่าของความสูงยังถือว่าอยู่ในบริเวณอันตราย มีโอกาสเลื่อนไถลได้ไม่ว่าจะเป็นถนนทั้งเส้น รวมถึงบ้านเรือนประชาชนในบริเวณนั้น สาเหตุหลักคือ ชั้นทางก่อสร้างบนชั้นดินอ่อน น้ำลดอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับน้ำรักษาเสถียรภาพลาดคันดิน ทำให้สูญเสียแรงดันน้ำพยุงดิน สูญเสียสภาพการออกแบบเดิม เช่น ลาดคันดินมีความชันมากขึ้น การกัดเซาะของกระแสน้ำในช่วงน้ำมากทำให้ลาดคันดินอ่อนแอ ขุดลอกคูคลองเพื่อระบายน้ำในสภาวะน้ำท่วมทำให้ลาดคันดินชันขึ้น น้ำหนักบรรทุกสัญจรเพิ่มขึ้นทุกปี อัตราส่วนความปลอดภัยทางวิศวกรรมของลาดดินต่ำกว่า 1.0 การวิบัติเกิดขึ้นในดินชั้นฐานเป็นแบบเลื่อนหมุน จากนั้นโครงสร้างทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนคันดินจึงวิบัติลาดลงมา

ขณะที่ ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว.กล่าวว่า ต้องสร้างสำนึกให้คนตระหนักถึงปัญหา และหาทางออกโดยใช้ฐานความรู้ ซึ่งจะต้องใช้กระบวนการเพื่อให้เกิดความตระหนักสูงขึ้น คิดถึงต้นทุน การสำรวจทุนแหล่งน้ำจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญโดยยกตัวอย่างการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีนอกจากการแก้ปัญหาโดยอาบน้ำที่ไร่นาก่อนกลับเข้าบ้านแล้ว ยังมีการสำรวจแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งบนดินและใต้ดิน ออกแบบการจัดการน้ำและปลูกพืชให้เหมาะสมกับน้ำที่มีอยู่เพื่อช่วยลดแรงกดดัน แต่ถ้าปล่อยให้ชาวบ้านคิดเองก็ดิ้นรนไม่ออก ระบบการหนุนให้ชาวบ้านหาทางเลือกจึงเป็นสิ่งสำคัญ การจัดการน้ำให้เพิ่มปริมาณน้ำต้องใช้ภูมิปัญญาและความรู้สมัยใหม่เข้าไปจัดการ การขุดบ่อบาดาลและคูคลองชาวบ้านสามารถทำเองได้ขอเพียงให้ระบบเอื้อ

“สิ่งสำคัญคือต้องให้สังคมเห็นชีวิตน้ำกับชีวิตคน จัดการน้ำด้วยความเคารพว่าต้องพึ่งพิงกัน ไม่ใช่เป็นทรัพย์จับจ่ายใช้สอยมีจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะต้องทำกันอย่างจริงจังและเข้าถึงรากเหง้าของคนในชุมชนอย่าปล่อยให้ชาวบ้านจัดการน้ำเองตามยถากรรมวิกฤติต่างๆ ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมต้องให้คนที่เผชิญปัญหามีโอกาสสะท้อนปัญหาและจัดการตัวเองโดยมีรัฐช่วยหนุน ให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ลุ่มน้ำขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ต้องยกระดับความรู้ กระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น ไม่รวมศูนย์อำนาจ เพราะน้ำเป็นเรื่องของทุกคนจึงจะเป็นการสร้างความปรองดองแห่งชาติจากฐานที่เผชิญอยู่อย่างแท้จริง”
 ดร.ดุษฎี ศุขวัฒน์
ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ









กำลังโหลดความคิดเห็น