xs
xsm
sm
md
lg

ส่ง "ไวรัส" ไปฆ่าหนอนลดใช้สารเคมีในไร่องุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถฉีดพ่นไวรัสเอ็นพีวี
ส่ง "ไวรัส" ไปท้ารบ นักวิจัยไบโอเทค "ผลิตไวรัสเอ็นพีวี" ฆ่าหนอนกระทู้ แมลงศัตรูพืชตัวร้ายแทนการใช้สารเคมี ปลอดภัย-ไม่ดื้อยา-ประหยัดกว่า-เห็นผลจริง ยกระดับเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ ตอบโจทย์เกษตรกรรุ่นใหม่

“ไร่องุ่นของเราประสบปัญหาหนอนกระทู้ผัก และเพลี้ยไฟค่ะ ถ้าแปลงไหนเราดูแลไม่ทัน แปลงนั้นก็เจ๊ง ไม่สามารถเก็บองุ่นได้แม้แต่กิโลเดียว เพราะหนอนกระทู้จะเข้ามากัดกินใบ ตาอ่อน และยอดอ่อน ซึ่งมันคือทั้งหมดที่ทำให้องุ่นของเราโต แม้จะปลูกแบบกางมุ้งหนอนก็ยังเข้ามาได้ การฉีดพ่นสารเคมีจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่พอฉีดไปมากๆ หนอนก็เริ่มดื้อยาอีก เราจึงติดต่อไปที่ไบโอเทคเพื่อขอคำแนะนำ และก็ได้วิธีใหม่มาใช้นั่นก็คือ ไวรัสเอ็นพีวี” ณนิภา เลยะกุล ผู้จัดการวิจัยและพัฒนาไร่คุณธรรม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เผยแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์
องุ่นพันธุ์แบล็คโอปอลในไร่องุ่นคุณธรรม เป็นองุ่นไม่มีเมล็ด ใช้รับประทานผลสด
ผู้จัดการไร่องุ่นคุณธรรม เผยต่อไปว่า ไวรัสเอ็นพีวีที่นำมาใช้กับไร่ของเธอ เป็นไวรัสกำจัดแมลงศัตรูพืชในรูปแบบน้ำสำหรับใช้ฉีดพ่นต้นองุ่น ที่เป็นผลงานวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ซึ่งเธอนำมาใช้ควบคู่กับสารเคมีเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชในไร่มานานกว่า 1 ปี และพบว่ามีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ตลอดฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา องุ่นแดงพันธุ์แบล็คโอปอลในไร่คุณธรรมของเธอมีผลผลิตมากถึง 1 ตันต่อ 1 ไร่

นายสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ ผู้จัดการโรงงานต้นแบบผลิตไวรัสเอ็นพีวีเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า แมลงศัตรูพืชนอกจากจะสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรอย่างมหาศาล ยังเป็นตัวผลักดันที่ทำให้เกษตรกรต้องหันมาใช้สารเคมี ซึ่งนอกจากจะมีสารตกค้างส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อผักผลไม้อาบสารเคมีราคาแพง
นักวิจัยแต่งตัวรัดกุมเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและรักษาความสะอาด
นายสัมฤทธิ์ ระบุว่า แมลงศัตรูพืชที่ทำลายพืชเศรษฐกิจได้มากกว่า 30 ชนิดซึ่งคิดเป็น 30% ของพืชทำเงินทั้งหมด เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน (moth) ที่มีชื่อว่า "หนอนกระทู้" หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีการระบาดเป็นวงกว้างในช่วง 7-8 ปีก่อน แต่ภายหลังเมื่อเริ่มมีการพัฒนาสูตรสารเคมีฆ่าหนอนกระทู้ กลับพบว่ามันพัฒนาตัวเองให้มีความต้านทานต่อยาได้ ทำให้การกำจัดยากขึ้นไปอีก

หนอนกระทู้ตัวเด่นๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายหนักคือ หนอนกระทู้หอม, หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกลุ่มนี้จะเข้ากัดกินพืชผักทางเศรษฐกิจเช่น หัวหอม มะเขือเทศ ข้าวโพด แตงโม กะหล่ำ ดาวเรือง องุ่น และขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผีเสื้อตัวหนึ่งหลังจากผสมพันธุ์จะให้ไข่แต่ละครั้งจะได้มากถึงประมาณ 300-500 ฟอง ประกอบกับผีเสื้อกลางคืนมีวงจรชีวิตสั้นการระบาดจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ผีเสื้อกลางคืนตัวเต็มวัย มีขนาดเล็ก ลำตัวสีดำ
“นอนกระทู้ชาวบ้านเขาจะเรียกว่า หนอนหนังเหนียว เพราะมันดื้อยา ฉีดยาแล้วไม่ตาย ต้องฉีดซ้ำเรื่อยๆ ซึ่งคงไม่ดีนักสำหรับผู้บริโภค เราจึงพยายามศึกษาเพื่อหาวิธีกำจัดหนอนกระทู้ เพราะในธรรมชาติจะมีการควบคุมทางชีววิธีของมันอยู่ในรูปของการเบียน ซึ่งไวรัสเอ็นพีวีถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ ทำให้เราเดินหน้าวิจัยเพื่อผลิตไวรัสเอ็นพีวีสำหรับกำจัดหนอนกระทู้ผัก, หนอนกระทู้หอม และหนอนเจาะสมอฝ้าย มาตั้งแต่ปี 2550 " นักวิจัยเจ้าของโครงการ เผยแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์

สัมฤทธิ์ อธิบายว่า ไวรัสเอ็นพีวี ย่อมาจาก นิวเคลียโพลีฮีโดรซิสไวรัส (nuclear polyhedrosis virus: NPV virus) เป็นไวรัสที่เกิดโรคกับแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งคุณสมบัตินี้มีประสิทธิภาพในการทำลายแมลงได้สูงสุด เหมาะกับการนำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช เนื่องจากมีความจำเพาะเจาะจงต่อแมลงเป้าหมาย โดยเฉพาะหนอนของผีเสื้อในอันดับเลพิดอปเทอรา (Order Lepidoptera)
หนอนกระทู้ผักอายุ 7 วัน
ไวรัสเอ็นพีวีเป็นจุลินทรีย์ที่พบในไทย ที่แมลงศัตรูพืชสร้างความต้านทานได้ช้ากว่าสารฆ่าแมลง และสามารถใช้ร่วมกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ ได้โดยที่ประสิทธิภาพไม่ลดลง จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของเกษตรกรเพราะนอกจากราคาจะสูสีกับสารเคมีแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะใช้ปริมาณน้อยลงในอนาคตอีกด้วย เนื่องจากมีฤทธิ์การทำงานแบบลูกโซ่ ทั้งยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเนื่องจากจะทำลายเฉพาะแมลงชนิดที่จำเพาะเจาะจงกับไวรัส และมีการทดสอบแล้วว่าไม่มีผลอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืชและสิ่งแวดล้อม

ไวรัสเอ็นพีวีจะทำลายแมลงให้เป็นโรคและตายอย่างช้าๆ ภายใน 1-2 วันหลังตัวหนอนกินไวรัสที่ปะปนอยู่บนใบพืชจากการนำไปฉีดพ่นในพื้นที่เกษตร และเมื่อไวรัสเข้าสู่กระเพาะอาหารของหนอน ผลึกโปรตีนที่ห่อหุ้มอนุภาคของไวรัสจะถูกย่อยสลายโดยน้ำย่อยในช่องว่างกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
หนอนติดเชื้อตัวเต็มวัยเมื่อตายแล้วจะมีสีดำ ตัวเป่ง
จากนั้นอนุภาคของไวรัสจะหลุดออกมา และเข้าทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร จนอนุภาคของไวรัสขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนและแพร่กระจายเข้าสู่ภายในลำตัวแมลง ก่อนที่จะเข้าทำลายอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น เม็ดเลือด ไขมัน กล้ามเนื้อ ผนังลำตัว และเมื่อเซลล์เหล่านี้ถูกทำลาย การทำงานของอวัยวะต่างๆ จะเสียไปทำให้อาการของโรคไวรัสเอ็นพีวีเกิดขึ้น
“หนอนที่ได้รับเชื้อจะหยุดกินอาหาร หยุดเคลื่อนที่ ผนังลำตัวมีสีซีดลง และมีพฤติกรรมพยายามไต่ขึ้นสู่บริเวณส่วนยอดของต้นพืชก่อนจะค่อยๆ ตายในลักษณะห้อยหัว จากนั้นผนังลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีดำและค่อยๆ ปริออกจนของเหลวที่อยู่ภายในแตกและฟุ้งกระจายสู่ภายนอก ทำให้ผลึกของไวรัสถูกปล่อยออกไปยังใบพืชอีกครั้ง ทำให้เกษตรกรไม่ต้องพ่นเชื้อบ่อย เพราะเชื้อเดิมยังมีการแพร่ออกไปฆ่าหนอนแบบลูกโซ่อยู่ อย่างไรก็ดีผู้บริโภคสามารถสบายใจได้เพราะเชื้อชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน" สัมฤทธิ์อธิบาย
ภายในห้องเลี้ยงหนอน
โอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมชมโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของตึกปฏิบัติการไบโอเทค สวทช. จ.ปทุมธานีด้วย

นายสัมฤทธิ์ อธิบายว่า โรงงานต้นแบบฯ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนของห้องเลี้ยงขยายพ่อแม่พันธุ์, ห้องผลิตขยายหนอน, และห้องผลิตไวรัส ซึ่งในแต่ละส่วนจะมีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป โดยในส่วนของการปฏิบัติงานทุกคนจะต้องสวมชุดกาวน์ ผ้าคาดจมูกและเข้าสู่ห้องลมฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้งเพื่อรักษาความสะอาด

สัมฤทธิ์พาทีมข่าวฯ เข้าชมภายในห้องเลี้ยงผีเสื้อกลางคืน ซึ่งเป็นส่วนของห้องขยายพ่อแม่พันธุ์ ภายในห้องนี้จะเป็นห้องสำหรับจับคู่ผสมพันธุ์ผีเสื้อกลางคืนแต่ละสายพันธุ์ และห้องเก็บไข่หลังจากตัวเมียถูกผสม โดยผีเสื้อแต่ไข่ที่ได้ในแต่ละรอบการผลิตจะถูกบันทึกข้อมูลไว้อย่างชัดเจนข้างกล่องเพื่อป้องกันการสลับชนิดของหนอนที่จะฟักออกมา เพราะมีผลต่อการผลิตไวรัสเอ็นพีวีแต่ละชนิด
หนอนจะถูกแบ่งให้อยู่คนละช่องเพื่อรับไวรัสจากอาหารอย่างเต็มที่
นักวิจัยเล่าว่า ผีเสื้อกลางคืนมักจะไข่บนกระดาษบริเวณด้านบนของฝากล่อง ไข่ในช่วงแรกจะมีสีขาวขนาดเล็กต้องใช้ความระมัดระวังค่อนข้างมาก เมื่อได้ไข่ตามต้องการแล้ว นักวิจัยจะย้ายไข่เข้าสู่ห้องเพาะเลี้ยง เพื่อรอฟักเป็นตัวหนอน แล้วจึงนำไปบรรจุลงในกล่องที่มีอาหารเทียมอยู่ภายในแล้วเลี้ยงต่อเป็นเวลา 7 วัน

เมื่อหนอนตัวโตขึ้น จะถูกย้ายไปยังอาหารสังเคราะห์อีกกล่องเพื่อนำไปรับเชื้อไวรัสเอ็นพีวีที่ถูกเคลือบไว้บนก้อนอาหาร โดยนักวิจัยจะจัดให้หนอนแต่ละตัวอยู่ในช่องของตัวเองเพื่อให้รับเชื้อไวรัสได้เต็มที่ ก่อนจะเลี้ยงต่อไปอีก 7 วันในห้องปฏิบัติการผลิตไวรัสจนหนอนติดเชื้อ แล้วจึงการดูดเก็บหนอนด้วยเครื่องดูดเพื่อเก็บลงเครื่องมือปั่น เพื่อแยกเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ภายในตัวหนอนนำมาผลิตเป็นหัวเชื้อไวรัสเอ็นพีวี โดยกำหนดให้หัวเชื้อมีความเข้มข้นที่ ไวรัส 1,000 ล้านตัวต่อน้ำผลิตภัณฑ์ 1 กรัม
ของเหลวสีส้มในบีกเกอร์คือเชื้อไวรัสที่จำนำมาฉาบบนผิวอาหารสังเคราะห์เพื่อให้หนอนกิน
"นอกจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เรายังทำการทดสอบร่วมกับเกษตรกรอีกด้วย โดยพบว่าเชื้อไวรัสเอ็นพีวีสามารถฆ่าหนอนกระทู้ได้ดีและมีสัดส่วนการใช้ที่น้อยกว่าสารเคมีทั่วไป จึงอยากให้เกษตรกรรุ่นใหม่ลองปลี่ยนมาใช้ธรรมชาติปราบธรรมชาติแทนเพราะนอกจากจะดีต่อผู้บริโภคแล้ว การฉีดพ่นแต่ละครั้งยังใช้หัวเชื้อปริมาณน้อยเพียง10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรเท่านั้น หัวเชื้อรูปแบบน้ำมีอายุการเก็บ 1 ปี ส่วนหัวเชื้อแบบผงที่กำลังพัฒนาขึ้นจะมีอายุการเก็บ 2 ปีและมีขนาดบรรจุหลากหลายให้เกษตรกรได้เลือกใช้ตามความพอใจ และไม่ใช่มีเพียงแค่ไร่องุ่นคุณธรรม จ.สระบุรีที่เดียวเท่านั้นที่ใช้ไวรัสเอ็นพีวี พื้นที่อื่น เช่น สวนองุ่นบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ,สวนองุ่นวัดเพลง จ.ราชบุรี, สวนองุ่นเกษตรรุ่นใหม่ใน จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.พิษณุโลก ก็มีการนำเชื้อไวรัสเอ็นพีวีไปใช้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทว่าในส่วนของข้อเสียก็ยังมีคือเชื้อเอ็นพีวีไม่สามารถทนแสงแดดจ้าได้ เราจึงให้คำแนะนำเกษตรกรไปว่าควรฉีดพ่นในเวลาเย็น ตั้งแต่บ่ายสามโมงเป็นต้นไป” นายสัมฤทธิ์ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ระบบตรวจสอบความชื้นดินและการชลประทาน
นอกจากนี้ ณนิภา ยังเผยด้วยว่า นอกจากเชื้อไวรัสเอ็นพีวีแล้ว ไร่องุ่นคุณธรรมยังนำระบบตรวจสอบความชื้นดินและการชลประทาน ผลงานวิจัยและพัฒนาโดย ดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์ นักวิจัยฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็คทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มาใช้ในการติดตามความชื้นดินและปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

“การปลูกพืชแปลงใหญ่เช่นองุ่น สิ่งสำคัญคือการชลประทาน การมีระบบการจัดเก็บข้อมูลสภาวแวดล้อมที่มีผลต่อการเจริญของผลผลิต เช่น ความชื้นดิน ปริมาณน้ำฝน แรงดันน้ำ ความชื้นสัมพัทธ์ที่ตอบสนองได้ฉับไว ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการไร่ที่เหมาะสมได้ ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเกษตรนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ เกษตรกรรมในประเทศจะก้าวหน้าขึ้นอีกมาก” ดร.โอภาส กล่าวทิ้งท้ายแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์

สนใจข้อมูลติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ โรงงานต้นแบบผลิตไวรัสเอ็นพีวีเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทร 02-564-6700 ต่อ 3712 หรือที่อีเมลล์ samrit@biotec.or.th
หนอนกระทู้ผักขนาดเล็กอายุ 3 วัน
    เจ้าหน้าที่ดูดเก็บตัวหนอนติดเชื้อก่อนจะนำไปปั่นแยกเพื่อผลิตหัวเชื้อไวรัส
ณนิภา เลยะกุล ผู้จัดการวิจัยและพัฒนาไร่คุณธรรม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
นายสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ ผู้จัดการโรงงานต้นแบบผลิตไวรัสเอ็นพีวีเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ไบโอเทค
จำนวนหนอนเมื่อใช้ไวรัสเอ็นพีวีมีจำนวนลดลง และไม่เพิ่มขึ้นเพราะไม่มีการดื้อยา

   ดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์ นักวิจัยฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็คทรอนิกส์ เนคเทค (เสื้อส้ม)






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น