นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก "เมอร์ส" โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจจากไวรัสที่กำลังเขย่าขวัญวงการสาธารณสุข และสร้างความตื่นตระหนักให้กับคนทั่วโลก แต่เคยรู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้วโรคเมอรส์เกิดจากอะไร ? ต้นตอที่แท้จริงเกิดจากตรงไหน? แล้วขณะนี้นักวิจัยทั่วโลกกำลังทำอะไรอยู่บ้าง ร่วมมองทะลุเมอรส์ไปพร้อมๆ กับเรา
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ พาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “เมอร์ส” ให้มากขึ้น ในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ ที่จะมีช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับทุกซอกทุกมุมของ “เมอร์ส” จากปากแพทย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยามือทองของประเทศไทย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่อันดับหนึ่งของเมืองไทย เผยว่า คนส่วนมากมักรู้จักเมอร์สในนแง่ของความรุนแรงและการติดต่อ แต่ไม่ทราบข้อมูลเบื้องลึกทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นอย่างไร จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวของโรคนี้ให้ฟังในหลายๆ แง่มุมผ่านผู้จัดการวิทยาศาสตร์
“เมอร์ส” ไม่ใช่โรคใหม่
โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) หรือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรนา (Coronavirus) ที่มีการศึกษาและรู้จักมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นตระกูลไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ หลายชนิด เช่น ไข้หวัด และซาร์สโรคระบาดจากคนสู่คนที่เคยสร้างความปั่นป่วนให้กับคนทั้งโลกเมื่อประมาณ 13 ปีก่อน
ศ.นพ.ยง เผยว่า เมอร์ส ไม่ใช่โรคเกิดใหม่แต่เเคยระบาดมาแล้วครั้งหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จากกรณีชายชาวซาอุดิอาระเบียรายหนึ่ง ป่วยเป็นปอดบวมจากไวรัสทางเดินหายใจสายพันธุ์แปลก ซึ่งเมื่อนำไปถอดรหัสแล้วระบุชนิดได้เป็น บีต้าโคโรนาไวรัส โรคใหม่จากเชื้อดังกล่าวจึงถูกตั้งชื่อว่า Middle East Respiratory Syndrome (MERS) หรือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ที่ถูกตั้งขึ้นตามสถานที่พบเชื้อ
แต่ด้วยการระบาดของเมอร์สในครั้งนั้นอยู่เพียงในพื้นที่แคบๆ ของบางประเทศในตะวันออกกลาง ไม่รุนแรงเท่าโรคซาร์สที่ทำให้มีผู้ป่วยมากถึง 8 พันคนในปี พ.ศ. 2545 ข่าวคราวของเมอร์สจึงไม่เป็นที่จดจำของชาวโลกเท่าไรนัก จนกลับมาดังไม่เปรี้ยงปร้างเพราะการระบาดใหญ่อีกครั้ง เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
"เมอร์สอยู่กับเราตลอด" ความจริงที่ไม่มีใครพูดถึง
3 ปีที่ผ่านมาเมอรส์ไม่เคยหายไป เพราะมีแหล่งรังโรคอยู่ใน “อูฐโหนกเดียว” ที่มีอยู่ทั่วตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยรวมแล้วกว่าพันคนและเสียชีวิตประมาณ 300-400 ราย ด้วยการติดต่อจากอูฐสู่คนผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น การกินนมอูฐ สัมผัสน้ำลายและขี้อูฐ แต่ในภายหลังมีการติดต่อจากคนสู่คนทำให้เมอรส์ระบาดออกไปมากกว่าตะวันออกกลาง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าการติดจากคนสู่คนเริ่มขึ้นจากที่ไหน
ศ.นพ.ยง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเคยมีประวัติว่าชาวฟิลิปปินส์และมาเลเซียที่กลับจากการแสวงบุญในตะวันออกกลางนำเชื้อกลับสู่ประเทศด้วยแต่เชื้อกลับไม่ถูกแพร่ออกไป เพราะไม่มีผู้รับช่วงต่อ หรือ เชื้ออาจมีน้อยเกินไปจนไม่สามารถติดต่อไปยังคนอื่นได้ ซึ่งในกรณีการระบาดใหม่ที่เริ่มในเกาหลีอีกครั้ง น่าจะเกิดจากความพอเหมาะพอดีที่ผู้ติดเชื้อและผู้รับช่วงมาพบกันในสภาพที่ผู้ติดเชื้อพร้อมจะแพร่เชื้อเต็มที่ และผู้รับเชื้ออยู่ในสภาพร่างกายอ่อนแอ
เริ่มต้นใหม่ที่ “เกาหลีใต้”
"กรณีการระบาดที่เกาหลีใต้ ผมว่าเป็นแจ๊กพอตที่ทรงพลังมาก เพราะคนต้นโรคเดินทางไปหลายที่มากในตะวันออกกลาง ทั้งการ์ตา,โอมาน, ซาอุดิอาระเบีย หลายประเทศที่มีเชื้อทั้งนั้น แล้วกลับเข้าเกาหลีโดยที่เขาไม่รู้ตัวว่ารับโรคกลับมา และทางการก็ไม่ได้มีมาตรการสกัดกั้นเพราะก็ไม่เคยมีใครทราบมาก่อน
อีกทั้งกว่าโรคจะแสดงอาการก็อยู่ในตัวของผู้ป่วยรายนี้นานถึง 7 วัน พอมีอาการผู้ป่วยก็ไปพบแพทย์ในหลายๆ ทั้งคลินิกชุมชนและโรงพยาบาล ซ้ำร้ายเมื่อแพทย์พบอาการเบื้องต้น ยังให้นอนในห้องผู้ป่วยรวมเพราะไม่ทราบว่าคือโรคนี้ ทำให้การติดต่อแพร่ไปอย่างรวดเร็วเพราะเพียงแค่สัมผัสละอองฝอยไอจาม และการสัมผัสใกล้ชิดสารคัดหลั่งของผู้ป่วยก็มีโอกาสติดเมอร์สได้ ประกอบกับที่แพร่เชื้อที่แรกคือโรงพยาบาล แหล่งรวมคนป่วยที่สภาพร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว เมื่อมีเชื้อใหม่จึงมีโอกาสติดง่ายกว่าปกติ จากผู้ป่วยรายแรกเพียงคนเดียวจึงแพร่เชื้อไปให้ผู้ป่วยและผู้สัมผัสข้างเคียงได้มากถึง 25 คน
"ที่สำคัญคือเกาหลีไม่โปร่งใสตั้งแต่ช่วงแรก ไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าโรงพยาบาลใดคือจุดแพร่โรค ทำให้คนการตื่นตัวช้า จนมาตรการกักันและป้องกันล่าช้าไปหนึ่งก้าว จนขณะนี้เชื้อระบาดไปในหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย เพราะหลักการควบคุมโรคระบาดที่ดีที่สุด คือ ความโปร่งใส ประเทศนั้นต้องประกาศออกมาให้โลกทราบเพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้เตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งเกาหลีพลาดในช่วงแรกแต่มาแก้มือในช่วงหลังด้วยมาตรการที่รัดกุมได้เป็นอย่างดี" ศ.นพ.ยง กล่าว
“ผมว่าต้นตอไม่ใช่การสัมผัสอูฐโหนกเดียวเท่านั้นหรอก น่าจะมีสัตว์อื่นอย่างค้างคาว อีเห็น รวมถึงการฟุ้งกระจายของไวรัสในอากาศเพราะผู้ป่วยชาวซาอุฯ รายแรก ไม่มีประวัติสัมผัสกับอูฐเลย และด้วยความที่เราไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงจึงทำให้การควบคุมค่อนข้างลำบาก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คนและอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ไม่รู้ต้นตอ-ไม่รู้ทางแก้
“เหตุที่เมอร์สมีมานานแต่ไม่เคยหายไปจากโรคเหมือนกับโรคระบาดอื่นๆ เป็นเพราะนักวิจัยไม่รู้ต้นตอที่แท้จริง มีแต่ข้อสันนิษฐาน” ศ.นพ.ธีรวัฒน์ ตอบก่อนอธิบายต่อไปว่า
นักวิจัยทั่วโลกรู้ดีว่าสาเหตุประการสำคัญมาจากอูฐ แต่ก็มีข้อมูลบางอย่างที่ขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัด เพราะผู้ป่วยรายแรกของซาอุดิอาระเบียไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ ผู้ป่วยรายแรกของเกาหลีเราก็ไม่ทราบว่าเขารับเชื้อมาจากไหน และคนโอมานที่ป่วยในไทยเราก็ไม่ทราบเช่นกันว่าแหล่งรับโรคของเขาที่จริงคืออะไร อีกทั้งเมื่อมีการตรวจสอบไปยังคนเลี้ยงอูฐในซาอุดิอาระเบียกว่าร้อยคน ก็ไม่พบการติดเชื้อ ฉะนั้นอูฐโหนกเดียวจึงไม่น่าใช่ต้นตอของปัญหาทั้งหมด
ข้อสันนิษฐานใหม่ของนักวิจัยทั่วโลก จึงมุ่งมาที่ "ค้างคาว"สัตว์ป่าที่เคยทำให้เกิดโรคซาร์ส รวมไปถึง "อีเห็น"สัตว์ป่าอีกกลุ่มที่มีชาติพันธุ์บางกลุ่มนำมารับประทานเป็นอาหาร แม้กระทั่ง "การฟุ้งกระจายในอากาศของไวรัส" ก็ถูกนำมารวมอยู่ในสาเหตุที่ยังหาต้นตอไม่ได้นี้ด้วย
การไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ระบุว่า ทำให้การป้องกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้นการป้องกันที่เห็นตอนนี้ จึงเป็นการใช้กล้องตรวจจับความร้อน และการซักประวัติจากคนที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง แต่อย่างไรก็ดี อาการของคนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะบางคนมีเชื้อแต่ไม่มีไข้ หรือบางคนที่มีอาการของโรคประจำตัวคล้ายคลึงกับเมอร์สอยู่แล้วจนทำให้แยกไม่ออก ซึ่งความคลุมเครือเหล่านี้ทำให้การวินิจฉัยโรคไขว้เขว
มีบ้างไหม งานวิจัยโรคเมอร์ส ?
"มีครับ มีเยอะด้วยในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการวิจัยสืบหาต้นตอเพื่อหาสาเหตุ" เพราะจากที่กล่าวไปข้างต้นว่า นักวิจัยไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคคืออะไร เราจึงต้องหาให้ได้ก่อน เพราะ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการร่างมาตรการป้องกันคือสาเหตุการเกิดโรค
หลังจากปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมาจึงมีงานวิจัยต่างประเทศตีพิมพ์ออกมาค่อนข้างมาก เกี่ยวกับการสืบต้นตอของเมอร์ส เช่น การศึกษาเชื้อในอูฐ, เชื้อในค้างคาว เป็นต้น ซึ่งมีการวิจัยในค้างคาวไทยด้วยแต่ไม่พบเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรนานี้ ควบคู่ไปกับงานวิจัยเพื่อทำวัคซีนรักษา ซึ่งมีการพัฒนาไปแล้วอย่างมหาศาลในบริษัทผลิตยาใหญ่ๆ ของต่างประเทศ แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษายังไม่มีการทดสอบใช้จริง
ในส่วนของเกาหลีใต้ก็เดินหน้างานวิจัยอย่างหนักเพื่อจะทำวัคซีนจากผู้ป่วยที่รอดตายจากเมอร์ส โดยจะเอาน้ำเหลืองของคนคนนั้นมาทำให้บริสุทธิ์ แล้วฉีดให้กับคนที่เป็นโรคเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แล้วจึงค่อยขยายผลมาสู่วัคซีน แต่ตอนนี้ยังทำได้ดีที่สุดเพียงการรักษาตามอาการ
"ส่วนงานวิจัยของไทยก็มี ในส่วนของชุดตรวจที่ทำไว้เมื่อ 2 ปีก่อนตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด ด้วยทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทั้งในส่วนของผมเอง และ ศ.นพ.ยง ที่ร่วมกันกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยไวรัสวิทยา ประเทศเนเธอแลนด์ ที่ผลิตชุดตรวจเชื้อเมอร์สความแม่นยำสูง โดยมีสถาบันอีรัสมุสคอยสนับสนุนเชื้อไวรัสเมอร์สที่ตายแล้วมาให้ ซึ่งสำเร็จและถูกนำมาใช้แล้วที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เผยข้อมูล
ทว่าการตรวจวินิจฉัยหลัก ณ ขณะนี้จะสั่งซื้อชุดตรวจจากต่างประเทศ และการวินิจฉัยโดยละเอียดตามวิธีการของห้องปฏิการทางชีววิธีระดับ 3 สำหรับเชื้อที่มีความรุนแรง ซึ่งมีอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
งานวิจัย “เมอร์ส” ของไทย ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการสร้างแอนติบอดีสำหรับโรคเมอร์สอยู่ โดยคาดว่าอีกไม่เกิน 2 เดือน แอนติบอดีเมอร์สต้นแบบก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างพร้อมออกสู่สายตาประชาชน
มีแน่ “แอนติบอดีเมอร์ส”
"สำหรับวัคซีนเราคงทำไม่ได้เพราะเราไม่มีเชื้อ แต่ตอนนี้เรากำลังดำเนินการสร้างแอนติบอดีเมอรส์อยู่ เพราะอย่างที่ทราบตั้งแต่หลังเกิดโรคในปี 2556 นักวิจัยจากทั่วโลกก็เริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ ทำให้ทราบว่า ยีนและโปรตีนของไวรัสเมอรส์มีรูปร่างหน้าตา, รูปแบบเป็นอย่างไร, มีกลไกกดภูมิคุ้มกันอย่างไร, โปรตีนตัวไหนเป็นตัวทำงาน ซึ่งการทราบข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เราออกแบบได้ว่า แอนติบอดีที่จะขัดขวางการทำงานของไวรัสควรมีหน้าตาเป็นเช่นไร" ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ เผย
ด้วยองค์ความรู้ดังกล่าว ทำให้หน่วยวิจัยแอนติบอดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เริ่มดำเนินการสร้างแอนติบอดีสำหรับเมอรส์ขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการสังเคราะห์ยีนที่สั่งมาจากต่างประเทศ เพราะประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เพียงพอ จากนี้อีกประมาณ 10 วัน ยีนสังเคราะห์ก็จะถูกส่งมายังประเทศไทย โดยนักวิจัยจะนำยีนของไวรัสเมอรส์เข้าสู่เวคเตอร์พาหะ แล้วนำเข้าสู่แบคทีเรียให้แบ่งตัวเพิ่มจำนวน จากนั้นจึงนำโปรตีนที่สร้างได้จากแบคทีเรียมาทำให้บริสุทธิ์ เพื่อให้ผลิตเซลล์ที่สร้างแอนติบอดีสำหรับการผลิตเป็นภูมิคุ้มกันพร้อมใช้ไว้รองรับกับสำหรับผู้ป่วย
"ขณะนี้ที่จีนก็มีทำแอนติบอดีเมอร์สเช่นกัน แต่ลักษณะแอนติบอดีของเรากับเขาจะต่างกันตรงที่ แอนติบอดีของจีนมีขนาดใหญ่แต่ของเราจะเป็นแอนติบอดีขนาดเล็ก ซึ่งดีกว่าตรงที่สามารถขัดขวางไวรัสได้ แม้จะอยู่ในระยะที่เข้าสู่เซลล์แล้ว ในขณะที่แอนติบอดีตัวใหญ่ของจีนทำไม่ได้ โดยแอนติบอดีจะช่วยขัดขวางการเพิ่มจำนวนของไวรัสที่จะเพิ่มจาก 1 ตัวเป็น 100 ตัวให้เพิ่มจำนวนไม่ได้ ทำให้เชื้อไม่สามารถแพร่ไปยังเซลล์อื่น ซึ่งจะทำให้อาการของผู้ป่วยไม่มากขึ้นและหายได้เร็ว แต่อย่างไรก็ดีแอนติบอดีที่ผลิตยังคงอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่คาดว่าอีก 2 เดือนน่าจะได้เห็นแอนติบอดีต้นแบบ ส่วนการจะผลิตเพื่อใช้จริงต้องดูประสิทธิภาพและการยอมรับจากต่างประเทศอีกครั้งเพราะการจะผลิตแอนติบอดีมาใช้จริงในคนต้องงผ่านกรรมวิธีอีกมาก และต้องผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมยาที่ได้มาตรฐาน" ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ไล่เรียง
เมอร์ส ซาร์ส อีโบลา ไข้หวัดนก โรคไหนน่ากลัวกว่ากัน ?
เมื่อถามคำถามนี้ ศาสตราจารย์ทั้ง 3 ถึงกับคิดหนัก ก่อนที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ จะบอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า โรคทั้ง 4 ไม่เหมือนกัน แต่เมอร์ส และซาร์สน่ากลัวมากกว่า เพราะติดได้ผ่านระบบทางเดินหายใจ ในขณะที่อีโบลาจะติดต่อได้เมื่อมีการสัมผัสกับผู้เป็นโรคและมีอาการ ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายได้ก็ต่อเมื่อสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือบริเวณที่มีบาดแผลคล้ายคลึงกันกับหวัด
ในขณะที่ไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิด เมอรส์และซารส์ สามารถติดต่อได้จากทั้งนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เพราะมีโปรตีนเอส อยู่บนเซลล์ของโฮสต์ การติดต่อจึงทำได้ง่ายกว่า และยังรับเชื้อได้เพียงสัมผัสละอองไอจามซึ่งยากต่อการควบคุม
ด้าน ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า การจะฟันธงว่าโรคไหนน่ากลัวกว่าทำได้ยาก เพราะแต่ละโรคมีองค์ประกอบการเกิดที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังยืนยันคำเดิมว่า สิ่งที่ทำให้เมอรส์น่ากลัวกว่าโรคอื่น คือการไม่รู้ต้นตอที่แท้จริง และอาการที่ไม่แสดงออกอย่างชัดเจน จึงต้องพิจารณาความรุนแรงของโรคแล้วแต่กรณี เช่น ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หรือมีระยะเวลาการสัมผัสโรคนาน ก็ย่อมมีโอกาสเป็นมากกว่าและแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้มากกว่า
ส่วน ศ.นพ.ยง ระบุว่า อีโบลาน่ากลัวที่สุด หากมองจากความรุนแรงของโรคที่ทำให้มีอัตราการตาย เพราะผู้ป่วยอีโบลามีอัตราการตายได้สูงถึง 50% ในขณะที่ผู้ป่วยไข้หวัดนก และซาร์สมีอัตราการตายประมาณ 30 % ส่วนเมอร์สในผู้ป่วยเอเชีย มีอัตราการตายอยู่ที่ประมาณ 16-20% เท่านั้น
ปฏิบัติตัวอย่างไรห่างไกลโรคเมอร์ส
"วิธีปฏิบัติตัวไม่ยาก เช่นเดียวกับที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพียงแค่นี้ก็จะช่วยตัดวงจรโรคได้มาก และในนำในช่วงนี้ให้หลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่ชุมชน พื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน และหากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงวัย ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนหนุ่มสาว" ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ แนะวิธี
คิดแบบวิทย์พิชิตเมอร์ส
"เมื่อมีโรคระบาดแน่นอน คนย่อมกลัว แต่ผมอยากให้กลัวแบบมีสติเพื่อให้ตัวเองไม่ลืมที่จะป้องกัน และที่สำคัญคืออยากให้เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขไทย ไม่ใช่เห็นข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขว่ามีการกักคนเป็น 100 คนแล้วจะตกใจกลัวจนไม่อยากออกจากบ้าน อยากให้มองว่าเราระมัดระวังและเข้มงวดเพื่อคนทั้งประเทศ แล้วก็ไม่ต้องสนใจคนอื่น อยากให้สนใจตัวเอง ถามตัวเองว่าตอนนี้สุขภาพดีพอหรือยัง เพราะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องไม่เคยนิ่งเฉยและพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาแนวทางป้องกันและรักษา" ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว
ท้ายสุด ศ.นพ.ยง ยังฝากถึงคนไทยผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า อย่าเชื่อทุกข่าวที่เห็น เพราะที่ผ่านมาความตื่นตระหนกส่วนมากมาจากข่าวลวงที่ถูกส่งต่อกันมาทางสังคมออนไลน์ ประชาชนควรพิจารณาให้เป็น ใช้เหตุและผลทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุน เพราะทุกประเทศก็มีความเสี่ยงเท่าๆ กันแต่ไม่ใช่กลัวจนไม่อยากทำอะไร หรือไม่กลัวเลยจนไม่คิดป้องกันตัวเอง และอยากให้รัฐบาลเข้ามาให้การสนับสนุนกับการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพื่อให้งานวิจัยของไทยสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง
*******************************