xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชรับ “ตรวจเชื้อ” รพ.ภายนอก ยันระบบจัดส่งปลอดภัย ปกปิด 3 ชั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศิริราชร่วมไปรษณีย์ไทย เปิดโครงการรับ “ตรวจเชื้อ” จาก รพ. ทั่วประเทศที่ตรวจวิเคราะห์เองไม่ได้ ยันระบบจัดส่งมีความปลอดภัย ปกปิดป้องกัน 3 ชั้นตามมาตรฐาน เผยผลนำร่อง 1 ปี ใน 3 รพ. ให้ผลตอบรับดี เตรียมเปิดให้บริการทั่วประเทศ ระบุ รพ. ที่สนใจต้องสมัครก่อน เพื่อทำฐานข้อมูลรายงานผลตรวจอย่างเป็นความลับ

วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่ รพ.ศิริราช ในการแถลงข่าว “ศูนย์แล็บศิริราชก้าวไกล ส่งตรวจได้ทางไปรษณีย์”  ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือ ห้องแล็บ ถือเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ และนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที รวมทั้งสามารถใช้ติดตามผลการรักษาได้ ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากยังขาดโอกาสในการได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากหลายโรงพยาบาลในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการตรวจแล็บ โดยอาจไม่มีการให้บริการตรวจบางอย่างที่ทำได้ยาก หรือขาดผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวินิจฉัย ศิริราชจึงเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถส่งตรวจแล็บที่มีความจำเป็นต่อการวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วย เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องแล็บ และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการด้านห้องแล็บของศิริราช ดูแลโดยอาจารย์และบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านด้วยมาตรฐานเดียวกับผู้ป่วยศิริราช ซึ่งการให้บริการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย ซึ่งเข้าถึงทุกภาคส่วนของประเทศไทย ให้บริการสิ่งส่งตรวจจากทั่วประเทศเข้ามายังศูนย์ห้องปฏิบัติการศิริราช ซึ่งได้รับการรับรองมารตรฐานสากลและให้บริการตรวจที่หลากหลายมากที่สุด นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของคนไทย

รศ.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ศูนย์ห้องปฏิบัติการศิริราช (SiLC) เป็นความร่วมมือแบบสหสาขาของทุกห้องปฏิบัติการในศิริราช สามารถตรวจรายการสิ่งส่งตรวจได้มากกว่า 1,000 รายการ และได้รับการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล และมีระบบควบคุมคุณภาพจากสถาบันระดับนานาชาติ ทั้งนี้ โครงการให้บริการตรวจสิ่งส่งตรวจทางไปรษณีย์นั้น โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการก่อน เพื่อศูนย์แล็บศิริราชจะจัดทำเป็นฐานข้อมูลในการรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ ซึ่งโรงพยาบาลต้นทางที่จะสมัครนั้นจะต้องระบุชื่อผู้รับผิดชอบในการส่งสิ่งส่งตรวจและรับผลตรวจอย่างชัดเจน โดยศิริราชจะให้รหัสให้ผู้รับผิดชอบเข้าไปดูรายงานผลการตรวจได้ ถือเป็นการกระบวนการในการรักษาความลับของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์นำประกอบการวินิจฉัยตรวจรักษาต่อไป สำหรับความปลอดภัยในการจัดส่งนั้น จะดำเนินการตามความปลอดภัยมาตรฐานสากล คือ มีการห่อบรรจุปกปิดมิดชิด ไม่ให้หกออกมานอกภาชนะ ด้วยระบบป้องกันถึง 3 ชั้น ประกอบด้วย หลอดบรรจุสิ่งส่งตรวจ มีพลาสติกหุ้ม และบรรจุลงกล่องพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในขณะนี้คือเรื่องของความเร็วในการส่งยังใช้เวลา 1 - 2 วัน แต่จะพยายามพัฒนาระบบการส่งให้เร็วขึ้น รวมถึงยังให้บริการสิ่งส่งตรวจที่ต้องควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ ขณะนี้ยังเป็นการส่งสิ่งส่งตรวจที่อุณหภูมิห้อง

น.ส.สุชาดา พุทธรักษา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ที่ทำการไปรษณีย์มีเครือข่ายมากกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการให้บริการส่งสิ่งส่งตรวจนั้นจะให้บริการด้วยมาตรฐานบริการปรษณีย์ด่วนพิเศษ หรือ EMS ส่งถึงที่หมายไม่เกิน 3 วันทำการ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 50 บาทต่อกล่อง น้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม แต่หากต้องการส่งตรวจด่วน จะมีบริการ EMS Super Speed สามารถส่งถึงใน 24 ชั่วโมง ค่าบริการ 150 บาท ซึ่งบริการด่วนดังกล่าวจะเปิดให้บริการใน 8 พื้นที่ ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และหาดใหญ่ พร้อมเทคโนโลยีรายงานผลการจัดส่ง สามารถติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งได้ตลอดเส้นทางผ่านระบบ Track&Trace ทางเว็บไซต์ www.thailandpost.cp.th หรือคอลเซ็นเตอร์ 1545 สำหรับเรื่องความปลอดภัยนั้นจะมีสัญลักษณ์เฉพาะให้เจ้าหน้าที่สังเกตชัดเจน ระบุปลายทางศูนย์แล็บศิริราช พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และหมายเลข 13 หลัก สำหรับตรวจสอบสถานะสิ่งของ และมีพื้นที่แสดงสัญลักษณ์เครื่องหมายชีวภัยสากล (Biohazard) หมายถึงสิ่งขงที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อตามข้อกำหนดของห้องปฏิบัติการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า รพ.ศิริราช มีผู้มาใช้บริการมาก การให้บริการตรวจวิเคราะห์แก่สถานพยาบาลภายนอกจะส่งผลกระทบหรือไม่  รศ.นพ.ภัทรชัย กล่าวว่า แม้ปกติผู้ป่วยศิริราชจะมีจำนวนมาก แต่จากการลงทุนพัฒนาห้องแล็บ และเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทันสมัยขึ้น ทำให้ศักยภาพในการตรวจสามารถตรวจได้มากกว่าจำนวนผู้ป่วยในศิริราช ดังนั้น การให้บริการตรวจสิ่งส่งตรวจจากภายนอกด้วยนั้น จึงเป็นการใช้ทรัพยการให้คุ้มทุนและคุ้มค่ามากขึ้น ช่วยให้คนภายนอกเข้าถึงบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกับศิริราช ซึ่งที่ผ่านมาก่อนที่จะมีโครงการดังกล่าว ศิริราชก็ให้บริการตรวจสิ่งส่งตรวจแก่ รพ.ภายนอกมาก่อนแล้ว แต่จะเป็นการติดต่อกันส่วนตัวระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งศิริราชดำเนินการมาเรื่อยๆ ขณะนี้มีมากกว่า 100 แห่ง การส่งตรวจเข้ามาอยู่ที่ประมาณ 3,000 รายต่อเดือน มีการส่งสิ่งส่งตรวจด้วยหลายวิธีทั้งใช้แมสเซนเจอร์ หรือไปรษณีย์ ศิริราชจึงจัดโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการนำร่องโครงการดังกล่าวใน 3 รพ. ได้แก่ รพ.เจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี รพ.เพชรบูรณ์ และ รพ.พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2557 พบว่า ไปรษณีย์ไทยสามารถดำเนินการได้ดี ศิริราชได้รับสิ่งส่งตรวจในระยะเวลา จึงขยายเปิดให้บริการทั่วประเทศได้ตั้งแต่ 8 มิ.ย. 2558 เป็นต้นไป รพ. ที่สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์แล็บศิริราช โทร. 0-2419-8811

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น