xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิธีคิด “ค่ารักษา รพ.รัฐ” หวังเป็นแนวทางคุมราคาสุดโหด รพ.เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช. เผยวิธีคิดค่ารักษา รพ.รัฐ สิทธิบัตรทองผู้ป่วยนอกคิดแบบเหมาจ่ายรายหัว ผู้ป่วยในคิดตามต้นทุนกลุ่มโรคบวกความรุนแรง ข้าราชการมีเกณฑ์กรมบัญชีกลาง ส่วนประกันสังคมเป็นเหมาจ่ายแบบ รพ. จัดการเอง ด้าน “ผอ.รพ.บ้านแพ้ว” ระบุรักษาตามเกณฑ์กรมบัญชีกลางทั้งหมด แต่อยู่ได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการใช้เกณฑ์การคิดค่ารักษาของ รพ.รัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชน ว่า หลักเกณฑ์การคิดค่ารักษาพยาบาลในรพ.รัฐ ในส่วนของสิทธิบัตรทอง แบ่งออกเป็น 1. ผู้ป่วยนอก คิดแบบเหมาจ่ายรายหัว โดยคำนวณเป็นรายโรคว่ามีผู้ป่วยมาใช้บริการเท่าไรแล้วหารเฉลี่ยออกมาเป็นรายหัว ส่วนใหญ่จะป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้หวัด ปวดท้อง อัตราค่ารักษาจึงไม่ต่างกันมาก และ 2. ผู้ป่วยใน เป็นการจัดกลุ่มโรคและคิดค่าเฉลี่ยต้นทุนแต่ละรายโรค ร่วมกับคำนวณความรุนแรงของโรคเพื่อบวกเพิ่มค่าใช้จ่าย เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ต้นทุนการรักษาอยู่ที่ 7,000 - 8,000 บาท ความรุนแรงของโรคค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3 - 1.4 ดังนั้น ค่ารักษาไส้ติ่งอักเสบจะอยู่ที่ประมาณหมื่นกว่าบาทขึ้นไป แต่หากมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย สปสช. ก็จะบวกเพิ่มความรุนแรงของโรคเข้าไปอีก อาจจะอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าบาท เป็นต้น

วิธีการคิดค่าใช้จ่ายเป็นหลักการสากล เราไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่ใช้ฐานข้อมูลของตัวเอง คือ ต้นทุนของโรงพยาบาลเป็นเท่าไร โรคในบ้านเราความรุนแรงแต่ละโรคเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความแตกต่างของคนไข้แต่ละคน บางโรครุนแรงก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายเป็นแสน ส่วนสิทธิข้าราชการก็ใช้ระบบการคำนวณค่าใช้จ่ายเหมือนกัน เพียงแต่ค่าเฉลี่ยของต้นทุนแตกต่างกันเท่านั้น ส่วนประกันสังคมจะใช้ระบบเหมาจ่ายให้โรงพยาบาลไปจัดการเอง” นายจเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบตามมาตรฐานสากล และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย คือ 1. สังเกตอาการผู้ป่วย หากมาด้วยอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาเจียน มีไข้ แพทย์จะตรวจด้วยการกดท้องด้านขวาของผู้ป่วย 2. เจาะเลือดดูเม็ดเลือดขาวว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ 3. หากไม่ชัดเจนอาจให้นอนดูอาการประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ดูการพัฒนาอาการ หากชัดเจนก็อาจจะเตรียมผ่าตัด เพราะไส้ติ่งไม่จำเป็นต้องตรวจแล็บอะไรมาก เมื่อเทียบกับโรคอื่น เพราะฉะนั้น หากเอกซเรย์ ตรวจรังสีพิเศษ ตรวจเอ็มอาร์ไอ ในการวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอาจจะมากเกินความจำเป็น แต่หากผู้ป่วยต้องการก็สามารถทำได้ แต่แพทย์จะต้องให้คำแนะนำ เพราะบางครั้งผู้ป่วยไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคถือเป็นศิลปะที่แพทย์ต้องใช้วิจารณญาณ บวกกับวิชาการที่เรียนมาในการวินิจฉัยโรค

ด้าน นพ.สุรพงษ์ บุญประเสริฐ ผอ.รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวว่า รพ.บ้านแพ้วเป็น รพ.รัฐ แต่บริหารงานแบบองค์การมหาชนทำให้มีความคล่องตัว อย่างการจ้างบุคลากรก็ถือเป็นต้นทุนของโรงพยาบาล เพราะบอร์ดจะพิจารณาประเมินค่าตอบแทนให้ตามผลงานและความสามารถ และค่าตอบแทนอื่น เช่น โอที ซึ่งจ่ายให้มากกว่า รพ.รัฐ เป็นต้น โดยแต่ละวิชาชีพจะไม่เท่ากัน แต่การคิดค่ารักษาและค่ายายังคิดตามเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะมีกำหนดอยู่แล้วว่าสามารถเพิ่มขึ้นจากราคาต้นทุนได้เท่าไร แต่ไม่เกินเท่าไร หรือกรณีผู้ป่วยจ่ายเงินเอง ไม่ใช้สิทธิใดๆ หรือใช้ประกันเอกชนก็คิดค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์กรมบัญชีกลาง อาจจะบวกเพิ่มค่าธรรมเนียมแพทย์ และค่าห้องพิเศษ ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์ ทั้งนี้ จากการบริหารงานเช่นนี้ทำให้ รพ.บ้านแพ้วมีรายได้ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี ส่วนที่บอกว่าบ้านแพ้วอยู่ได้ เพราะเงินบริจาคนั้นไม่จริง ยืนยันว่า อยู่ได้เพราะการบริหารงานและคนมากกว่า เงินบริจาคมีเพียง 40 ล้านบาทเท่านั้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น