“หมอสรณ” เผยผลการศึกษา “ค่ารักษา” รพ.รัฐ - เอกชน พบโรคเดียวกันราคาต่างกันจริง ชี้ “ไข้หวัดธรรมดา” รพ.เอกชนระดับ 5 ดาว แพงกว่า รพ.รัฐ 6 เท่า เตรียมเสนอผลศึกษาอย่างละเอีดยต่อ สนช. 23 มิ.ย. นี้
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล กล่าวว่า จากการศึกษาค่าใช้จ่ายกลุ่มโรคที่มีความฉุกเฉิน เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ กลุ่มโรคที่ต้องได้รับการรักษาทันที เช่น ไส้ติ่งอักเสบ โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ผ่าเข่า รวมถึงโรคพื้นฐานในกลุ่มผู้ป่วยนอก เช่น ไข้หวัด ใน รพ. รัฐ และ รพ. เอกชน รวม 9 แห่ง แบ่งเป็น รพ. รัฐ 3 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี และ รพ.จุฬาลงกรณ์ ส่วน รพ. เอกชน แบ่งเป็น รพ. 5 ดาวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง รพ.เอกชนบริเวณหัวเมือง 2 แห่ง และ รพ.เอกชนที่มีมูลนิธิสนับสนุน 2 แห่ง ทำการศึกษา 2 ครั้ง เมื่อปี 2552 และ 2557 พบว่า โรคเดียวกันแต่มีค่าใช้จ่ายต่างกันพอสมควรระหว่าง รพ.รัฐและเอกชน แต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่าต่างกันกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะแม้แต่ รพ.เอกชนด้วยกันเองก็ต่างกัน จากเรื่องมาตรฐานการให้บริการที่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ จะนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวอย่างละเอียดในวันที่ 23 มิ.ย. ที่ สนช. เพื่อให้มีการพิจารณากันอีกครั้งว่าเรื่องค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันนั้นเป็นอัตราที่เหมาะสมหรือไม่
นพ.สรณ กล่าวว่า สำหรับการรักษาไข้หวัดธรรมดา พบว่า รพ.ราชวิถีค่ารักษาถูกสุด ประมาณ 500 - 800 บาท รวมค่ายาและค่าแพทย์แล้ว ส่วน รพ.เอกชน 5 ดาวค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 2,000 - 3,000 บาท สูงกว่าประมาณ 6 เท่า แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าคุณภาพต่างกันหรือไม่ เพราะไม่ทราบว่าใช้ยาชนิดเดียวกันหรือไม่ เป็นยาในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ แต่บอกได้ว่าราคาต่างกันมากจริงๆ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่