xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ล่าชื่อตั้ง คกก.ควบคุมราคา รพ.เอกชน หวั่นราคาแพงเกินจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ล่ารายชื่อคนไทย ร่วมตั้งตั้ง คกก. ควบคุมราคา รพ. เอกชน ชี้ ปชช. มีสิทธิตรวจสอบราคาแพงเกินจริงหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่ ชี้เป็นปัญหาสะสมนาน มีผู้ร้องเรียนมากเรื่องค่ารักษาแพง แต่ไร้หน่วยงานดูแลให้ความช่วยเหลือเป็นธรรม จ่อเสนอ รมว.สธ. เร็วๆ นี้

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมมาก โดยเฉพาะในหมู่คนฐานะปานกลางไปจนถึงร่ำรวย เนื่องจาก รพ. เอกชน แต่ละแห่งมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน อย่างคลอดบุตรก็มีแพกเกจแตกต่างกัน ทั้งคลอดธรรมชาติและผ่าคลอด มีราคาตั้งแต่ 30,000 - 100,000 บาท อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าธุรกิจ เมื่อมีการลงทุนก็ต้องมีการทำกำไร ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจ รพ.เอกชน แต่ประชาชนควรมีสิทธิตรวจสอบว่าราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ หลายคนหายจากโรคแต่ต้องช็อกเพราะค่ารักษาพยาบาล หลายรายต้องผ่อนจ่าย หรือแปลงโฉนดที่ดินไปเป็นค่ารักษา สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสะสมมานาน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดช่วยเหลือได้ เพราะไม่มีหน่วยงานใดที่รับเรื่องร้องเรียนแบบนี้โดยตรง ขณะที่กฎหมายในการเอาผิดยิ่งไม่มี เพราะ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ระบุเพียงให้ รพ. เอกชน แจ้งราคาเท่านั้น

ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้เสียหายฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติจำนวนมาก เกี่ยวกับการคิดค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงของ รพ. เอกชน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบให้ความเป็นธรรมโดยตรง เครือข่ายฯ เห็นว่า หากมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมจะเป็นประโยชน์มาก จึงอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยจะเสนอต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาสถานพยาบาลเอกชน โดยอาจแก้ไข พ.ร.บ. สถานพยาบาล คาดว่าจะเสนอภายในเร็วๆ นี้” นางปรียนันท์ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวว่า สำหรับการรวบรวมรายชื่อ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 1,000 ชื่อ จึงขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจร่วมลงชื่อตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาสถานพยาบาลดังกล่าว โดยเข้าไปได้ที่ http://goo.gl/hiGxKf เพื่อร่วมกันสร้างความเป็นธรรมในการรักษาพยาบาล

พล.อ.ต.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาจะดูในเรื่องมาตรฐานค่าแพทย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละวิชาชีพ โดยค่าแพทย์ ไม่ใช่ค่าตรวจวินิจฉัย และไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล แต่เป็นค่าประจำตัวแพทย์ ตรงนี้แพทยสภามีคู่มือในการทำ แต่ละสาขาวิชาชีพ ความเชี่ยวชาญจะแตกต่างกันไป ล่าสุด แพทยสภาอยู่ระหว่างอัปเดตข้อมูลค่าแพทย์ใหม่ในปี 2558 เพื่อความทันสมัยและถูกต้องยิ่งขึ้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนแจ้งอัตราค่าบริการก่อนให้บริการทุกครั้ง การจะไปควบคุมหรือกำหนดกฎเกณฑ์คงไม่ได้ เพราะสถานพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกหนึ่ง เพียงแต่ต้องแจ้งให้ประชาชนทราบก่อน เพื่อความถูกต้อง และประชาชนสามารถเรียกดูค่ารักษาก่อนได้ แต่หากภาคประชาชนเสนอว่าควรมีการปรับกฎหมายให้ชัดเจนในเรื่องการควบคุมราคาก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และยินดีรับฟัง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น