สปสช. แจงมติบอร์ดตั้งหน่วยงานกลางอัปเดตข้อมูลทะเบียนสิทธิการรักษาของคนไทย ไม่ใช่การตั้งเคลียริงเฮาส์เรียกเก็บเงินจากแต่ละกองทุน ยันไม่มีการตั้งหน่วยงานใหม่ หาตำแหน่งใหม่ให้ “หมอวินัย” ชี้ปรับฐานข้อมูลทะเบียนสิทธิรักษาเป็นระบบเดียว ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน ระบุเร่งขอข้อมูลสิทธิรักษาจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงกรณี พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ โฆษกประชาคมสาธารณสุข ยื่นจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยับยั้งการตั้งเคลียริงเฮาส์ทุกสิทธิการรักษา ตามที่มีมติบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ สปสช. ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะมติบอร์ด สปสช. ไม่ใช่การตั้งเคลียริงเฮาส์ แต่เป็นเรื่อง “การบริหารจัดการระบบทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน” (National beneficiary registration center) เพื่อให้ สปสช. เป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนทุกระบบ เนื่องจากตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้คนไทยทุกคนมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ โดยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองเป็นสิทธิสำหรับคนไทยทุกคนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นที่รัฐจัดให้ สปสช.จึงจำเป็นต้องได้รับข้อมูลจากทุกกองทุนและหน่วยงานว่าใครมีสิทธิใด เพื่อจัดให้ผู้ไม่มีสิทธิอื่นได้รับการลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง
“ปัจจุบันแม้ว่า สปสช. ได้รับข้อมูลสิทธิจากกองทุนอื่น และหน่วยงานรัฐบางแห่ง แต่ยังมีประชาชนที่ได้รับสิทธิซ้ำซ้อน จากการที่ไม่มีฐานข้อมูลสิทธิกลางที่ถูกต้องครบถ้วนของบุคคลทุกสิทธิ จึงมีความไม่สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ หลังจาก สปสช. ทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลกลางรวบรวมการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาทุกระบบ ประชาชนจะได้รับความสะดวกและรับบริการอย่างมั่นใจ ใช้สิทธิได้ถูกต้องจากฐานข้อมูลกลางที่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และยังสามารถเข้ารับสิทธิรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง หาก สปสช. ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานรัฐอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกรณีการเปลี่ยนสิทธิการรักษา ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ซ้ำซ้อนลงได้ หากมีฐานข้อมูลสิทธิที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน ซึ่งหลังบอร์ด สปสช.เห็นชอบ จะนำเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การเสนอจัดตั้งหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการระบบทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน ซึ่งจะมอบให้ สปสช. ดำเนินการ จะทำเฉพาะเรื่องการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือแม้แต่การกำหนดสิทธิประโยชน์ โดยในส่วนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งมี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ในการจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อดำเนินการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขระดับชาติ (National Clearing House)
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่ได้มีการตั้งศูนย์เคลียริงเฮาส์ในการเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากแต่ละกองทุน และไม่ได้มีการตั้งสำนักงานใหม่ เพื่อหาตำแหน่งให้ตนลงหลังจากพ้นวาระเลขาธิการ สปสช. สมัยที่ 2 ตามที่เป็นกระแส โดยมติบอร์ด สปสช. วันที่ 3 เม.ย. เป็นการจัดตั้งหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการระบบทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนให้เป็นปัจจุบันเท่านั้น โดยมอบหมายให้ สปสช.ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ยังขาดในส่วนของรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระต่างๆ ประมาณ 4 - 5 แสนคนเท่านั้นที่ สปสช. ยังไม่รับทราบว่าเป็นใครบ้าง ส่วนสิทธิอื่นนั้นทราบหมดแล้ว ซึ่งจะทำให้เราสามารถอัปเดตได้ว่าสิทธิการรักษาปัจจุบันของประชาชนแต่ละคนคือสิทธิใด พร้อมกันนี้ ได้ประสานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมปรับฐานข้อมูลทะเบียนสิทธิให้เป็นระบบเดียวกัน รวมถึงการทำความเข้าใจกับหน่วยบริการ ซึ่งภายหลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 สถานพยาบาลทุกแห่งจะตรวจสอบข้อมูลสิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบเดียว ไม่แยกตามกองทุนอย่างในปัจจุบัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่