xs
xsm
sm
md
lg

เร่งคัดกรองพ่อแม่เสี่ยงมีลูก “ทาลัสซีเมีย” รุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สปสช.เผยมีผู้ป่วยทาลัสซีเมียสิทธิบัตรทอง ต้องรับเลือดและยาขับเหล็กประจำ 4,000 ราย ระบุให้สิทธิประโยชน์ “ยาขับเหล็ก” ฟรี 7 ปีแล้ว ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากธาตุเหล็กเกิน ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เตรียมเดินหน้าคัดกรองความเสี่ยงคู่สมรสและระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย
แฟ้มภาพ
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า โรคโลหิตจางทาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม คาดว่าประเทศไทยมีผู้ที่เป็นพาหะโรคนี้ประมาณ 24 ล้านคน ความเสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นทาลัสซีเมียชนิดรุนแรงจึงมีสูง โดยข้อมูลจากมูลนิธิโรคโลหิตจางทาลัสซีเมียประมาณการณ์ว่า แต่ละปีจะมีคู่พ่อแม่เสี่ยงมีบุตรทาลัสซีเมียชนิดรุนแรงราว 20,500 คู่ หากไม่มีมาตรการแก้ปัญหาจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 4,900 - 5,000 รายต่อปี ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งตกคนละ 100,000 บาทต่อปี ด้วยเหตุนี้ บอร์ด สปสช.จึงมีนโยบายเน้นการป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วย โดยสนับสนุนให้สถานพยาบาลจัดบริการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทั้งคัดกรอง ตรวจยืนยัน วินิจฉัยทารกในครรภ์ ให้คำปรึกษา และมาตรการแทรกแซงช่วงตั้งครรภ์ โดยร่วมมือกับกรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายเพื่อคัดกรองภาวะความเสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด รวมไปถึงคัดกรองความเสี่ยงในคู่สมรส

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การรับเลือดและยาขับเหล็ก ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 50,000-100,000 บาทต่อปี ซึ่งการที่บอร์ด สปสช.อนุมัติสิทธิประโยชน์ยาขับเหล็กให้ผู้ป่วยทาลัสซีเมียที่มีภาวะแทรกซ้อนจากธาตุเหล็กเกินจากการรับเลือด ตั้งแต่ปี 2551 จึงช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเศรษฐกิจเป็นข้อจำกัด นับเป็นปีที่ 7 แล้วที่ สปสช.ดำเนินการสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยทาลัสซีเมียในสิทธิบัตรทอง 38,700 ราย จำนวนนี้ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องโดยต้องรับเลือดและยาขับเหล็กประจำ 4,000 ราย ถือว่าช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น