xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ส่ง “ทีมหมอครอบครัว” ลดแออัด รพ.ใหญ่ เพิ่มทางเลือกไม่ไป รพ.เอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ชี้ ค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน แพง มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ต้องรอหารือ รับปากดำเนินการเร็วที่สุด เผยพยายามปรับปรุง รพ.รัฐ เน้นเพิ่มศักยภาพ รพ.ชุมชน รพ.สต. พร้อมส่งทีมหมอครอบครัวช่วยดูแล ลดปัยหารอคิว รพ.ใหญ่ ด้าน สปสช. ระบุคุมราคา รพ.เอกชน ไม่ได้ ชี้ รพ.เอกชน เข้าร่วมบัตรทองมี 36 แห่ง แต่ไร้ปัญหาขูดรีดค่ารักษา

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ค่ารักษาพยาบาลมีหลายส่วน ทั้งค่ายา เวชภัณฑ์ หัตการ ค่าแพทย์ ค่าห้อง ค่าอาหาร ซึ่งมีหลายหน่วยงานดูแลแตกต่างกันไป ตรงนี้ขอให้ความมั่นใจต่อประชาชนว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด โดย สธ.จะมีการหารือภายในร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อดูปัญหา และดูว่าใครเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เบื้องต้น สธ. ได้พยายามปรับปรุงระบบบริการใน รพ. ของรัฐ โดยเพิ่มศักยภาพการให้บริการในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิกชุมชนสุขภาพดี เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ ขณะเดียวกัน ก็มีทีมหมอครอบครัวกว่า 30,000 ทีม เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพประชาชนตามบ้านเรือนด้วย นอกจากนี้ ยังมีความพยายามปรับปรุงโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้าได้ทุกที่ ดีทุกสิทธิใหม่ หลังจากที่ออกนโยบายกันมาแล้วแต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ จะต้องมาดูเรื่องการสอดไส้บังคับประชาชนยินยอมจ่ายค่ารักษา รวมถึงกรณีที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกค่ารักษาให้แทนด้วย แต่จะจ่ายให้ตามจริงตามที่ รพ.เอกชนเรียกเก็บหรือไม่นั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะเกี่ยวกับงบประมาณมหาศาล เนื่องนี้มีการหารือกันมาตลอด

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามกฎหมาย สปสช. ไม่สามารถไปกำกับดูแลสถานพยาบาลเอกชนได้ แต่กำหนดให้ดูแลประชาชนคนไทยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองเข้าถึงบริการทุกคน ซึ่งการบริการดังกล่าวจะอยู่ในโรงพยาบาลสังกัด สธ. กว่า 1,000 แห่ง และโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมขึ้นทะเบียนบัตรทอง ซึ่งในส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมมีเพียง 36 แห่ง และล้วนเป็นไปตามความสมัครใจ ที่สำคัญโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมอยู่ในสิทธิบัตรทองจะไม่มีปัญหาเรียกเก็บแพง เนื่องจากมีการกำหนดเงินเหมาจ่ายตายตัว การจะให้ สปสช.มาดูแลหรือควบคุม รพ.เอกชนคงทำไม่ได้ หากจะทำได้จะมีในเรื่องนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ซึ่งหากผู้ป่วยอยู่ในกรณีฉุกเฉิน และ รพ.เอกชนไม่รับรักษา หรือไปเรียกเก็บเงินตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาเป็นกรณีและดำเนินการในโรงพยาบาลนั้นๆ ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกัน

นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับการพัฒนา รพ.รัฐบาล เพื่อยกระดับ และเป็นทางเลือกที่ดีที่บางกลุ่มไม่สามารถใช้บริการ รพ.เอกชนได้นั้น ขณะนี้ รมว.สธ.รับทราบปัญหา และกำลังพัฒนายกระดับการบริการให้ดีขึ้น โดยการผลักดัน “ทีมหมอครอบครัว” เพื่อลดการเข้ารับบริการใน รพ.รัฐ ในเคสที่ไม่รุนแรง ซึ่ง รพ.รัฐ ส่วนใหญ่ที่มีคนไปรอคิวรักษามากๆ จะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ซึ่งเป็น รพ.ขนาดใหญ่ ระดับจังหวัด ดังนั้น ทีมหมอครอบครัวจะเน้นการบริการปฐมภูมิ นอกจากการพัฒนา รพช. และ รพ.สต. แล้ว ยังจัดทีมหมอครอบครัวที่รวมสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด ฯลฯ และยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาคอยดูแลแต่ละครัวเรือน เรียกว่าทุกครอบครัวจะมีหมอประจำของแต่ละครอบครัว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น