xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แนะ DSI แจงเปลี่ยนทีมสอบสลายแดง ชี้คิดผิดให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” จี้สอบสลายแดงตรงไปตรงมา แนะ DSI แจงเหตุเปลี่ยน พนง.สอบสวน หนุนแดงจัดงานรำลึก แต่ไม่แฝงการเมือง ชี้เลิกอัยการศึก ใช้ ม.44 ก้าวเล็กๆสู่ความปกติ เชื่อไม่เบี้ยวโรดแมป ปัดนักการเมืองไม่อยากให้ “บิ๊กตู่” อยู่ยาว ให้ความสำคัญวางรากฐานสังคม ปฏิรูป-รธน.มากกว่า ย้ำวินิจฉัยโรคผิดร่าง รธน.ให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

วันนี้ (9 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีที่มีการไปทวงถามทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรื่องการสลายการชุมนุม 10 เม.ย. 2553 ว่าต้องการให้ทุกอย่างตรงไปตรงมา ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้ชี้แจงว่าที่มีการปรับเปลี่ยนพนักงานสอบสวนอย่างไร เพราะตนเห็นว่ามีการเปลี่ยนทุกครั้ง ซึ่งถ้าพนักงานสอบสวนคนไหนไม่เป็นธรรมหรือมีเหตุผล มีหลักฐานพยานที่บอกว่าการดำเนินการตรงนี้ไม่เป็นธรรมก็สามารถที่จะร้องเรียนได้ เพราะฉะนั้นต้องติดตามจากการทำงานและตนคิดว่าทุกฝ่ายในเรื่องนี้

เมื่อถามว่า มีการสั่งห้ามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการจัดงานรำลึก 5 ปี 10 เม.ย.ของกลุ่ม นปช.นั้นมองว่าอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่ารูปแบบการจัดงานเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นการจัดงานที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าไม่มีประเด็นให้เกิดการรวมตัวทางการเมือง เป็นเพียงการรำลึกหรือเป็นการทำบุญตามปกติตนก็เห็นว่าก็ควรจะจัดได้ แต่ถ้าการทำบุญนี้ไม่ใช่แค่การทำบุญ ผู้ที่ดูอยู่หรือผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องเขาก็อาจจะมีความรู้สึกว่าอาจจะถูกเบี่ยงเบนเป็นเรื่องอื่นก็ได้ ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และตนก็อยากให้ทุกอย่างเป็นธรรมแต่คงจะไปตอบแทนคนที่วินิจฉัยในแต่ละเรื่องไม่ได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการประกาศใช้มาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แทนกฎอัยการศึกว่า ถึงไม่มีกฎอัยการศึกมาตรา 44 ก็มีอยู่แล้ว โดยมาตรา 44 มีหลักเกณฑ์มาออกมา 14 ข้อ เพราะฉะนั้นถามว่าให้เปรียบเทียบกฎอัยการศึกกับมาตรา 44 นั้นต้องถือว่าอำนาจหลายอย่างเจ้าหน้าที่หายไป เพียงแต่ตนแปลกใจว่าใน 14 ข้อนี้เอาประกาศ คสช.ซึ่งบังคับใช้อยู่แล้วมาใส่ด้วย เช่น ห้ามชุมนุม เป็นต้น ทั้งนี้เคยมีความคาดหวังว่าหากยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วบ้านเมืองจะเข้าสู่ภาวะปกติ กระบวนการการจัดการกับคดีความจะกลับเข้าสู่มาตรฐานปกติ แต่คำตอบคือยังไม่ได้เป็นปกติ เพราะอาจจะเป็นเพียงก้าวที่ค่อนข้างจะสั้นๆ เป็นก้าวเล็กๆ ในการที่จะเปลี่ยนแปลงจากกฎอัยการศึกไปสู่ความเป็นปกติ

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงคำทำนายของนายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหรวารินทร์ สำนักสุขิโต ที่ระบุว่ารัฐบาลจะอยู่ยาว 3 ปีว่า ตนไม่มีความรู้เรื่องโหร แต่เห็นผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาปฏิเสธ คิดว่าคงไม่มีใครตั้งใจที่จะมาเบี้ยวกรอบเวลาต่างๆ หรือกรอบที่ตัวเองกำหนดเอง แต่ถ้าเกิดมีความจำเป็นคงต้องหาเหตุผลมาอธิบายกับสังคม และการถกเถียงกันนั้นตนเห็นว่าบางคนที่มาพูดวิจารณ์ มีการมาโจมตีว่านักการเมืองไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ถึง 3-4 ปี อยากบอกว่าจริงๆมันไม่ใช่

“ถ้าไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่าระหว่างอยู่ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี กับสิ่งที่ท่านตั้งใจวางไว้เป็นรากฐาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี การปฏิรูปดี แล้วได้อยู่ยาว กับอยู่ 4 ปี แล้วพอปีที่ 5 บ้านเมืองกลับไปวุ่นวายเหมือนเดิม ท่านจะเลือกแบบไหน ผมเชื่อว่าท่านก็ต้องตอบว่าความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าอยู่นานเท่าไหร่ เพราะท่านคงจะสนใจว่าสิ่งที่ท่านทำแล้วเห็นว่าดีกับประเทศนั้นมันจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการวางรากฐานของสังคมว่า คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว เรื่องการปฏิรูป การร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ สำคัญกว่า” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ยังมองปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญว่ายังอยู่บนสมมติฐานว่า ถ้าพรรคการเมืองอ่อนแอแล้วจะแก้ปัญหาได้นั้นตนคิดว่ามันไม่ใช่ เพราะเมื่อพรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก การตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้นต้องเกิดจากการต่อรอง ตนเป็นห่วงว่าจะกลายเป็นให้อำนาจนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองให้ต่อรองกันมากขึ้น แทนที่จะเป็นการตั้งรัฐบาลบนพื้นฐานของการตัดสินใจของประชาชน สมมติว่าการเลือกแบบนี้ออกแบบระบบโดยไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก แล้วพรรค ก.ได้ 40% พรรค ข. ด้ 40% และ พรรค ค.ได้ 20% แล้วเป็นใคร ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็ไปเพิ่มอำนาจให้รัฐด้วย เช่น การให้รัฐบาลสามารถยื่นคำขาดกับสภาได้ ถ้ารัฐอยากได้กฎหมายนี้แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่อยากได้ ต้องเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยหากรัฐบาลชนะก็จะออกกฎหมายได้ซึ่งห้ามแก้ไข 48 ชั่วโมง ซึ่งถ้ามาตรการนี้ใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วกฎหมายนิรโทษกรรมคงจะผ่านไปแล้ว ตนจึงเป็นห่วงในกรณีที่ว่าหากพรรคการเมืองหรือนักการเมือง อยากจะได้อะไรเพื่อตัวเองจะเป็นปัญหาหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องทำระบบให้ส่งเสริมให้พรรคการเมืองทำหน้าที่ของตัวเองให้ได้

“ระบบตรวจสอบก็จะยากไปด้วย โดยเฉพาะการถอดถอน ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญอาจมองข้ามประเด็นที่เป็นปัญหาในอดีตไปหรือไม่ เพราะอาจกลายเป็นว่าพรรคการเมืองอ่อนแอ แต่รัฐบาลใช้อำนาจได้อย่างค่อนข้างที่จะถูกตรวจสอบได้ยาก ผมมองว่ามันเป็นการวินิจฉัยโรคของปัญหาการเมืองไทยผิด เพราะฉะนั้นมันก็จะมีบางเรื่องที่ก็อาจจะต้องถกเถียงกันต่อไป เช่น การที่ไปจำกัดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะต่อไปนี้จะต้องมีกลไกอะไรขึ้นมาเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะกลไกการตั้งปลัดกระทรวง ที่อาจมีข้อดีตรงที่ทำให้การเข้าไปแทรกแซงได้ยาก แต่ถ้ากระทบกับการทำงาน แล้วในที่สุดคนที่จะต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองจะให้เขาทำอย่างไร” นายอภิสิทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น