เมื่อย่างเข้าวัยชรา ทุกคนจะรู้สึกว่าสมรรถภาพของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายลดลง เช่น สายตาจะมัว สมองจะลืมง่าย และกล้ามเนื้อจะอ่อนแรง เป็นต้น ส่วนโรคภัยต่างๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน และโรคหัวใจก็จะคุกคามมากขึ้น
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังสนใจวิถีชีวิตและจิตใจของคนในวัยโรย เพราะตระหนักว่าโลกทุกวันนี้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ และหวังว่าองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อการครองตนของชนชราในยามถูกทอดทิ้ง และข้อมูลที่ได้อาจชี้นำให้สังคมปัจจุบันตระหนักว่า คนแก่ (บางคน) สามารถทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้บ้าง
งานวิจัยของ T. Hess แห่งมหาวิทยาลัย North Carolina State เมือง Raleigh รัฐ North Carolina สหรัฐอเมริกาที่ปรากฏในวารสาร Journal of Gerontology เมื่อปี 2013 แสดงให้เห็นว่า ในการทดสอบความสามารถด้านการทรงจำของคนชรา ถ้าข้อสอบถามเนื้อหาที่เป็นเชิงสร้างสรรค์ คนชราจะตอบคำถามได้ดี แต่ถ้าเนื้อหาที่ถามเป็นไปในเชิงทำลาย คนชราจะตอบคำถามได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร
งานวิจัยของ Hess ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ชราชนมีความสามารถในการรู้บุคลิกของคนแปลกหน้าได้ดีกว่าคนหนุ่มสาว เช่นว่า เป็นคนที่ฉลาดหรือโง่ โกงหรือซื่อสัตย์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนชรามีประสบการณ์ชีวิตและข้อมูลเกี่ยวกับคนมากกว่าคนหนุ่มสาวนั่นเอง
สำหรับการทดสอบความจำเรื่องราวต่างๆ ในอดีต Hess ได้พบว่า ถ้าเรื่องนั้นๆ เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของคุณท่าน ท่านก็จะจำได้ดี แต่ถ้าไม่เกี่ยวข้องเลย ท่านก็จะลืมเรียบร้อย เช่น ถ้ามีการเล่าเรื่องความยากลำบากในการหางานทำ กับเรื่องซื้อบ้านให้ฟัง ผู้ชราจะจดจำเรื่องบ้านได้ค่อนข้างดี แต่จำเรื่องประสบการณ์หางานทำที่ตนได้ประสบมานานแล้วไม่ค่อยจะได้ ทั้งนี้คงเป็นเพราะสมองของคนชรามีเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลน้อยลงทุกวัน ดังนั้น คนชราจึงต้องเลือกจำเฉพาะข้อมูลในอดีตที่ไม่นานจนเกินไป
ด้าน P. Bass แห่ง Max Planck Institute for Human Development ในเยอรมนีก็ได้พบว่า ความสามารถที่โดดเด่นที่สุดของคนชรา คือ การให้คำแนะนำที่เฉลียวฉลาดในการดำเนินชีวิตต่อบุคคลอื่น เช่น เวลาคนชราให้คำแนะนำแก่เด็กสาวที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร คำตอบของคนชราจะสมเหตุสมผลกว่าคนที่มีวัยน้อยกว่า นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรามักเห็นผู้สูงวัยทำหน้าที่ชี้แนะและแก้ปัญหาหัวใจรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ ทั้งนี้เพราะคนชรามักมีสุขภาพจิตที่มั่นคง และตระหนักในข้อจำกัดต่างๆ ของชีวิตดีกว่าคนหนุ่มสาวที่มักตั้งความคาดหวังจากสังคมมากจนเกินไป
สำหรับเรื่องความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่นั้น คนชรามีความกระตือรือร้นน้อยเพราะคนชรามีชีวิตอนาคตเหลืออยู่อีกไม่มาก ดังนั้น ความสนใจของคนชราจึงมุ่งเป้าไปที่ชีวิตปัจจุบันมากกว่าชีวิตในอนาคต ดังจะเห็นได้จากเวลาให้ถ่ายรูป คนหนุ่มสาวชอบถ่ายภาพของโลกภายนอก แต่คนชราจะสนใจถ่ายภาพของครอบครัว
ในกรณีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตก็ได้มีการพบว่า หนุ่มสาวมักจำเหตุการณ์ร้ายได้ดีกว่าเหตุการณ์ดี แต่คนชราจำเหตุการณ์ดีได้ดีกว่าเหตุการณ์ร้าย ดังที่ L. Carstensen แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐอเมริกาได้พบจากการทดลองกับคนวัย 60-70 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ชราไม่มาก แต่ถ้าเป็นกรณีคนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป สมองส่วน amygdala อาจถูกทำลายไปมากแล้ว ดังนั้น นอกจากคนวัยนี้จะจดจำอะไรไม่ได้แล้ว การควบคุมอารมณ์ก็อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากด้วย
คำถามที่เป็นประเด็นร้อนต่อไปคือ นักวิทยาศาสตร์สามารถชะลอความเสื่อมของสมองคนชราได้หรือไม่ คำตอบก็มีว่า ถ้าคนชราคนนั้นใช้ชีวิตในบรรยากาศที่มีเพื่อนสนิทหรือญาติห้อมล้อม อาการโรคสมองเสื่อมจะมาเยือนช้า ยิ่งถ้าคนชราได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายจะมีภูมิคุ้มต้านทานโรคได้ดี และถ้าได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าด้วย ปัจจัยเหล่านี้จะสามารถเสริมคุณภาพของการมีชีวิตยืนนาน และมีสมองที่มีสุขภาพดีได้
จีนเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังสนใจเรื่องประชากรที่สูงวัย จึงได้สนับสนุนให้การสำรวจสุขสถานะของคนจีนในวัยชราทั้งประเทศ โดยตั้งชื่อโครงการว่า โครงการ CHARLS จากคำเต็มว่า China Health and Retirement Longitudinal Study ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากจีน และอเมริกาโดยได้สัมภาษณ์ คนจีนจำนวนประมาณ 18,000 คน ในครอบครัวกว่า 10,000 ครอบครัว เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนสภาพจากประเทศที่มีพลเมืองวัยหนุ่มสาวไปสู่ประเทศที่มีพลเมืองสูงอายุ รัฐบาลจีนหวังว่า ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถสู้ปัญหาสุขภาพ และปัญหาแรงงานที่กำลังจะเกิดในสังคมจีนในอนาคตได้
ตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้นโยบายอนุญาตให้สตรีมีบุตรได้เพียงคนเดียว และได้ออกเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ แต่ในเวลาเดียวกันนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของจีนที่เกิดขึ้นก็มีผลทำให้การดูแลสุขภาพของประชากรทั้งประเทศในภาพรวมดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนจีนได้เพิ่มขึ้นมาก เมื่อจำนวนเด็กที่เกิดใหม่มีน้อยและคนแก่ที่ตายเริ่มมีมาก นั่นจึงหมายความว่า เด็กจีนหนึ่งคนจะต้องรับผิดชอบดูแลชีวิตของพ่อแม่ และบรรดาญาติๆ ที่สูงวัยหลายคน นี่จะเป็นภาระในอนาคตที่หนักมากสำหรับคนจีนทุกคน เพราะในอดีต เด็กจีนหนึ่งคนจะมีพี่ๆ และน้องๆ ที่ช่วยกันดูแลบิดามารดา แต่ปัจจุบันเด็กจีนมักเป็นลูกโทน ดังนั้น ภาระการดูแลสวัสดิการของญาติผู้ใหญ่ทุกคนจึงตกเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว
ในปี 2010 สถิติการสำรวจได้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า คนจีนที่มีอายุเกิน 60 ปีมีประมาณ 12% ถึงปี 2050 คนจีนวัยชราจะมีมากถึง 34% และนั่นก็หมายความว่า ในอีก 35 ปี คน 1 คนในทุก 3 คนในอีก 35 ปีจะมีอายุเกิน 60 ปี ตัวเลขที่สูงเช่นนี้ได้ทำให้รัฐบาลจีนกังวล
ดังนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ของจีนแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งกับ National Institute on Aging (NIA) ของสหรัฐฯ และ National Science Foundation ของจีน จึงประกาศร่วมมือกันทำงานในโครงการ CHARLS เพื่อสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ การเงิน จิตใจและอารมณ์ของคนจีนตั้งแต่วัยเกษียณจนถึงวัยชรา
การสำรวจนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2011 โดยทีมสัมภาษณ์ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานประมาณ 500 คนซึ่งได้ออกเดินทางไปสัมภาษณ์คนชราทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนเลี้ยงม้าในที่ราบสูงทิเบต คนร่อนเร่พเนจรในทะเลทรายมองโกเลีย หรือคนชั้นสูงที่ชอบอาศัยในเมืองปักกิ่ง ฯลฯ
ในการสัมภาษณ์เบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะถามเรื่องสถานภาพการเงิน และความพึงพอใจในชีวิตทั่วไป จากนั้นก็จะลงมือวัดความดันโลหิต ส่วนสูง น้ำหนักตัว ความอ้วน-ผอม ตรวจสภาพการทำงานของปอด และสภาพทั่วไปของร่างกาย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ก็ยังเก็บตัวอย่างของเลือดเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคของผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วยว่า เป็นโรคโลหิตจาง เบาหวาน และโรคหัวใจ ฯลฯ หรือไม่
ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นภาพที่ค่อนข้าง “น่ากลัว” ของคนจีนที่มีอายุเกิน 60 ปีว่า คนเหล่านี้เกือบ 25% มีฐานะยากจน40% มีอาการของโรคซึมเศร้า กว่า 50% เป็นโรคความดันโลหิตสูง
ข้อมูลสุขภาพที่จัดแบ่งตามเพศของคนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป แสดงว่า
ผู้หญิงจีน 58.6% เป็นโรคความดันโลหิตสูง
และผู้ชายจีน 49.1% เป็นโรคเดียวกัน
ผู้หญิงจีน 31.7% มีน้ำหนักตัวมากเกินปกติ
และผู้ชายจีน 24.3% เป็นโรคเดียวกัน
ผู้หญิงจีน 39.1% มีอาการปวดเมื่อยตามตัว
ผู้ชายจีน 27.5% เป็นโรคเดียวกัน
ผู้หญิงจีน 34.3% มีสุขภาพทั่วไปไม่ดี
ผู้ชายจีน 29.2% เป็นโรคเดียวกัน
ผู้หญิงจีน 27.5% ต้องการความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตประจำวัน
และผู้ชายจีน 19.3% ต้องการความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตประจำวัน
สถิติทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นว่า หญิงจีนในวัยชรามีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าผู้ชาย
ครั้นเมื่อผู้สัมภาษณ์เจาะถามประเด็นเรื่องความสามารถทางสมอง ก็ได้พบว่าสมองผู้หญิงจีนเสื่อมเร็วกว่าสมองผู้ชายจีน ทั้งๆ ที่เมื่ออยู่ในวัย 45-52 ปี ผู้ชายและผู้หญิงจีนมีความสามารถในการเรียน รับรู้ และเข้าใจอะไรต่างๆ ได้ดีพอๆ กัน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความแตกต่างด้านความสามารถก็เริ่มปรากฏ แต่สำหรับประเด็นนี้ คณะวิจัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า คงต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น การกินอาหาร การออกกำลังกาย และการศึกษา เพราะประเด็นเหล่านี้เป็นตัวแปรที่สำคัญ และตามปรกติผู้ชายจีนชอบออกกำลังกาย และได้รับการสนับสนุนให้เรียนสูง แต่ผู้หญิงจีนไม่ได้รับการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมทั้งสองประเภทนี้
คณะวิจัยยังพบอีกว่า ความยากลำบากหนึ่งที่ประสบจากการเสาะหาข้อมูล คือ การอพยพย้ายถิ่นของผู้ถูกสัมภาษณ์จากชนบทเข้าไปอาศัยในเมืองเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การกำหนดกลุ่มประชากรตัวอย่างให้เป็นที่แน่นอนจึงทำได้ยาก นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เรื่องอายุก็อาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะผู้สูงอายุมักจำวันเกิดของตนไม่ได้แม่นยำ สำหรับเรื่องการรักษาสุขภาพนั้น ผู้สูงอายุจีนมักพึ่งพายาจีนแผนโบราณ และบางคนไม่เคยไปหาหมอแผนปัจจุบันเลยในชีวิต ดังนั้นการบอกข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่ตนกำลังเป็นจึงอาจคลาดเคลื่อนจากความจริง อนึ่งเวลาสัมภาษณ์ ถ้าผู้สัมภาษณ์พูดจาคนละภาษากับผู้ถูกสัมภาษณ์ ความเข้าใจผิดอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะจีนเป็นประเทศที่มีภาษาท้องถิ่นมากมาย และประเด็นสุดท้ายที่อาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน คือ ความไม่ไว้วางใจในการให้ข้อมูลส่วนตัว เพราะคนที่ถูกสัมภาษณ์อาจไม่ไว้วางใจคนแปลกหน้าที่มาสัมภาษณ์ กระนั้นในการสำรวจเบื้องต้นนี้ เปอร์เซ็นต์ของคำตอบก็ยังนับว่าสูง เพราะตัวเลขของความร่วมมือ คือ 81%
โครงการ CHARLS ได้มีการวางแผนจะติดตามผลทุกการสัมภาษณ์ 2 ปี และคณะวิจัยมีแผนจะวิเคราะห์ DNA จากเลือดตัวอย่างของผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วย เพื่อใช้ทำนายโรคที่จะเกิดในอนาคตของผู้ถูกสัมภาษณ์
ในขณะที่โครงการนี้ยังไม่ยุติและยังไม่มีผลสรุป ทางรัฐบาลจีนได้ใช้ข้อมูลเบื้องต้นของการสำรวจนี้ ยืดอายุเกษียณของคนจีนออกไป โดยให้ผู้หญิงจีนเกษียณเมื่ออายุ 50 ปี และผู้ชายเมื่ออายุ 60 ปี ซึ่งตัวเลขที่น้อยนี้ได้ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจ
โครงการ CHARLS ยังแสดงให้เห็นอีกว่า คนจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเกษียณเร็ว แต่ชีวิตทำงานของคนชนบทนั้นไม่มีการเกษียณ คือทำจนหมดแรงหรือหมดสภาพ ดังนั้น การยืดเวลาเกษียณของคนจีนจึงเป็นวิธีหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่วนข้อมูลโรคที่คนจีนกำลังจะเป็นในอนาคตนั้นสามารถช่วยรัฐบาลจีนในการวางแผนงบประมาณได้เหมาะสมเมื่อต้องเผชิญปัญหาจริงในอีกไม่นาน
นักประชากรศาสตร์ในจีนคาดการณ์ว่าในอีก 35 ปี ชาวจีนที่มีอายุเกิน 60 ปี จะมีมากกว่า 500 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนหนุ่ม-สาวที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีหลายเท่า เมื่อจำนวนคนชรามีมากเช่นนี้ ปัญหาการดูแลก็จะมีมากตามไปด้วย
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เห็นการณ์ไกลจึงคิดตั้งบริษัทธุรกิจขึ้นมาดูแลคนสูงอายุ แทนที่จะปล่อยให้เป็นภาระความรับผิดชอบของรัฐบาลหรือของครอบครัวโดยลำพัง แต่ก็ติดขัดเรื่องประเพณีและค่านิยมในสังคมจีน เพราะคนจีนทั่วไปคิดว่าศูนย์ดูแลคนชราที่เอกชนหรือรัฐบาลจัดตั้งขึ้น เป็นสถานที่สำหรับคนชราที่ไร้ญาติ หรือสำหรับคนที่ญาติไม่ต้องการรับผิดชอบ ด้านลูกหลานคนใดที่ส่งปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่เข้าศูนย์ สังคมก็มักตัดสินว่าเป็นคนอกตัญญูที่ใครๆ ก็พากันประณาม
แม้ความเชื่อและความคิดของคนจีนจะเป็นไปในทำนองนี้ บริษัทต่างๆ ที่กำลังจะสร้างธุรกิจดูแลคนชราก็ไม่หวั่น เพราะรู้ว่าสังคมยุโรปเมื่อ 40 ปีก่อนก็เคยประสบปัญหาเดียวกันนี้
ทุกวันนี้ผู้หญิงจีนส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำงานแต่เมื่อค่าครองชีพในจีนกำลังเพิ่มตลอดเวลา และผู้คนก็มีความเป็นเอกเทศมากขึ้น ดังนั้น ความคิดของคนในครอบครัวจึงมีแนวโน้มว่านิยมการมีศูนย์ดูแลคนสูงวัยมากขึ้น แต่ศูนย์ดูแลควรมีรูปแบบใดจึงจะดีที่สุดสำหรับทุกคน ทั้งบริษัท รัฐบาล และครอบครัว
แนวคิดหนึ่ง คือ จัดศูนย์ให้มีลักษณะเป็นพื้นที่ให้เช่า และจัดหาความสะดวกสบายด้านการแพทย์ และการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ อีกแบบหนึ่ง คือ จัดแบ่งพื้นที่ในศูนย์เพื่อขายให้คนสูงวัย ในขณะเดียวกันก็จัดห้องออกกำลังกาย และสระว่ายน้ำให้ด้วย เพื่อพักผ่อนแต่ไม่จัดแพทย์หรือพยาบาลให้ดูแลอย่างใกล้ชิด การจัดศูนย์แบบให้เช่านั้นมีกลุ่มเป้าหมายคือพวกที่มีอายุเกิน 80 ปีซึ่งเป็นวัยที่ต้องการเจ้าหน้าที่สุขภาพมาดูแลอย่างใกล้ชิด แต่รูปแบบนี้มีข้อเสียคือ ค่าโสหุ้ยในการดูแลค่อนข้างสูง ดังนั้นคนที่จะมาเช่าพื้นที่ต้องมีฐานะดี และสถานที่ตั้งของศูนย์ควรอยู่ใกล้ครอบครัวของผู้ที่จะมาเช่า หรือไม่ศูนย์ก็ต้องอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลจนเกินไป
ส่วนศูนย์ที่จะจัดแบบแบ่งพื้นที่ขายนั้นก็มีข้อเสียตรงที่คนชรามักไม่นิยมซื้ออะไรเป็นสมบัติส่วนตัวอีกแล้ว นอกจากลูกหลานจะซื้อให้ และคนจีนก็ชอบซื้อมากกว่าเช่า แต่การซื้อพื้นที่ต้องการเงินมาก ดังนั้นรูปแบบการจัดศูนย์ในลักษณะนี้ อาจดำเนินการได้ไม่คุ้มทุน
ด้านรัฐบาลจีนก็สนับสนุนให้บริษัทจีนและบริษัทต่างชาติมาลงทุนสร้างธุรกิจแนวนี้ โดยเสนอการลดหย่อนภาษีให้เพื่อเป็นแรงจูงใจ ด้านบริษัทก็พยายามหาทางลดค่าโสหุ้ย โดยเสนอให้ห้องพักแต่ละห้องอยู่กัน 2 คน สำหรับคนที่มีฐานะปานกลาง ส่วนคนที่มีฐานะดีนั้นมักจ้างคนมาดูแลที่บ้าน แทนที่จะไปพำนักที่ศูนย์คนชรา ดังนั้นคนชราที่ร่ำรวยจะไม่อยู่ที่ศูนย์
ด้วยเหตุนี้การจัดการธุรกิจนี้จึงจำเป็นต้องหาทางออกให้เหมาะสมและดีคือ บริษัทได้กำไร คนชราได้รับการบริการที่ดี ส่วนรัฐบาลก็จำเป็นต้องออกกฎหมายให้ศูนย์มีทั้งการให้บริการด้านการแพทย์ อาหาร และความสะดวกที่เหมาะสม เพราะถ้าไม่มีกฎหมายรับรอง ผู้ประกอบการเถื่อนที่ไม่รับผิดชอบใดๆ จะทำให้ระบบการดูแล สวัสดิการของคนจีนในวัยชรานับล้านคนล้มเหลวอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
อ่านเพิ่มเติมจาก “Placing Elderly Parents in Institutions in Urban China” โดย H.J. Zhan et. al. ใน Research on Aging, Volume 30, Number 5 กันยายน ปี 2008
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์