xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยเตือน "เบาหวาน" ยังทำลายกระดูกด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมธีวิจัย สกว.เตือนเบาหวานมีผลต่อภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก เหตุโครงสร้างคอลลาเจนของกระดูกเสียหาย และเซลล์สร้างกระดูกทำงานได้น้อยลง เบาหวานชนิดที่ 2 ตรวจยากกว่า เพราะเครื่องมือที่ใช้ตรวจความหนาแน่นของกระดูกยังไม่มีความละเอียดมากพอ

ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.สังกัดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก และภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคเบาหวานมีผลข้างเคียงต่อจอประสาทตา ไต และระบบประสาท ตลอดจนแผลเรื้อรังที่เท้า ซึ่งทั้งหมดเกิดจากผลร้ายของเบาหวานที่ทำลายอวัยวะสำคัญของร่างกาย รวมถึงกระดูกซึ่งเป็นโครงสร้างแข็งแรงค้ำจุนร่างกายด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาวงการแพทย์ไม่ได้ตระหนักถึงพิษภัยของเบาหวานต่อกระดูกมากนัก เนื่องจากงานวิจัยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนถึงผลเสียของเบาหวานต่อโครงสร้างของกระดูกได้ แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นจากงานวิจัยที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กอปรกับเทคโนโลยีการวิเคราะห์มวลกระดูกและโครงสร้างของกระดูกที่มีความละเอียดแม่นยำมากขึ้น จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่า เบาหวานทำลายกระดูก ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงอย่างมากแม้ว่าความหนาแน่นของกระดูกอาจไม่ลดลง

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวเสริมว่า เบาหวานเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของฮอร์โมนจากตับอ่อนที่ชื่ออินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด ไม่สูงมากจนเกิดอันตรายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อสำคัญต่างๆ (โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร) ทั้งนี้ เบาหวานแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ เบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากเซลล์ตับอ่อนหลั่งอินซูลินไม่เพียงพอ และชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากเซลล์ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยลงหรือไม่เหมาะสม

"เมื่อเป็นเบาหวานไม่ว่าจะชนิดใด ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงอยู่เป็นเวลานานจนเกิดผลเสียต่อร่างกายรวมถึงกระดูกด้วย นอกจากนี้ยังมีเบาหวานอีกประเภทที่เรียกว่าเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าส่งผลเสียต่อกระดูกหรือไม่เมื่อระดับน้ำตาลสูงในเลือดเป็นเวลานานๆ ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งมักมีอายุน้อย จะตรวจพบความหนาแน่นของกระดูกลดลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและกระดูกหัก ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบความผิดปกติของกระดูก อาจเป็นเพราะเครื่องมือที่ใช้ตรวจความหนาแน่นของกระดูกยังไม่มีความละเอียดมากพอ" ศ.ดร.นพ.นรัตถพลระบุ

ศ.ดร.นพ.นรัตถพล แจงเพิ่มเติมมีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายที่ตรวจพบว่ามีความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มขึ้น แต่ที่จริงน้ำตาลที่อยู่ในเลือดกลับทำลายโครงสร้างคอลลาเจนของกระดูกอย่างช้าๆ ทำให้กระดูกแตกหักได้ง่ายขึ้น ทนต่อแรงกระทบกระแทกได้น้อยลง ดังนั้น เบาหวานชนิดที่ 2 จึงทำลายกระดูกเช่นเดียวกับเบาหวานชนิดที่ 1 เพียงแต่ตรวจพบได้ยากกว่าเท่านั้น เนื่องจากเครื่องมือมาตรฐานทั่วไปในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนตรวจได้แต่เฉพาะความหนาแน่นและปริมาณแร่ธาตุในกระดูก แต่ไม่สามารถตรวจวัดคุณสมบัติเชิงกล เช่น ความแข็ง ความยืดหยุ่น หรือคุณภาพของคอลลาเจนในกระดูก เป็นต้น

"นอกจากนี้ในผู้ป่วยสูงอายุเพศหญิง ซึ่งมักจะมีโรคกระดูกพรุนที่เกิดขึ้นหลังหมดประจำเดือนอยู่แล้ว ทำให้แยกผลของเบาหวานต่อกระดูกได้ยากขึ้นไปอีก ไม่เพียงแต่โครงสร้างคอลลาเจนของกระดูกเท่านั้นที่เสียหายจากเบาหวาน การวิเคราะห์โครงสร้างทางจุลภาคของกระดูกด้วยเทคนิคการถ่ายภาพความละเอียดสูง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยังพบว่าเซลล์สร้างกระดูกที่เรียกว่า “ออสติโอบลาสต์” ของสัตว์ทดลองที่เป็นเบาหวานทำงานได้น้อยลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดี และอีกส่วนเกิดจากความเป็นพิษของน้ำตาลที่สูงในเลือดเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังพบว่าออสติโอคลาสต์ทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายสุดจะเร่งให้สลายกระดูกมากขึ้น มวลกระดูกจึงลดลงทำให้มีกระดูกหักหรือกระดูกพรุนตามมาได้” ศ.ดร.นพ.นรัตถพลกล่าว

นักวิจัย สกว.แนะนำผู้ป่วยเบาหวานในการรักษาสุขภาพเพื่อชะลอความเสื่อมของกระดูกให้ช้าที่สุด คือต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งทำได้โดยการควบคุมอาหาร ไม่รับประทานอาหารที่หวานจัด ลดอาหารที่มีไขมันหรือแป้งในปริมาณมาก ร่วมกับการใช้ยาควบคุมเบาหวาน รวมถึงรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมและผลิตภัณฑ์จากนม อาทิ โยเกิร์ตที่ไม่ปรุงหวาน เป็นประจำ เนื่องจากมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าเบาหวานทำให้เซลล์เยื่อบุผิวทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ จนทำให้การดูดซึมแคลเซียมด้อยประสิทธิภาพลง ส่วนการรับประทานยาเม็ดเสริมแคลเซียม ควรปรึกษาแพทย์เรื่องข้อบ่งชี้และปริมาณแคลเซียมที่ต้องรับประทานก่อน

นอกจากนี้การออกกำลังกายก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยชะลอการลดลงของมวลกระดูกได้ เนื่องจากช่วยกระตุ้นให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานได้ดีขึ้น แต่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหมหรือกระทบกระแทกต่อโครงสร้างของกระดูกและข้อมากเกินไป เช่น การวิ่งขึ้นลงบันได หรือการยกน้ำหนัก เป็นต้น ซึ่งการป้องกันโรคกระดูกพรุนเป็นวิธีที่ดีกว่าการรักษา โดยต้องทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุน้อยๆ อย่างรับประทานอาหารแคลเซียมสูง เล่นกีฬากลางแจ้ง รวมถึงลดปัจจัยที่อาจทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น การรับประทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การสูบบุหรี่ เป็นต้น เพื่อให้กระดูกมีสุขภาพดีตั้งแต่วัยเด็กจนสูงอายุ






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น