xs
xsm
sm
md
lg

ชูศักยภาพ “กราวเครือขาว” ลดกระดูกพรุน-เชื่อมกระดูกผู้สูงวัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สารสกัดจากกวาวเครือขาวในรูปแคปซูล
จุฬาฯ ชูศักยภาพ “กราวเครือขาว” ลดกระดูกพรุน-เชื่อมกระดูกผู้สูงวัย หลังทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนให้สารออกฤทธิ์ได้เหมือนกราวเครือในธรรมชาติ ทดลองพบลดการทำงานของเซลล์ละลายกระดูก และช่วยให้กระดูกเชื่อมต่อเร็วขึ้น เบื้องต้นทดลองได้ผลในหนูและลิง ตั้งเป้าทดลองต่อในคนให้ได้ผลเป็นยาป้องกันกระดูกพรุนจากสมุนไพรไทย

รศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงความคืบหน้าของการพัฒนายาต้นแบบจากสมุนไพรในการป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ โดยระบุว่าทีมวิจัยให้ความสนใจใน “กวาวเครือขาว” เพราะนอกจากให้สารสำคัญที่ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนแล้ว ยังมีสารสำคัญในปริมาณมาก

สำหรับการพัฒนายาต้นแบบจากกวาวเครือขาวนี้มี 4 งานวิจัยย่อยที่เกี่ยวข้อง คือ งานวิจัยหาสารสกัดหรือตัวยาใหม่ งานวิจัยทดสอบสารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรต่อการเปลี่ยนสภาพเซลล์สลายยกระดูก งานวิจัยทดสอบสารออกฤทธิ์ในสัตว์ทดลอง และงานวิจัยเพื่อเพิ่มอัตราการดูดซึมยาที่ดีขึ้น

ผศ.ดร.อภิชาติ กาญจนทัต จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า ปกติกวาวเครือขาวที่จะให้สารออกฤทธิ์สำคัญได้ต้องมีอายุ 3 ปีขึ้นไป และเนื่องจากเป็นพืชป่าทำให้กวาวเครือขาวที่นำมาปลูกให้สารสำคัญที่แตกต่างจากไปธรรมชาติ จึงได้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อทดสอบว่ากวาวเครือขาวจะให้สารสำคัญเหมือนหัวกวาวเครือขาวในธรรมชาติหรือไม่ และผลจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพียง 10 เดือนได้กวาวเครือขาวที่ให้สารสำคัญเทียบเท่ากวาวเครือขาวอายุ 3 ปี

ด้าน ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงงานวิจัยในการทดสอบสารออกฤทธิ์จากกวาวเครือขาวต่อการเปลี่ยนสภาพเซลล์สลายกระดูก พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์สลายกระดูกได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงฤทธิ์ในการต่อกระดูกหัก เนื่องจากผู้สูงอายุทุกคนจะมีปัญหาโรคกระดูกพรุน ทำให้กระดูกบาง เมื่อล้มจะหักง่าย และผลจากการทดสอบในลิงโดยการเจาะกระดูกบริเวณเชิงกรานของลิงที่หมดประจำเดือน แล้วให้สารออกฤทธิ์จากกวาวเครือขาว พบว่าลิงที่ได้สารออกฤทธิ์สร้างเนื้อกระดูกได้ดีกว่าลิงที่ไม่ได้รับ

สำหรับสารสำคัญในกวาวเครือขาวที่ช่วยยับยั้งเซลล์สลายกระดูกคือ “พูราริน” ซึ่งทีมวิจัยได้ส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ รศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สมาชิกทีมวิจัย เพื่อพัฒนารูปแบบยาที่ดูดซึมได้ดีขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุยังมีปัญหาเรื่องการดูดซึมยาได้น้อยลงหรือบางครั้งดูดซึมยาเกินความจำเป็น

รศ.ดร.นงนุชได้พัฒนายาโดยนำไปเคลือบไคโตซานเพื่อป้องกันยาถูกทำลายจากน้ำย่อยในกระเพาะ และทยอยปลดปล่อยตัวยาในลำไส้ โดยตั้งเป้าผลิตยาสำหรับกินละครั้งเพื่อป้องกันผู้สูงอายุลืมรับประทานยาระหว่างมื้อ ซึ่งพบว่าลำไส้สามารถดูดซึมตัวยาได้เกือบ 100%

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยตั้งความหวังว่าจะได้รับทุนวิจัยเพื่อศึกษาผลการออกฤทธิ์ของสารสำคัญนี้ในคนต่อไป โดยจะทดสอบในเซลล์มนุษย์ก่อน หากได้ผลการทดสอบเหมือนในสัตว์ทดลองก็จะทดสอบในคนต่อไป  เพื่อนำไปสู่การพัฒนายาจากสมุนไพรที่พบได้เฉพาะในไทยและมีราคาถูก

 
รศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น