xs
xsm
sm
md
lg

"ไดโนป้อง" ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์คอยาวหนึ่งเดียวในอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุยวิทย์สะกิดใจ : ชี(วิทย์)วิต ตอนที่ 2

หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่า “ประเทศไทยเป็นผู้นำงานวิจัยไดโนเสาร์ของอาเซียน ทวีปเอเซียไทยเป็นรองแค่จีน แถมนำญี่ปุ่นนิดๆ” ที่น่าทึ่งกว่า คือ มีนักวิจัยไทยไม่ถึง 10 คน ที่แบ่งกันศึกษาฟอสซิลของ พืช จระเข้ เจ่า ปลา ฉลามฯลฯ แต่ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ในไทยมีแค่ 4 คน หรือมีนักวิจัยไดโนเสาร์ 1 คน ต่อประชากรไทย 16 ล้านคน!

“การศึกษาไดโนเสาร์ไทยมันเป็นความท้าทายนะ บ้านเราฟอสซิลไดโนเสาร์เจอง่ายกว่าที่อื่นเยอะ ปกติที่ชาวบ้านมาแจ้งก็เจอตามลำธาร ในไร่ในนา เนินดินหลังบ้านอะไรแบบนั้น เอาง่ายๆ ถ้าเทียบกับทำหนังบ้านเรานี่เจ๋งระดับฮอลลิวูดนะ ไม่ใช่หนังเกรดบี ในเอเชียการศึกษาและจำนวนฟอสซิลไดโนเสาร์เราเป็นน้องๆ จีน แต่ถ้าเทียบกันต่อตารางเมตรบ้านเรามีเยอะมาก ตอนนี้ลาว เวียดนาม เค้าก็เริ่มศึกษาจริงจัง อย่างมาเลเซียพึ่งเจอฟันไดโนเสาร์สไปโนซอรัสซี่เดียว เค้าเอาจริง ส่งผู้เชี่ยวชาญมาไทยเป็นคณะเลย ถือว่าเราติด 1 ใน 10 ของโลก ดู GDP นี่เราแพ้หลุดรุ่ย แต่ไดโนเสาร์เราเจ๋ง เจ๋งแบบไม่ต้องตกแต่งข้อมูล"

คำบอกเล่าเคล้าเสียงหัวเราะของนักวิจัยไดโนเสาร์หนุ่มอายุสามสิบนิดๆ ทำเอานายปรี๊ดต้องอมยิ้มตามไปด้วย “ไดโนป้อง” หรือ “ดร. สุรเวช สุธีธร” ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์กินพืชคอยาว หรือ "ซอโรพอด" เพียงหนึ่งเดียวในอาเซียน

“ตอนแรกเด็กๆ นี่กลัวไดโนเสาร์นะ (หัวเราะ) ตอนไปดูนิทรรศการนี่ร้องไห้เลย แต่พอเข้าโรงเรียนเพื่อนก็เรียกไดโนป้องๆ เพราะบรรพบุรุษเราเป็นไดโนเสาร์” ไดโนป้องเล่ายิ้มๆ เพราะเค้า คือ ลูกไม้ใต้ต้นของ ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้บุกเบิกงานวิจัยไดโนเสาร์ในประเทศไทย แม้จะเติบโตมากับกองฟอสซิลไดโนเสาร์ ตามพ่อไปขุดไดโนเสาร์ทั่วประเทศ แต่สมัยปริญญาตรีกลับเลือกเรียนด้านนิเวศวิทยาสัตว์ป่า จนพึ่งตัดสินใจจริงจังกับไดโนเสาร์ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง

ไดโนป้องศึกษาฟอสซิลของซอโรพอด 2 ชนิด คือ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน และ อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ ด้วยเหตุผลที่ว่าไดโนเสาร์คอยาวมีเสน่ห์ พวกมันมีรูปร่างที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดช่วงเวลา 150 ล้านปี กระบวนการที่ทำร่างกายใหญ่โตขนาดนั้นอยู่รอดได้จึงน่าค้นหา และตอนนี้ไดโนป้องพึ่งขุดพบฟอสซิลเจ้าคอยาวอีกหลายชิ้น ซึ่งคาดว่า น่าจะจำแนกได้ 2-3 ชนิด และน่าจะเป็นไดโนเสาร์ไทยชนิดใหม่ของโลก

“คนไทยขุดไดโนเสาร์ไปทำไม?” เป็นคำถามสำคัญที่แม้แต่นายปรี๊ดเองก็ยังสงสัย ไดโนป้องขยายความว่า งานวิจัยไดโนเสาร์ไม่ใช่งานวิจัย “ขึ้นหิ้ง” เพราะ “ไดโนเสาร์มันขายได้” การพบซากไดโนเสาร์จึงมักจะถูกขยายผลนำไปสู่เศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน หากองค์กรท้องถิ่นรับลูกได้ถูกทิศถูกทาง และคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างจริงจัง

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ภูกุ่มข้าว อ.สหัสขัณธ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่ในอดีตเป็นพื้นที่รกร้างที่ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากการสร้างเขื่อน ตั้งอยู่นอกเส้นทางสัญจรหลัก จนมีคนแซวว่าเป็น “อำเภอสาหัสสากัน” แต่เมื่อค้นพบฟอสซิล ภูเวียงโกซอรัส และมีความร่วมมือจากชุมชน ความพร้อมหลายๆ ด้านทำให้แหล่งขุดค้น ถูกพัฒนาเป็น “พิพิธภัณธ์ธรรมชาติวิทยาสิรินธร” มีคนเข้าชมเฉลี่ยเดือนละกว่าแสนคน ทำให้เศรษฐกิจของอำเภอดีขึ้น ถนนดี ไฟฟ้าสว่าง การค้าคึกคัก ห่างไกลจากความกันดารในอดีตอย่างลิบลับ

รร.สหสขัณธ์ศึกษามีชมรมไดโนเสาร์ส่งต่อความรู้จากพี่สู่น้อง ผ่านการฝึก ยุวมัคคุเทศน์ไดโนเสาร์ พาคนเดินชมพิพิธภัณฑ์ มีท่ารำไดโนเสาร์เป็นเอกลักษณ์ชุมชน ททท.ขอนแก่นก็ช่วยโปรโมทเส้นทางไดโนเสาร์ เชื่อมโยงแหล่งศึกษาเข้าด้วยกัน เป็นทัวร์ยอดนิยมแบบครอบครัว

"ตอนนี้พิพิธภัณฑ์ในบ้านเราถือว่าทันสมัยมาก เป็นรองญี่ปุ่นนิดหน่อย ส่วนของจีนแม้จะมีฟอสซิลจำนวนมาก แต่การจัดพิพิธภัณฑ์นั้นยังเป็นแบบโชว์ของเก่า ซึ่งก็น่าเสียดายว่าในไทยมีแหล่งขุดค้นอีกหลายแห่งที่มีฟอสซิลสมบูรณ์มาก องค์กรระดับท้องถิ่นขนงบมาลงทุนสร้างตึก สร้างอาคาร แต่ชุมชนไม่ค่อยได้มีส่วนร่วม สุดท้ายจึงเหลือแต่ซากหินซากปูนรกร้าง"

นายปรี๊ดยิงคำถามต่อ “แล้วคนในท้องถิ่น เห็นคุณค่าของไดโนเสาร์ขนาดไหน?” ไดโนป้องอมยิ้มตอบว่า “แค่สื่อสารให้เค้ารู้ว่าเค้ามีไดโนเสาร์ชนิดไหน หน้าตายังไงอยู่ใกล้ๆ บ้านเค้าสำเร็จก็โอเคละ...ที่เหลือก็ต้องค่อยๆ สื่อสาร ให้เค้าเห็นว่าที่ขุดๆ กันนี่ไม่ใช่แค่กองหิน นี่คือสมบัติชาติ เป็นหลักฐานวิวัฒนาการ ถ้าช่วยกันจัดการให้ดี ช่วยกันดูแลไม่ให้คนมาแอบขุดไปขาย ซึ่งจะมีความสำคัญต่อชุมชนด้วย”

หน้าที่ของนักวิจัยไดโนเสาร์จึงไม่ใช่แค่การขุดฟอสซิลไปวันๆ แต่ต้องหาวิธีขายไอเดีย หากลไลการสื่อสาร เพื่อพัฒนาต้นทุนเชิงสังคม ไปด้วย ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาทำ เดินสายไปตามโรงเรียนรอบแหล่งขุดค้น เพื่อเล่าเรื่องราวของไดโนเสาร์ที่นอนนิ่งอยู่ใกล้บ้านของเด็กๆ ทำค่ายไดโนเสาร์สำหรับครู และนักเรียนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสิรินธรปีละ 200-300 คน และเริ่มโครงการ “ค่ายอาสาล่าฝันตามหายักษ์ใหญ่ในตำนาน” รับอาสาสมัคร ทุกเพศทุกวัย อายุระหว่าง 6-35 ปี ครั้งละ 5-7 วัน สามารถผลิตชุมชนคนล่าฝันแบบเข้มข้นปีละ 40-50 คน เพื่อเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ฟอสซิล

“พอทำค่ายอาสาล่าฝันฯ ก็ทำให้รู้ว่า มีคนบ้าไดโนเสาร์เต็มไปหมด รู้จักชื่อทุกตัว ยิ่งเด็กๆ สมัยนี้อ่านหนังสือเยอะ คลั่งไดโนเสาร์ระดับแฟนพันธุ์แท้ ส่วนผู้ใหญ่ก็บอกว่า เป็นความฝันที่หายไป อยากมาตามหาฝันอีกครั้ง แต่เอาเข้าจริงๆ แนวโน้มคนเรียนต่อด้านบรรพชีวินน้อยมาก เราเคยมี MOU ให้เด็กใน ร.ร. รอบแหล่งขุดค้นมาเรียนต่อโดยเฉพาะ แต่เด็กเก่งๆ เค้าก็อยากทำงานด้านอื่น มีคนหนึ่งเป็นหัวหน้าชมรมไดโนเสาร์เป็นยุวมัคกุเทศน์ เก่งมาก แต่พอหันมาชีวิตจริง ทุกคนก็ยังมองไม่ชัดว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์คืออะไร ยิ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ขุดไดโนเสาร์ นี่มันคืออะไรกัน? จบมาจะมีงานทำไหม?”

“เดี๋ยวนี้วงการวิทยาศาสตร์ มองไดโนเสาร์เหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไป อยากรู้อายุ ก็เอากระดูกขาไปหั่นทำสไลด์ดูช่วงอายุ ยิ่งถ้าเจอเป็นโขลงๆ อย่างไซต์หนึ่งที่กาฬสินธุ์ เจอแต่ภูเวียงตัวเด็กๆ นอนตายด้วยกันหลายตัว ก็กำลังศึกษากันว่า อาจจะเป็นพื้นที่อนุบาลของตัวอ่อน อายุ 2-3 ปี มีพี่เลี้ยงดูแล เหมือนพฤติกรรมช้างในปัจจุบัน ในอเมริกาใต้ก็เจอพื้นที่แบบนี้เหมือนกัน”

"ทางออกสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่หัวใจรักไดโนเสาร์ คือจะชอบอะไรก็มาทำวิจัยไดโนเสาร์ได้ นักขุดไดโนเสาร์ยุคนี้ ต้องเป็นนักเทคโนโลยีด้วย แต่บ้านเรายังขาดทุกด้าน ทั้งนักวาดภาพ นักสร้างต้นแบบสามมิติ นิติเวช สัตวแพทย์ เศรษฐศาสตร์ชุมชน วิศวกร สถาปนิก คณิตศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงรูปร่างผ่านกาลเวลา แม้แต่การใช้ลำแสงซิงโครตรอน และเครื่อง CT Scan เพื่อวิเคราะห์ฟอสซิล ก็ยังขาดคนพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ในการถ่ายภาพ จึงมีช่องว่างอีกมากมากรอคนที่สนใจได้เข้ามาล่าฝันยักษ์ใหญ่ในแบบของตนเอง"

ไดโนป้องทิ้งทายอย่างอารมณ์ดีว่า “ใครอยากทำอะไรมาทำเลย อยากรู้ต้องมาลอง โทรมาที่ศูนย์ฯ ได้ ถ้าว่างก็ไปลงหลุมกัน คนเรามันต้อง Learning by doing เพราะชีวิตจริงไม่เหมือนในหนัง เราต้องการความรู้หลากหลาย แม้แต่ความสนใจส่วนตัวก็ต้องปรับใช้โน่นนี่ให้เดินหน้าได้ ไม่งั้นก็สูญพันธุ์กันพอดี ใช่ไหม?”





เกี่ยวกับผู้เขียน

“ปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ” เจ้าของนามปากกาว่า “นายปรี๊ด” เป็นนักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์หลากหลาย เช่น งานเขียนบทความ งานแปลสารคดี ทำสื่อของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ และนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากเรื่องใกล้ตัว









กำลังโหลดความคิดเห็น