นักวิจัย สกว.ชี้ภาวะเครียดทางอารมณ์เรื้อรังในสังคมปัจจุบันจะยับยั้งการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ส่งผลให้มวลกระดูกลดลงจนนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุน พร้อมเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาคลายเครียดหรือยาคลายกังวล หากจำเป็นควรมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และควบคุมการจ่ายยา
ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สังกัดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก และภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาวะเครียดทางอารมณ์เรื้อรังของคนในสังคมปัจจุบันทั้งในเมืองและชนบท ส่งผลให้มวลกระดูกลดลงและเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนได้
"สังคมเมืองเป็นสังคมยุคใหม่มาพร้อมความทันสมัยสะดวกสบาย แต่ความเครียดทางอารมณ์ทั้งจากหน้าที่ความรับผิดชอบ ความคาดหวังที่สูงขึ้นและสภาพเศรษฐกิจ แทรกซึมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มากน้อยตามการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม ไม่เว้นแม้สังคมในชนบท โดยมีปัจจัยกระตุ้นที่หลากหลาย อาทิ ความเจ็บป่วยทางกายจากโรคเรื้อรัง ตลอดจนสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งพิษภัยของความเครียดเรื้อรังจะนำชักนำให้เกิดโรคทางกาย เช่น โรคกระเพาะ และความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคทางจิตใจ เช่น วิตกกังวลและซึมเศร้า แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือความเครียดทำให้กระดูกพรุนได้เช่นกัน" ศ.ดร.นพ.นรัตถพลระบุ
ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.นรัตถพลอธิบายว่า โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงภายหลังหมดประจำเดือน ในช่วงแรกมักไม่แสดงอาการจึงดูเหมือนกระดูกแข็งแรงเช่นคนปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปีอาจเกิดกระดูกหักอย่างไม่คาดคิดแม้จากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีกระดูกต้นขาหักจำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถเดินได้ดังเดิม ซึ่งส่งผลต่อทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัวในระยะยาว
"ก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความเครียดเรื้อรังทำให้เกิดภาวะกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน หรือเสริมให้โรคกระดูกพรุนที่เป็นอยู่ก่อนแล้วรุนแรงขึ้นได้หรือไม่และอย่างไร เดิมเชื่อกันว่า ความเครียดทำให้ต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนชื่อ “คอร์ติซอล” ซึ่งกระตุ้นให้กระดูกสลายแคลเซียมต่อเนื่อง จนทำให้มวลกระดูกลดลง" ศ.ดร.นพ.นรัตถพลกล่าว
จากงานวิจัยในหลายประเทศและงานวิจัยของ ศ.ดร.นพ.นรัตถพลที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ได้แสดงแนวคิดใหม่ว่า ระบบประสาทส่วนกลางทั้งสมองและไขสันหลัง ส่งเส้นประสาทมาควบคุมการทำงานของกระดูกโดยตรง โดยเซลล์สร้างกระดูกที่เรียกว่า “ออสติโอบลาสต์” ตอบสนองต่อสารเคมีจากปลายประสาทที่มาเลี้ยง แต่ผลที่ได้จะสร้างกระดูกเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีที่ปล่อยออกมาและตัวรับของสารเคมีนั้นๆ ที่อยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์
"ความเครียดที่มีต้นกำเนิดจากสมอง รวมถึงโรคของจิตใจที่สัมพันธ์กับความเครียด เช่น โรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวลอย่างรุนแรง กระตุ้นให้ปลายประสาทที่ควบคุมเซลล์สร้างกระดูกหลั่งสารเคมีหลายชนิด เช่น นอร์อิพิเนฟรินและเซโรโทนิน ซึ่งล้วนยับยั้งการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก แต่กลับเพิ่มการทำงานของเซลล์ออสติโอคลาสต์ ซึ่งทำหน้าที่สลายกระดูก ผลลัพธ์คือ มวลกระดูกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและสุดท้ายอาจนำไปสู่ภาวะกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน หรือทำให้กระดูกพรุนที่เป็นอยู่แล้วรุนแรงขึ้น" ศ.ดร.นพ.นรัตถพลกล่าว
เมธีวิจัยอาวุโส สกว.กล่าวว่า เพื่อชะลอการลดลงของมวลกระดูกให้ช้าที่สุด ควรการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารแคลเซียมสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม ล้วนช่วยให้สุขภาพกระดูกสมบูรณ์แข็งแรง ขณะที่การเคลื่อนไหวร่างกายเพิ่มขึ้น เช่น เดิน วิ่ง หรือขี่จักรยาน และการเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกได้ดียิ่งขึ้นโดยตรงแล้ว ยังช่วยลดความเครียดความกังวล ส่งผลดีทางอ้อมต่อกระดูกด้วย
นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ.นรัตถพลแนะด้วยว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคลายเครียดหรือยาคลายกังวลเพื่อหวังเพียงผลเรื่องสุขภาพของกระดูก เนื่องจากมีงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ยาคลายเครียดทั่วไปไม่ช่วยให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้น การใช้ยาคลายเครียดหรือคลายกังวล จึงควรมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และควบคุมการจ่ายยาโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพราะการลดความเครียดและความวิตกกังวลสามารถทำได้โดยอาศัยปรัชญาที่เป็นสากล เช่น ทางสายกลางและความพอเพียง จะส่งผลให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นในระยะยาว
*******************************