แล้งแค่ไหนก็อยู่ได้ "บ้านคำปลาหลาย" ชุมชนตายแล้วเกิดใหม่ที่ขอนแก่น ฟื้นดินแดนปลูกมันสำปะหลังร้อนแห้งแล้งคนอพยพหนี ให้มีน้ำใช้ตลอดปี ด้วยสระดักธารน้ำธรรมชาติและคลองซอย สู่ดินแดนดอกไม้พวงมาลัยใช้น้ำน้อยสร้างรายได้เดือนละ 4 หมื่น
"บ้านผมแล้ง แล้งจนหนุ่มๆ สาวๆ หนีไปทำงานกรุงเทพหมด เหลือแต่ผู้เฒ่าผู้แก่เลี้ยงหลาน เพราะมันปลูกอะไรไม่ได้ ปลูกได้แต่มันสำปะหลังเล็กๆ น้อย ที่ไหนเขาน้ำท่วมกัน ที่นี่ก็ไม่เคยมี อย่างเก่งแค่พอชื้นให้ชื่นใจก็หายากแล้ว" นายหนูไทย วันปรีดา ผู้ใหญ่บ้านบ้านคำปลาหลาย หมู่ที่ 9 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
นายหนูไทยเล่าระหว่างพาเดินชมสระเก็บกักน้ำที่อยู่ถัดไปจากคันนาแปลงเกษตรว่า พื้นที่ใน จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมใน อ.อุบลรัตน์ ประสบกับภาวะภัยแล้งมานานนับสิบปี เนื่องจากเป็นพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้ความที่หมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์เพียงไม่กี่กิโลเมตรไร้ความหมาย เพราะชาวบ้านต้องอาศัยน้ำจากบ่อบาดาลสำหรับอุปโภคบริโภคและทำประปาหมู่บ้านไว้เพียงแค่พอใช้ประทังชีวิต
นอกจากบ่อบาดาลที่หน่วยงานราชการขุดดำเนินการไว้ให้ บ้านคำปลาหลาย ยังมีแหล่งน้ำอีกแหล่ง ซึ่งนายหนูไทยระบุว่า เป็นร่องน้ำเล็กๆ จากธรรมชาติที่หลากลงมาจากภูเขาตลอดปี มากบ้างน้อยบ้างตามฤดูกาลที่จะไหลผ่านหมู่บ้านในช่วงสั้นๆ ก่อนจะไหลต่อไปยังพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าอย่างรวดเร็ว
"ร่องน้ำจากเขามันมีมานานแล้ว หน้าน้ำมากน้ำจะเยอะมากแต่ก็หมดเร็วเช่นกัน ผมจึงมีแนวคิดว่าคงจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้น้ำอยู่กับเรานานๆ เพราะพื้นที่ของบ้านเราก็แล้งเหลือเกิน จึงขอความช่วยเหลือไปยังมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ว่าอยากทำสระเก็บน้ำ มูลนิธิฯ ก็มาลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำ"
ผ่านการสำรวจแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งเก็บกักน้ำชุมชนร่วมกับชาวบ้ายโดยใช้เครื่องมือระบุพิกัด (GPS), แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ, แผนที่ดาวเทียม และผังน้ำชุมชน เพื่อออกแบบสระเก็บกักน้ำ และระบบเติมน้ำ ทั้งยังให้ทุนสร้างสระเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านบาทโดยให้ชาวบ้านเป็นผู้จัดสรรดำเนินการเอง นายหนูไทย เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ลุถึงปี 2554 สระดักธารน้ำธรรมชาติขนาด กว้าง 62 เมตร ยาว 82 เมตรและลึก 3.5 เมตร ซึ่งเป็นบ่อคอนกรีตมีทางน้ำไหลและประตูระบายน้ำพร้อมสำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำทางการเกษตรและอุปโภคบริโภคจึงเสร็จสิ้น ก่อนจะขยายไปยังบ่อน้ำการเกษตร บ่อประปาหมู่บ้านอีก 4 บ่อและคลองเก็บน้ำรอบๆ ชุมชน ที่จะได้รับน้ำจากสระแม่ผ่านประตูระบายน้ำและท่อพีวีซีซึ่งฝังไว้ใต้ดิน ทำให้ดินในบริเวณดังกล่าวกลับมามีความชุ่มชื้นอีกครั้ง และที่สำคัญคือทำให้ประชาชนในพื้นที่กว่า 67 หลังคาเรือนกว่า 323 ชีวิตมีน้ำกินน้ำตามที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ยังมีการประชุมหารือเพื่อปรับปรุงแนวคิดเรื่องการผลิตหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จนชาวบ้านในละแวกหันมาปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อยหมุนเวียนกับมันสำปะหลังที่ปลูกเป็นประจำ เช่น มะลิ ดาวเรือง ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย มะนาว ถั่ว ข้าวโพด พริกขี้หนู สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำไว้เลี้ยงครอบครัว
แม่คำนาง ศรีสะอาด ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า พื้นที่บ้านคำปลาหลายแห้งแล้งมากจนปลูกมันสำปะหลังได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งราคาขายก็ต่ำและใช้เวลาปลูกนาน เมื่อได้เดินทางไปศึกษาดูงานยังพื้นที่อื่น แล้วเห็นว่ามีการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยก็อยากนำมาลองกับพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยสวนของเธอจะปลูกสารพัดดอกไม้ในพวงมาลัยเช่น มะลิ ดาวเรือง ดอกรัก ที่ปลูกเพียง 3 เดือนก็มีผลผลิตออกขายได้ ก่อนจะจัดเป็นชุดๆ แล้วนำไปขายที่ตลาดสร้างรายได้ต่อเดือนมากถึง 30,000-40,000 บาท
"บ้านเราน้ำน้อย เราเลยต้องหาปลูกพวกดอกไม้ที่ใช้น้ำน้อย ไม่มีเหตุผลที่จะต้องดันทุรัง เราแค่ต้องปรับตัว สำหรับมะลิเราจะรดน้ำด้วยสปริงเกอร์ทุกๆ 2 วัน ดาวเรืองก็เช่นกันรดด้วยบัววันเว้นวัน ประมาณ 3 เดือนก็เก็บขายได้ น้ำที่รดเราก็สูบมาจากบ่อเก็บของหมู่บ้าน แล้วข้างๆ สวนก็มีบ่อเก็บน้ำอีกบ่อหนึ่งด้วย ง่าย เงินดี มีความสุข ไม่ยุ่งยากเหมือนปลูกข้าว" แม่คำนางเผยด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
มากไปกว่าน้ำที่มีให้คนในหมู่บ้านใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคได้อย่างไม่เดือดร้อน นายหนูไทยยังเผยด้วยว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือลูกหลานในพื้นที่กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน และดำเนินชีวิตเกษตรกรอย่างมีความสุข เพราะเมื่อดินดีมีความชื้นปลูกอะไรก็ได้ผลดี ซึ่งภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนแก่อย่างเขาปรารถนาอยากเห็นมากที่สุด
"ผมภูมิใจมากที่หน้าแล้งแต่เรามีน้ำ แสดงว่าเราจัดการบริหารมันได้ เพราะต่อให้มีน้ำ มีฝนเยอะแค่ไหนไม่รู้จักเก็บมันก็หมดอยู่ดี และสภาพที่อยู่เรามันแล้งจะให้อุดมสมบูรณ์ทันตาคงเป็นไปไม่ได้หรอก ที่ทำได้คงเป็นการรับมือแบบที่เราทำอยู่ ซึ่งวันนี้ผมว่าเราประสบความสำเร็จแล้วเพราะผมได้ลูกหลานกลับมา แค่มีน้ำก็มีความสุข" นายหนูไทยกล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ท้ายสุด ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ กรรมการและรองเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ชุมชนบ้านห้วยปลาหลายเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำชี ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำแล้งด้วยการสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำและการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ยังต้องพัฒนาต่อยอดและปรับปรุงโครงสร้างน้ำพื้นฐานอีกบางประการ ซึ่งมูลนิธิฯได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการวางแผนการจัดการนัำร่วมกับชุมชนมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน