รีไซเคิลแล้วไปไหน ? รีไซเคิลต้องทำอย่างไร ? ทำแบบไหนคือรีไซเคิล ?.. คำถามนี้น่าจะเคยอยู่ในใจของใครหลายคนโดยเฉพาะภาวะที่ขยะเริ่มส่อเค้าล้นเมือง เพื่อขยายช่องทางการรีไซเคิลให้เข้าถึงชีวิตประจำวันของคนเมืองได้มากขึ้น “คนรับซื้อขยะคนหนึ่ง” จึงตั้งใจพัฒนา “เครื่องรับซื้อขวดพลาสติกอัตโนมัติ” ที่มีมานานในเมืองนอกแต่เป็นครั้งแรกในเมืองไทยขึ้นด้วยตัวเอง แต่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ทำงานด้วยระบบไหน? SuperSci จะพาไปพิสูจน์
SuperSci สัปดาห์นี้พาทุกคนมาชมนวัตกรรมสุดเจ๋งอย่าง “เครื่องรับซื้อขวดอัตโนมัติ” ฝีมือคนไทย ที่นำมาจัดแสดงและได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมากในงาน Startup Thailand 2016 งานรวมรวมนวัตกรรมและบริการด้านเทคโนโลยีล้ำๆ จากผู้ประกอบการหน้าใหม่ครั้งแรกของไทย ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ณ ศุนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กรุงเทพฯ
นายอนน เชาวนกุล ผู้บริหารบริษัท ซอฟต์อินเตอร์ เชียงราย จำกัด กล่าวว่า เครื่องรับซื้อขวดเพ็ทอัตโนมัติ หรือPET BOTTLE ที่นำมาจัดแสดงเป็นเครื่องสำหรับรับซื้อขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วแบบอัตโนมัติ คล้ายระบบเติมเงินโทรศัพท์มือถือที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยระบบจะทำงานผ่านการอ่านบาร์โค้ดที่ติดอยู่กับฉลากของขวด เพื่อวิเคราะห์น้ำหนัก แยกประเภทขวด และตีราคาเงิน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ประมวลผล ให้หน่วยงานที่นำไปจัดตั้ง สามารถบริหารการจ่ายเงินให้แก่ผู้ใช้ต่อไปได้
นายอนน เผยว่า เครื่องรับซื้อขวดอัตโนมัติ ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ของโลก แต่ใหม่สำหรับคนไทย เพราะแนวความคิดของการพัฒนาเครื่องดังกล่าวมาจากการบอกเล่าประสบการณ์การดูงานที่ประเทศเยอรมนี ของเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งที่รู้จักกันกับเขา เพราะนายอนนเป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการธุรกิจการกำจัดขยะแบบครบวงจรมาหลายปี ด้วยวิสัยทัศน์ที่เห็นว่าขยะเท่ากับประโยชน์ และเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดไป แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจมาเขาจึงหาแนวทางในการรีไซเคิลใหม่ๆ อยู่ตลอดจนเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องรับซื้อขวดอัตโนมัติที่ออกแบบ วิจัยและลงมือทำด้วยคนไทยทุกขั้นตอน
“ผมเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อม เลยสนใจธุรกิจด้านการกำจัดขยะ หรือจะเรียกว่าเป็นคนรับซื้อขยะก็ได้ ผมเห็นสภาพว่าทุกวันนี้คนเข้าใจเรื่องรีไซเคิลมากขึ้น แต่ก็เข้าใจว่าระบบขยะของเรามันยังไม่เอื้อ บางทีทิ้งขยะแยกถังแต่สุดท้ายก็ทิ้งรวมกัน มากสุดคือไม่รู้ว่ารีไซเคิลแล้วไปไหน ทั้งๆที่ใจก็อยากจะช่วยสิ่งแวดล้อม ผมเลยมองว่าเจ้าเครื่องนี้น่าจะเป็นช่องทางใหม่ที่จะทำให้การรีไซเคิลมันตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น แต่กว่าจะสำเร็จได้ก็ลำบากพอสมควรเพราะไม่มีความรู้ด้านกลไกอะไรเลยมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะเท่านั้น จึงต้องอาศัยผู้รู้มากมาย เช่นด้านเทคนิคก็ต้องไปหาอาจารย์ที่เทคนิคอุบลฯ ด้านซอฟต์แวร์ก็ต้องไปหาโปรแกรมเมอร์เก่งๆ แล้วก็พัฒนาลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนเป็นเครื่องหน้าตาแบบนี้ ที่แม้จะไม่รู้ว่าพอวางไปนานๆ จะประสบความสำเร็จไหมแต่ก็ดีกว่าไม่มีใครทำ” นายอนน กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ด้านนายสันทนพล เอื้อรุ่งเรือง นักพัฒนาระบบ บริษัท ซอฟต์อินเตอร์ เชียงราย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติเครื่องว่า เครื่องรับซื้อขวดอัตโนมัติรุ่นนี้ จะรับซื้อเฉพาะขวด PET อย่างเดียว โดยจะรับขวดได้ตั้งแต่ขนาดเล็ก 600 มิลลิลิตร ไปจนถึงขวดขนาดใหญ่ขนาด 2 ลิตร โดยมีข้อแม้ว่าภายในขวดจะต้องไม่มีน้ำ และบนขวดยังต้องมีฉลาก เพราะการรับขวดเข้าเครื่อง จะต้องผ่านการคัดกรองจากระบบเสียก่อนว่าขวดนั้นเป็นพลาสติกประเภทใด มีน้ำหนักเท่าใดจากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในบาร์โค้ด ซึ่งผู้ใช้หรือผู้ที่เป็นเจ้าของเครื่องก็ใช้ข้อมูลส่วนนี้ในการคำนวณเงินได้ต่อขวดสำหรับจ่ายสมาชิกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ขวดน้ำเนสเลย์เปล่าปกติหนัก 15 กรัม ถ้ามีน้ำหนักมากกว่านั้นแปลว่าผู้ซื้อดื่มน้ำไม่หมดเครื่องจะไม่รับเข้าระบบ แต่ถ้ามีน้ำหนักเป็นไปตามเงื่อนไขระบบจะรับแล้วจัดเก็บลงสายพานที่เชื่อมต่อเข้าสู่ถุงจัดเก็บด้านใน โดยขวดน้ำ 1 ขวดเล็กเช่นนี้ คิดเป็นเงินสะสมได้ 20 สตางค์
ส่วนการรับเงิน สันทนพล กล่าวว่า สมาชิกจะยังไม่ได้เงินในทันที แต่ระบบคืนเงินซึ่งเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาจะทำการสะสมแต้มไว้ให้ในบัญชีผู้ใช้ ซึ่งการกำหนดรอบรับเงินเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับเจ้าของตู้ ซึ่งอาจเป็นธนาคารขยะของหน่วยงานต่างๆ ที่นำตู้ไปตั้ง เช่น ต้องสะสมขวดขนาดเล็กให้ครบ 500 ขวด หรือขวดขนาดใหญ่จำนวน 100 ขวดก่อนจึงจะนำไปขึ้นเงินกับธนาคารขยะเป็นเงิน 100 บาทได้ เป็นต้น การนำตู้ในลักษณะนี้ไปใช้จึงเหมาะกับหน่วยงาน หรือองค์กรที่มีโครงการธนาคารขยะอยู่แล้ว เช่น มหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาล
“ตอนนี้เครื่องยังไม่ถือว่าอยู่ในเชิงพาณิชย์ กำลังอยู่ในขั้นวางแผนการตลาดจึงมีวางให้ทดลองใช้ในไม่กี่สถานที่ของ จ.อุบลราชธานี เพราะเครื่องนี้ผลิตและประกอบทั้งหมดที่ จ .อุบลราชธานี ใน 1 รอบของการจัดเก็บจะรับขวดน้ำได้ประมาณ 500 ขวด ซึ่งในอนาคตอาจเพิ่มฟังก์ชันบีบอัดเข้าไปเพื่อเพิ่มพื้นที่การรับขวดน้ำให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวเพื่อจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน ส.ค. มีทั้งการจำหน่ายตรงและการให้เช่าซึ่งผู้บริหารได้ตั้งราคาไว้คร่าวๆ ที่ระบบละ 1 แสนบาท โดยหลังจากนี้ก็คาดว่าจะมีการใช้นำร่องอย่างจริงจังมากขึ้นใน จ.อุบลราชธานี ประมาณ 10 เครื่อง โดยจะเริ่มที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีการดำเนินงานธนาคารขยะอยู่แล้ว” สันทนพล กล่าวทิ้งท้าย