xs
xsm
sm
md
lg

ใช้หลักทึบแสงสร้างเครื่องวัดฝุ่นละอองราคาประหยัด ช่วยชาวเหนือระวังภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแสวง กาวิชัย พนักงานโครงการวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในยามที่ทั้งเมืองถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการมีเทคโนโลยีล้ำๆ ที่ช่วยระบุได้ว่าค่าฝุ่นละอองที่เห็นนั้นเลวร้ายไปถึงเพียงไหน นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงประดิษฐ์เครื่องวัดค่าฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอนชนิดแสดงผลทันที ที่นอกจากจะอึด ถึก ใช้ง่าย ประสิทธิภาพดีเทียบเท่าของต่างประเทศแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าถึง 4 เท่า

ในกิจกรรมเผยแพร่ผลงานวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นในโครงการ ประเทศไทยไร้หมอกควัน ที่จัดขึ้นโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ห้องประชุมฝ้ายคำ มช. เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีและงานวิจัยเกี่ยวกับหมอกควันที่น่าสนใจมาร่วมจัดแสดงหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือ เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอนแบบแสดงผลทันที ที่พัฒนาขึ้นโดยคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายแสวง กาวิชัย พนักงานโครงการวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาด10 ไมครอนแบบแสดงผลทันทีนี้ เป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของ ผศ.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ และ ผศ.ศุภชัย ชัยสวัสดิ์ โดยมี ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโสเป็นหัวหน้าโครงการที่ต้องการสร้างเครื่องวัดฝุ่นละอองขึ้นมาสำหรับนำไปใช้ในพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากเครื่องวัดปริมาณฝุ่นขนาด10 ไมครอนเครื่องปกติซึ่งมีใช้อยู่แล้วนั้น เป็นเครื่องของกรมควบคุมมลพิษซึ่งมีราคาแพง ทำให้มีติดตั้งเพียง 2 แห่งเท่านั้นใน จ.เชียงใหม่ คือที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและศาลากลางจังหวัด

นายแสวง กล่าวว่า เบื้องต้นนักวิจัยยังไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับการสร้างเครื่องฯ เพราะเป็นบุคลากรทางด้านสายงานแพทย์แต่มีใจรักด้านงานวิศวกรรม แต่ก่อนหน้านั้น วช.ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 4 แสนบาทเพื่อจัดซื้อเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอนแบบแสดงผลทันทีจากสหรัฐฯ จำนวน 1 เครื่องเข้ามา เพื่อใช้งานกับการวิจัยฝุ่นควันในพื้นที่รอบนอกที่มีอัตราการเผามาก เช่น อำเภอแม่แจ่ม, อมก๋อย และเชียงดาว นักวิจัยจึงค่อยๆ ถอดแบบการทำงานของเครื่องที่มีนำมาผนวกกับวิธีที่คิดขึ้นเองจนได้เป็นเครื่องวัดฝุ่นละอองที่สามารถคัดกรองและตรวจนับจำนวนฝุ่นได้เช่นเดียวกับเครื่องที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ในราคาเพียง 1 แสนบาทซึ่งก็ได้รับเงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช.ด้วย

สำหรับการทำงาน นายแสวง เผยว่า เครื่องวัดฝุ่นละอองที่ทำขึ้นจะใช้หลักการง่ายๆ เริ่มต้นจากพัดลมดูดอากาศขนาดเล็ก ที่จะดูดฝุ่นละอองเข้ามายังหัวคัดฝุ่นขนาด 10 ไมครอนที่ภายในบรรจุกระดาษกรองชนิดพิเศษ เมื่อฝุ่นขนาดต่างๆ ลอยเข้ามาภายในส่วนของหัวคัดจะทำให้ความสว่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้เลนส์วัดความเข้มแสงอ่านค่าได้เปลี่ยนไปจากภาวะปกติ จากนั้นระบบคอใมพิวเตอร์ภายในจะประมวลค่าความทึบแสงที่อ่านได้จากเลนส์และแปลงผลเป็นค่าฝุ่นละอองเพื่อแสดงผลบนหน้าจอขนาดใหญ่ต่อไป ซึ่งนอกจากจะรายงานผลได้เป็นค่าตัวเลขที่แม่นยำแล้ว นักวิจัยยังตั้งค่าให้ระบบเตือนภาวะหมอกควัรนเป็นปุ่มไฟสีได้ด้วย กล่าวคือ ปุ่มไฟสีเขียวเป็นค่าฝุ่นละอองปกติ ปุ่มไฟสีเหลืองคือค่าฝุ่นละอองมาก และปุ่มไฟสีแดงคือค่าฝุ่นละอองสูงเกินปกติ ที่แสดงว่าในขณะนั้นมีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“หน้าตาเครื่องของเราจะดูง่ายๆ แบ่งเป็น 2ส่วนคือส่วนลำหัวคัดฝุ่นที่ทำจากท่อประปา และส่วนแสดงผลที่เป็นหน้าจอดิสเพลย์ขนาดใหญ่ ส่วนของหัวคัดจะมีหน้าตาเป็นทรงกระบอกยาว ที่ด้านปลายติดพัดลมดูดอากาศ คล้ายๆ พัดลมระบายความร้อนคอมพิวเตอร์ติดอยู่ เพื่อนำฝุ่นเข้ามา ทั้งขนาดเล็กใหญ่ เมื่อดูดฝุ่นได้แล้ว ฝุ่นจะเข้าไปในลำท่อนั้นทำให้ท่อมันมืดดำฟุ้งไปหมด ลักษณะเช่นเดียวกับทัศนวิสัยตอนฝุ่นควันในอากาศลงมากๆ ทำให้การมองเห็นไม่ดี ซึ่งหลักการที่ฝุ่นไปบดบังการเดินทางของแสง หรือที่เรียกว่าทำให้เกิดการทึบแสงนี่เอง ที่ทำให้เลนส์สามารถอ่านค่าและส่งข้อมูลไปยังระบบคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลเป็นตัวเลขปริมาณฝุ่นละอองได้ และนอกจากปริมาณฝุ่นละอองแล้ว เราก็ยังมีข้อมูลของอุณหภูมิและความชื้นควบคู่กันบนจอแสดงผลด้วย เพราะเป็นข้อมูลที่นักวิจัยต้องใช้คู่กันสำหรับงานวิจัยและการประเมินสถานการณ์ โดยตั้งแต่เริ่มทำจนถึงขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปีและได้รับการยอมรับแล้วว่าข้อมูลที่ได้จากเครื่องมีความแม่นยำและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถผลิตออกขายในเชิงพาณิชย์ได้เพราะยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศ” นายแสวง กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ดี นอกจากวิธีใช้เลนส์อ่านค่าความทึบแสงที่ฝุ่นกระทำแล้ว นายแสวงเผยว่า ยังมีวิธีอื่นๆ อีกที่ใช้กับการประดิษฐ์เครื่องวัดค่าฝุ่นละอองได้ ทั้งการฉายรังสีบีต้า เพื่อวัดขนาดเม็ดฝุ่น ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างแม่นยำ มีค่าพารามิเตอร์หลากหลายมาก และนิยมใช้ในหน่วยงานขนาดใหญ่ แต่ไม่เหมาะกับการใช้ในพื้นที่เสี่ยง เพราะตัวเครื่องมีขนาดเทอะทะและมีราคาประมาณ 10 ล้าน ส่วนอีกหลักการซึ่งสหรัฐฯ นิยมใช้เป็นการทำงานด้วยหลักการยิงรังสีเอ็กซ์ใส่เม็ดฝุ่น (light sketter) เพื่อนับจำนวนเม็ดฝุ่นแล้วนำไปประมวลผลเป็นค่าปริมาณต่อหน่วยเพื่อมาวัดค่า

“แม้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นนี้จะไม่ใช่ของใหม่ แต่นี่คือฝีมือคนไทย ที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้เฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันในชุมชนแบบที่รัฐไม่ต้องเพิ่มงบประมาณมากจนเกินความจำเป็น ส่วนพารามิเตอร์ที่วัดได้เพียงปริมาณฝุ่น ความชื้นและอุณหภูมิ ซึ่งอาจจะมองว่าน้อยไปหรือไม่เมื่อเทียบกับเครื่องของต่างประเทศที่วัดได้ทั้งปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ หรือดัชนีคุณภาพอากาศต่างๆ อันนั้นเป็นเรื่องจริง แต่พารามิเตอร์ 3 ตัวนี้เราพิจารณามาแล้วว่าเหมาะสมกับการใช้ในพื้นที่ ส่วนพารามิเตอร์ที่ละเอียดขนาดนั้นทางการก็มีใช้อยู่ในส่วนกลาง เราจึงยังไม่มีแผนพัฒนาเพิ่ม แต่กำลังมองหาเงินทุนเพื่อผลิตเครื่องที่ 2 และ 3 ตามมาจะได้นำลงไปใช้ในพื้นที่จริงเสียที ” นายแสวง กล่าวทิ้งท้าย
ครื่องวัดฝุ่นละอองขนาด10 ไมครอนแบบแสดงผลผลงานจากนักวิจัย มช.
เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองจากสหรัฐฯ ที่ วช. สนับสนุนการซื้อสำหรับงานวิจัย
ฝุ่นขนาด 10 ไมครอนเมื่อส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์
กระดาษกรองฝุ่นขนาด 10 ไมครอนที่บรรจุอยู่ภายในหัวคัดฝุ่น
ระบบคอมพิวเตอร์ภายใน









กำลังโหลดความคิดเห็น