พูดถึง "เพรียงทราย" หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดตัวยึกยือสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำคงน่าจะนึกออกกันบ้าง เพราะเพรียงทรายถือเป็นอาหารยอดประโยชน์ที่เกษตรกรนิยมใช้เป็น "ยาโด๊ป" ให้กับสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวงการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่แทบจะกลายเป็นอาหารหลักแบบขาดไปเสียมิได้
นายกฤษฎา สุขเจริญ นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (ศวพก.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในแวดวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากการจำลองสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยของสัตว์ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของอาหาร โดยเฉพาะอาหารของสัตว์น้ำพ่อแม่พันธุ์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะมีผลต่อปริมาณไข่และความแข็งแรงของตัวอ่อน
ในฐานะที่ ศวพก. เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้ สวทช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีหน้าที่หลักในการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำปลอดเชื้อเป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องมีการวิจัยเพื่อพัฒนาอาหารปลอดเชื้อสำหรับกุ้งกุลาดำขึ้นเอง ซึ่งจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ กฤษฎา เผยว่าเริ่มจาก ศ.ดร.นพ.บุญเสริม วิทยชำนาญกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และพันธุศาสตร์ของกุ้งกุลาดำได้เดินทางไปยังจ.ภูเก็ต และเห็นกรรมวิธีการล่อและจับเพรียงทรายของชาวบ้านขึ้นจากทะเล จึงมีแนวคิดที่จะวิจัยเพื่อเลี้ยงเพรียงทะเลขึ้นเองตั้งแต่ปี 2546 โดยช่วงแรกสุดได้นำเทคโนโลยีของบริษัท ซีพี จำกัด (มหาชน) มาปรับปรุงใช้ และพัฒนาพร้อมเก็บข้อมูลการเพาะเลี้ยงเรื่อยๆ จนเกิดเป็นเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงของตัวเอง
นอกจากจะผลิตได้ในปริมาณมากแล้ว กฤษดา เผยว่า การเพาะเลี้ยงเพรียงทรายเองในระบบยังทำให้เกิดความมั่นด้านความสะอาด มากกว่าการซื้อเพรียงจับจากธรรมชาติมาใช้ เพราะปกติเพรียงทรายจะกินซากพืชซากสัตว์เป็นอาหารซึ่งตรวจสอบย้อนกลับได้ยากหากพบการติดเชื้อ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยประหยัดรายจ่ายเพราะการผลิตเพรียงปลอดเชื้อขายในเชิงพาณิชย์ขณะนี้มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 800-900 บาท เพราะขั้นตอนการเลี้ยงมีความซับซ้อนและในตัวเพรียงมีคุณค่าทางอาหารและกรดไขมันจำเป็น ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการกระตุ้นให้แม่กุ้งออกไข่ได้คราวละมากๆ โดยกุ้ง 100 กรัมจะมีความต้องการเพรียงประมาณ 20 กรัม หรือคิดเป็น 20%ของน้ำหนักตัว
สำหรับวิธีการเลี้ยง กฤษฎา เผยว่า จะเริ่มจากการสรรหาพ่อแม่พันธุ์เพรียงทรายก่อน โดยผู้เชี่ยวชาญจะเดินไปตามบ่อซีเมนต์เลี้ยงเพรียงเพื่อสำรวจดูว่า มีเพรียงตัวใดบ้างที่มีความสมบูรณ์และอยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสม เพราะเพรียงทรายตัวเต็มวัยจะมีลักษณะพิเศษกว่าระยะอื่น ตรงที่มีการเปลี่ยนรูปร่างและผุดขึ้นมาอยู่บนผิวทราย
เมื่อผู้เชี่ยวชาญเจอตัวพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสม ขั้นตอนต่อมาคือการนำเพรียงพ่อแม่ประมาณ 20 คู่มาใส่ในบ่อพลาสติกขนาด 150 ลิตรที่ภายในบรรจุน้ำทะเลอยู่เพื่อให้เกิดการผสมกันตามธรรมชาติ โดยตัวผู้จะแสดงพฤติกรรมระบำวิวาห์ (natial dance) เพื่อหลอกล่อให้ตัวเมียปล่อยไข่ออกมา จากนั้นตัวผู้จะปล่อยอสุจิ และให้กระแสน้ำพัดพาทำให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกและฟักเป็นไข่หลังจากปฏิสนธิสมบูรณ์แล้วใน 3 วัน โดยแม่เพรียง 1 กรัมจะให้ไข่ได้มากถึง 80,000 ฟอง แต่ไข่ทั้งหมดจะมีโอกาสได้ปฏิสนธิประมาณ 60% และมีโอกาสฟักเป็นตัวเพียงแค่ประมาณ 16-20%
กฤษฎา กล่าวต่อไปว่า เมื่อได้ตัวอ่อนระยะเนคโทคีท (Nectochete) ที่มี 3 ปล้องแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการสำรวจความแข็งแรงของตัวอ่อน ด้วยการสุ่มนับใต้กล้องจุลทรรศน์ว่าตัวอ่อนมีความแข็งแรงสมบูรณ์ดี แล้วจึงปล่อยลงสู่บ่อทรายที่บรรจุน้ำทะเลความเข้มข้น 30 ppt.โดยหมั่นเปลี่ยนน้ำและให้อาหารกุ้งอัดเม็ดปลอดเชื้อเป็นอาหาน เป็นเวลาประมาณ 4 เดือนจึงเริ่มจับให้กุ้งกินได้ ส่วนเพรียงที่จะเตรียมไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะเลี้ยงไปจนมีอายุ 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ ศวพก.มีกำลังการผลิตพ่อแม่เพรียงทรายอยู่ที่ประมาณ 1,500 กิโลกรัมต่อปี
อย่างไรก็ดีแม้การดำเนินงานเพาะเลี้ยงจะดูค่อนข้างประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังคงมีปัญหาอุปสรรคในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เพราะเพรียงทรายอาศัยและซ่อนตัวอยู่ในทรายยากแก่การสังเกต การเก็บเกี่ยวเพรียงในช่วงแรกจึงหนีไม่พ้นมือแรงงานที่จะค่อยๆหยิบเพรียงออกจากทรายทีละตัว ที่นอกจากจะล่าช้าและยังทำให้เกิดทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงานแล้ว ยังเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนแบบได้ไม่คุ้มเสีย
เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการเก็บเพรียง ศวพก.จึงร่วมมือกับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการประดิษฐ์เครื่องมือเก็บเกี่ยวเพรียงทรายในลักษณะการร่อนแบบไม้กระดกผ่านรูตะแกรง ซึ่งจะช่วยแยกเพรียงทรายออกจากทรายได้เร็วยิ่งขึ้นประมาณ 3 กิโลกรัมต่อการร่อน 1 ชั่วโมงจากเดิมที่ใช้มือหยิบ 1 วันแยกเพรียงได้ไม่ถึง 1 กิโลกรัม และที่สำคัญสิ่งประดิษฐ์นี้ยังลดการบอบช้ำและการตายของเพรียงได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับการทำงานของเครื่องเก็บเกี่ยวเพรียงทราย กฤษฎา อธิบายว่า ขั้นตอนแรกต้องเตรียมเครื่องจักรให้พร้อม โดยนำน้ำทะเลใส่ภาชนะรองรับทราย ซึ่งผู้ใช้จะต้อบเตรียมขนาดของตะแกรงร่อนทรายที่จะใช้กับทรายแต่ละชนิด ส่วนขั้นตอนการเก็บเกี่ยวเพรียงทราย จะเริ่มจากถ่ายน้ำออกจากบ่อเลี้ยงเพรียงที่ต้องการเก็บเกี่ยวผลผลิต จากนั้นจึงตักทรายที่มีเพรียงทรายปนอยู่ออกจากบ่อเลี้ยง ใส่ลงไปในเครื่องจักร เปิดสวิตช์ และรอเวลาให้เพรียงถูกร่อนแยกออกจากทราย นำไปล้างน้ำให้สะอาดอีกครั้งแล้วจึงนำไปเป็นอาหารแก่กุ้งได้
สำหรับประสิทธิภาพของเครื่องเก็บเกี่ยวเพรียงทราย กฤษฎา เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ค่อนข้างพอใจกับสมรรถนะของเครื่องเพราะนอกจากจะใช้งานได้ดีแล้ว ยังเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งถ้ามีผู้ประกอบการรายใดสนใจขอซื้อลิขสิทธิ์นำไปใช้ หรืออยากร่วมวิจัยต่อยอดก็ยินดี ส่วนในอนาคตจะเน้นการวิจัยเพื่อลดความสูญเสียของลูกเพรียงวัยอ่อนให้มีโอกาสรอดมากขึ้น เพราะแม้แม่เพรียงจะออกไข่ได้ถึงคราวละ 80,000 ฟอง แต่กลับมี 20% ของทั้งหมดเท่านั้นที่มีชีวิตรอด